xs
xsm
sm
md
lg

มหิดลพัฒนาระบบควบคุมไอระเหยน้ำมัน เอกชนเริ่มนำไปใช้ที่มาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.วิทยา อยู่สุข (ซ้ายสุด)
นักวิจัยมหิดล ใช้เทคนิคควบแน่นด้วยความเย็นจัด พัฒนาระบบควบคุมไอระเหยน้ำมันเชื้อเพลิง ดักจับไอระเหยจากคลังน้ำมันให้ควบแน่นกับมาเป็นน้ำมันเหลวที่นำไปใช้งานได้ ช่วยลดมลพิษในชั้นบรรยากาศ ลดการสูญเสียพลังงานได้มหาศาล แถมถูกกว่านำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศหลายเท่า ระยองเพียวริไฟเออร์นำไปใช้เป็นเจ้าแรก เตรียมย่อระบบให้เล็กลงสำหรับปั๊มน้ำมัน รองรับกฎหมายบังคับใช้ปี 53

รศ.ดร.วิทยา อยู่สุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการและนวัตกรรมการศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงผลสำเร็จการพัฒนาเครื่องควบคุมไอระเหยน้ำมันด้วยระบบความเย็นจัด เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 51 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พญาไท) ซึ่งผลงานดังกลาวจะช่วยลดการสูญเสียน้ำมันและลดมลพิษในบรรยากาศได้อย่างมาก พร้อมทั้งลดการนำเข้าเทคโนโลยีของต่างประเทศ

รศ.ดร.วิทยา กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่าจากการที่กรมควบคุมมลพิษได้ศึกษาในปี 43 พบว่าคลังน้ำมันเชื้อเพลิงและปั๊มน้ำมันทั่วประเทศมีการปล่อยไอระเหยน้ำมันเชื้อเพลิงในรูปของสารระเหยอินทรีย์ (VOCs) ออกมาในปริมาณมากกว่า 10,000 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อยู่โดยรอบ โดยมีงานวิจัยในประเทศฝรั่งเศสระบุว่าสารระเหยเหล่านี้เป็นสารก่อมะเร็ง และเด็กที่อยู่ใกล้ปั๊มน้ำมันมีแนวโน้มป่วยเป็นมะเร็งสูง

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้มีการออกกฎหมายควบคุมไอระเหยน้ำมันในเวลาต่อมา ซึ่งกำหนดให้ถังเก็บน้ำมันของคลังน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศปล่อยไอระเหยน้ำมันได้ไม่เกิน 17 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 2,000 ppm ส่งผลให้เอกชนเจ้าของคลังน้ำมันต้องลงทุนสูงในการติดตั้งระบบควบคุมการปล่อยไอระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นเทคโนโลยีของต่างประเทศ

รศ.ดร.วิทยา จึงริเริ่มพัฒนาเครื่องควบคุมไอระเหยน้ำมัน (Vapor Recovery Unit: VRU) ตั้งแต่ปี 44 โดยใช้หลักการของระบบความเย็นจัด ประมาณ -30 องศาเซลเซียส และติดตั้งระบบดังกล่าวที่คลังน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อดูดเอาไอระเหยของน้ำมันผ่านเข้ามาในระบบ เมื่อไอระเหยของน้ำมันมาเจอกับความเย็นภายในระบบ จะเกิดการควบแน่นกับมาเป็นของเหลว โดย 10% เป็นน้ำ และ 90% เป็นน้ำมันที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้

"ระบบควบคุมไอระเหยของน้ำมันนี้สามารถลดการปล่อยไอระเหยของน้ำมันจากคลังน้ำมันสู่ชั้นบรรยากาศไม่ให้เกินมาตรฐานที่กำหนดได้ และไอระเหยของน้ำมันที่ผ่านเข้ามาในระบบสามารถควบแน่นกลับไปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด จึงช่วยลดมลพิษในชั้นบรรยากาศได้ พร้อมกับลดการสูญเสียน้ำมันได้อย่างมหาศาล โดยการติดตั้งระบบนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1-2 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าเทคโนโลยีของต่างประเทศจะมีราคาประมาณ 10-15 ล้านบาท" รศ.ดร.วิทยา กล่าว

ทั้งนี้ นักวิจัยเริ่มพัฒนาระบบดังกล่าวตั้งแต่ปี 44 ด้วยทุนวิจัยประมาณ 30 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยมหิดล และขณะนี้ได้นำไปติดตั้งใช้งานจริงแล้วที่คลังน้ำมันของ บริษัท ระยอง เพียวริไฟเออร์ จำกัด ที่มาบตาพุด จ.ระยอง และกำลังจะติดตั้งเพิ่มเติมเร็วๆนี้ที่คลังน้ำมันเชื้อเพลิงของ บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ รศ.ดร.วิทยา ยังได้พัฒนาระบบควบคุมไอระเหยน้ำมันให้มีขนาดเล็กลง สำหรับติดตั้งเพื่อควบคุมการปล่อยไอระเหยน้ำมันเชื้อเพลิงจากปั๊มน้ำมัน เพื่อรองรับกฎหมายควบคุมการปริมาณการปล่อยไอระเหยน้ำมันเชื้อเพลิงจากปั๊มน้ำมันในประเทศไทย ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 53.
กำลังโหลดความคิดเห็น