xs
xsm
sm
md
lg

ดึงผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ทำโมเดลคณิตศาสตร์การระบาดหวัดใหญ่ 2009 สร้างแนวทางรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.เดเรค คัมมิงส์
ดึงผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ให้คำแนะนำ ทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์การระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 เพื่อหามาตรการรับมือที่เหมาะสม หลังเคยร่วมมือทำแบบจำลองการระบาดไข้หวัดนกสำเร็จเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา พร้อมเผยแนวคิดตั้งหน่วยงานหลักศึกษาโรคระบาดโดยตรง

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อคาดการณ์และรับมือเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.52 ณ อาคาร สวทช.(โยธี) โดย ดร.เดเรค คัมมิงส์ (Dr.Derek Cummings) จากมหาวิทยาลัยจอห์นสฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) สหรัฐฯ ซึ่งเคยร่วมงานกับไทย ในการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์การระบาดของไข้หวัดนกเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย

ทั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญจากไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว อาทิ ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล นายกสมาคมไวรัสวิทยา, ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน, ดร.นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร สำนักระบาดวิทยา, พร้อมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ รศ.ดร.วรรณพงศ์ เตรียมโพธิ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์, ผศ.ดร.จารุวรรณ พันธจารุนิธิ สถาบันพัฒนาสาธารณสุขอาเซียน และ ดร.วิรัชดา ปานงาม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นต้น

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมด้วยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้เข้าฟังสรุปและซักถาม ดร.คัมมิงส์และคณะผู้เชี่ยวชาญไทย

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 3 โดยผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ ได้เทียบเคียงการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ กับแบบจำลองการระบาดของไข้หวัดนก โดยมีเป้าหมายในการสร้างแบบจำลองเพื่อทำนายว่ามาตรการต่างๆ นั้นป้องกันการระบาดได้ผลมากน้อยแค่ไหน

ดร.คัมมิงส์กล่าวว่า เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้น ต้องทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง อาทิ การปิดโรงเรียน งดอยู่ในที่ชุมชน หรือการทำงานอยู่ที่บ้าน เป็นต้น แต่มาตรการต่างๆ เหล่านี้ หากทำมากเกินไปก็ส่งผลเสีย และหากทำน้อยเกินไป ก็จะควบคุมการระบาดของโรคไม่ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลที่มากขึ้น

ทั้งนี้แบบจำลองจะบอกได้ว่าเมื่อมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจำนวนคนติดเชื้อจะเป็นอย่างไร และมาตรการใดต้องทำแค่ไหนในเวลาใดจึงจะเหมาะที่สุด

สำหรับข้อมูลหลักๆ ที่ต้องการ เพื่อสร้างแบบจำลองได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสว่ามีความร้ายแรงแค่ไหน มีอัตราการติดเชื้อเป็นอย่างไร การติดเชื้อในรูปแบบไหนที่มีบทบาทมากกว่ากัน เช่น การในติดเชื้อในโรงเรียน มากกว่าการติดเชื้อในบ้านหรือไม่ เป็นต้น ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนในการพัฒนาแบบจำลองนั้น ดร.คัมมิงส์กล่าวว่าตอบได้ยาก เนื่องจากข้อมูลมีการเปลี่นยแปลงไปเรื่อยๆ และงานนี้เป็นงานที่ต่อเนื่อง ซึ่งทั่วโลกกำลังเร่งดูอยู่

ด้าน ดร.ประเสริฐ เอื้อวรากุล กล่าวว่า ทางสำนักระบาดวิทยามีข้อมูลที่จะนำมาทำแบบจำลอง ซึ่งกำลังหารือกันว่าจะทำแบบจำลองที่คล้ายๆ กับการโรคไข้หวัดนกซึ่งได้ทำเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำไปกำหนดมาตรการรับมือในอนาคต ทั้งนี้อยากจะสร้างความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านคณิตศาสตร์ นักระบาดวิทยา และใช้คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง รวมถึงข้อมูลจากการศึกษาไข้หวัดนกบางส่วนที่ยังใช้ได้

"เบื้องต้นเป็นงานด่วนจึงอาศัยการทำงานร่วมกันจากหลายฝ่าย และในอดีตเราก็อาศัยการทำงานร่วมกันของคนจากหน่วยงานต่างๆ แค่ตอนนี้คาดว่าควรมีหน่วยงานหลักที่ทำเรื่องนี้โดยตรง เพราะเราคาดว่าครั้งนี้คงไม่ใช่การระบาดครั้งสุดท้าย" ดร.ประเสริฐกล่าว

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.วรณพงษ์ เตรียมโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านชีวฟิสิกส์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการสร้างแบบจำลองโรคฉี่หนูและเชื้อเอชไอวี อธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ในการสร้างแบบจำลองไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้จะนำข้อมูลการระบาดวิทยามาตีความให้เป็นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ในรูปของแคลคูลัส ซึ่งเป็นภาษาที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ

ทั้งนี้มีทีมอาจารย์และนักษาศึกษาปริญาเอกร่วมทำแบบจำลองประมาณ 4-5 คน โดย ดร.คัมมิงส์จะให้ความช่วยเหลือด้านคำแนะนำ.
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เข้าฟังสรุปการประชุมจากผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ ในการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น