xs
xsm
sm
md
lg

สัตว์ทดลอง "เกรดเอ" เหลือแค่ "เกรดซี" ถ้าดูแลไม่ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนูทดลองจากวารสาร Environmental Health Perspectives (EHP)
ผอ.สำนักสัตว์ทดลองระบุ ถ้านักวิจัยนำเข้าสัตว์ทดลอง "เกรดเอ" ประเภทสายพันธุ์ดี ปลอดเชื้อ แต่ดูแลจัดการไม่ถูกวิธี สุดท้ายกลายเป็นแค่ สัตว์ทดลอง "เกรดซี" นอกจากงานวิจัยไม่ได้มาตรฐาน ยังเปลืองเงินโดยใช่เหตุ

ระหว่างการประชุมวิทยาการสัตว์ทดลองนานาชาติ (International Symposium on Laboratory animal Science: ILAS2009 ) เมื่อวันที่ 26 เม.ย.52 ณ หอประชุมกองทัพเรือราชนาวี นางกาญจนา เข่งคุ้ม ผู้อำนวยการสำนักสัตว์ทดลอง มหาวิทยาลัยมหิดล เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ในเมืองไทยนั้นสำนักงานสัตว์ทดลองเป็นหน่วยงานเดียวในประเทศ ที่ผลิตสัตว์ทดลองให้กับนักวิจัยไทย แต่ยังมีข้อจำกัดตรงที่ยังไม่มีหน่วยงานภายนอกมารับรองมาตรฐานการผลิตของสำนักงาน แม้มั่นใจว่าสำนักงานมีมาตรฐานแต่ก็ไม่สามารถรับรองตัวเองได้

“วิธีแก้ปัญหาของเราคือ ขอให้มีหน่วยงานที่สามเป็นหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพสัตว์ทดลอง ซึ่งสัตว์ทดลองที่มีคุณภาพต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ คุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลอง คุณภาพพันธุ์สัตว์ทดลอง และคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่เลี้ยงดู และในระดับโลกมีโครงการรับรองมาตรฐานคุณภาพห้องปฏิบัติการ PEP (Performance Evaluation Program) ที่ทำงานเป็นเครือข่าย และรับรองความน่าเชื่อถือของห้องปฏิบัติการ ซึ่งตอนนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมในการเป็นสมาชิกของ PEP หากเราได้เข้าเป็นสมาชิก เราก็สามารถรับรองมาตรฐานสัตว์ทดลองได้ และหน่วยงานที่สามที่จะเราขอให้เปิดก็อาจไม่จำเป็น" นางกาญจนากล่าว

ทั้งนี้ สำนักสัตว์ทดลองมีความสามารถในการผลิตสัตว์ทดลองได้ปีละ 400,000 ตัว โดยนักวิจัยในประเทศ มีความต้องการสัตว์ทดลอง 300,000 ตัว ซึ่งนางกาญจนาระบุว่า สำนักสัตว์ทดลองจะผลิตสัตว์ตามคำสั่งซื้อ โดยปริมาณที่ผลิตคิดเป็น 80% ของศักยภาพที่จะสามารถผลิตได้ และสามารถผลิตหนูเมาส์ หนูแรท หนูแฮมเตอร์ หนูตะเภาและกระต่าย ซึ่งหนูแต่ละชนิดยังแยกย่อยลงไปอีกหลายสายพันธุ์

"การผลิตสัตว์ทดลองให้ได้มาตรฐานนั้น ต้องควบคุม 3 มาตรฐานคือ โครงสร้างอาคารเพาะเลี้ยงถูกต้องตามมาตรฐาน มีเครื่องมือเหมาะสม และมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเชื่อว่าเราได้มาตรฐานในระดับหนึ่ง" ผอ.สำนักสัตว์ทดลองกล่าว และบอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ด้วยว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยไทยเริ่มเข้าใจสั่งซื้อสัตว์ทดลองที่ถูกต้องมากขึ้น จากเดิมที่ใช้พรุ่งนี้สั่งวันนี้ ก็เข้าใจว่าการสั่งซื้อสัตว์ทดลองนั้นต้องรอเวลาให้สัตว์ได้ตั้งท้อง บวกกับอายุของสัตว์ทดลองที่ต้องการ ซึ่งเว็บไซต์ของสำนักสัตว์ทดลองมีตารางกำหนดแนะนำไว้

อย่างไรก็ดี นอกจากผู้ผลิตสัตว์ทดลองแล้ว นักวิจัยหรือผู้ใช้สัตว์ทดลองก็มีส่วนในการกำหนดมาตรฐานการใช้สัตว์ทดลอง โดยนอกจากปัญหาเรื่องจำนวนสัตว์ทดลองไม่เพียงพอแล้ว ยังมีปัญหาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับสัตว์ทดลอง ซึ่งหลายแห่งยังไม่ได้มาตรฐาน

"บางครั้งแม้จะสั่งซื้อสัตว์ทดลอง "เกรดเอ" คือสัตว์ทดลองปลอดเชื้อ ซึ่งได้รับการผลิตมาอย่างดี และเก็บไว้ในภาชนะป้องกันเชื้อ แต่เมื่อได้รับมาแล้วผู้ใช้กลับเปิดให้สัตว์สัมผัสเชื้อโรคในห้องเปิด ทำให้คุณภาพสัตว์ลดลงอาจเหลือเพียง "เกรดซี" ซึ่งนอกจากทำให้คุณภาพงานวิจัยลดลงแล้ว ยังทำเปลืองเงินโดยใช่เหตุ เพราะราคาสัตว์ทดลองเกรดเอและเกรดซีต่างกันมาก เนื่องจากการผลิตสัตว์เกรดเอต้องพึ่งเทคโนโลยีมาก" นางกาญจนากล่าว

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสำนักสัตว์ทดลองชี้ว่าสัตว์ทดลองยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการวิจัย ตราบใดที่เด็กคนหนึ่งเกิดมาแล้วยังต้องฉีดวัคซีน กินยา พร้อมบอกด้วยว่าเจ้าหน้าที่เลี้ยงและดูแลสัตว์ทดลองนั้น ควรเป็นผู้มีความรู้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ให้ ใครก็ได้มาทำหน้าที่นี้ ซึ่่งหลายแห่งรวมทั้งที่สำนักสัตว์ทดลองเองก็อาศัยบุคลากรที่จบ ป.6 ทั้งนี้โดยความคาดหวังแล้วเธออยากได้ผู้ดูแลสัตว์ที่มีความรู้ทางด้านสัตวบาลโดยตรงและจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี แต่ความต้องการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง

นางกาญจนาได้กล่าวถึงสมาคมสัตว์ทดลองอเมริกา (American Association for Laboratory Animal Science) ซึ่งตั้งมากว่า 30 ปี ว่าได้ตั้งกฎระเบียบในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ดูแลสัตว์ทดลอง ซึ่งต้องผ่านการอบรมตามกำหนด และต้องสอบขอรับใบอนุญาตในการดูแลสัตว์ทดลอง ทั้งนี้ อยากให้เมืองไทยมีกฎเกณฑ์คล้ายๆ กัน โดยสิ่งที่สำนักสัตว์ทดลองทำอยู่คือการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ทดลอง และปัจจุบันมีผู้มีความระดับปริญญาตรีสมัครเข้ามาทำงานในตำแหน่งนีี้บ้างแล้ว

สำหรับการประชุมวิชาการสัตว์ทดลองนานาชาติ ILAS นั้นจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 เม.ย.52 โดยคณะกรรมการแห่งชาตเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายสหวิทยาการเพื่อการวิจัยและพัฒนาแห่งราชบัณทิตยสถาน ในพระราชูปถัมป์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลองแห่งประเทศไทย.
นางกาญจนา เข่งคุ้ม
กำลังโหลดความคิดเห็น