xs
xsm
sm
md
lg

ปศุสัตว์อุดรฯ ติวเข้มผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุดรธานี - ปศุสัตว์อุดรฯ เปิดห้องติวเข้มเจ้าของโรงฆ่าสัตว์ น่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หวังสร้างความรู้ความเข้าใจในการยกระดับพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ก่อนถึงมือผู้บริโภค ย้ำภาวะปัจจุบันผู้บริโภคให้ความใส่ใจด้านสุขอนามัยมาเป็นอันดับหนึ่ง

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (25 มี.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมนภาลัย อ.เมืองอุดรธานี นายสัตวแพทย์เกียรติศักดิ์ อุ่ยรุ่งโรจน์ ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมและประชุมเสวนา เรื่อง “เนื้อสัตว์อนามัย กับความปลอดภัยของผู้บริโภค” ให้กับผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ทั้งภาครัฐ เอกชน ธุรกิจต่อเนื่อง และอาจารย์ นักเรียน นักศึกษาจากสถานบันต่างๆ จำนวน 210 คน

นายเรืองแสง กิจเจริญปัญญา หัวหน้าพัฒนาคุณภาพสินค้าสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ในสภาวะปัจจุบัน ผู้บริโภคภายในประเทศได้ให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพและอาหารที่นำไปบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร

กรมปศุสัตว์จึงมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการผลิตเนื้อสัตว์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสุขอนามัย เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ ปลอดจากสารพิษ เชื้อโรคและยาปฏิชีวนะตกค้าง

การประชุมเสวนาในครั้งนี้นับว่ามีประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานภายในโรงฆ่าสัตว์ และเป็นการสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนร่วมกัน เพื่อที่จะได้นำความรู้ไปปรับปรุงและพัฒนาโรงฆ่าสัตว์หรือโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และให้ถูกสุขอนามัยทำให้ผลผลิตจากปศุสัตว์มีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลด้านความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety)

นายสัตวแพทย์เกียรติศักดิ์ กล่าวอีกว่า การจัดการและการควบคุมการผลิต เป็นพื้นฐานที่สำคัญในโรงฆ่าสัตว์ทุกประเภททุกระดับ และผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตอาหาร จึงจำเป็นต้องจัดการให้ถูกสุขลักษณะควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์สู่สากลต่อไป

จากความสำคัญด้านความปลอดภัยอาหารซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายมาตั้งแต่ปี 2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานสำคัญในการผลิตสินค้าด้านการเกษตรทั้งหมด ไม่ว่าสินค้าปศุสัตว์ สินค้าประมง และสินค้าเกษตร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการวางหลักเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติ ในมาตรฐานและความปลอดภัยด้านบริโภค จึงได้จัดทำพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าการเกษตร ปี 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา เพื่อเป็นข้อกำหนดและข้อปฏัติที่ชัดเจน สำหรับขบวนการผลิตสินค้าเกษตร

ดังนั้น การประชุมเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์ ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคทั่วไป ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์จะต้องปรับตัว ปรับขบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น