xs
xsm
sm
md
lg

เนคเทคร่วม 2 สถาบัน ตั้งศูนย์ความรู้เฉพาะด้าน ดันไอทีสู่ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ และ รศ.ดร.ไทย ทิพยสุวรรณกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถ่ายภาพร่วมกันหลังจากลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้าน
ม.เกษตรฯ จับมือเนคเทค ตั้งศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมความรู้ เน้นพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเกษตร ช่วยเกษตรลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิต ด้าน ม.วลัยลักษณ์ ตั้งศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาร่วมกับเนคเทค หวังใช้ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์จับตาดูการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อม พร้อมทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้า

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษา และศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์เข้าร่วมในการแถลงข่าวที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ (วท.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า เนคเทคมีเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายวิจัยด้วยความร่วมมือกันในรูปแบบของเครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้าน หรือ ซีโออี (Center of Excellence: CoE) โดยมุ่งพัฒนารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมของศูนย์เฉพาะด้านในแต่ละมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม ด้วยการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและบุคลากร เพื่อสร้างบุคลากรทางการวิจัยด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนจำนวนมาก และยังเป็นการพัฒนาบุคลากรที่จะออกไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในเวทีโลกได้

"ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายการทำงานวิจัยอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ทรัพยากรวิจัยของประเทศ เป็นการใช้เงินทุนวิจัยที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถพัฒนานักวิจัยเฉพาะด้านให้มีความเชี่ยวชาญในเชิงลึกได้ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสากรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้และนำไปใช้ประโยชน์กับชุมชนในท้องถิ่นได้" ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าว

ความร่วมมือของเนคเทคกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษา ซึ่งผู้อำนวยการเนคเทคให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์ที่จะเน้นการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านการเกษตร ที่ทางมหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญอยู่ก่อนแล้ว พร้อมกับการพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศ เครือข่ายความรู้ ไซเบอร์เบรน (Cyberbrain) ด้วยการเชื่อมโยงแบบกริด ตลอดจนพัฒนาระบบและกระบวนการถ่ายทอดความรู้และการให้บริการวิชาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ เช่น ปุ๋ยสั่งตัดผ่านมือถือ, ระบบเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับการระบาดของโรคพืช เป็นต้น

ส่วนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นการจัดตั้งศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ เพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ในการศึกษาระบบนิเวศ ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจสภาพแวดล้อมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลง และคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม เช่น ใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ประเมินสภาพแวดล้อม, สร้างแบบจำลองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวนี้มีระยะเวลา 5 ปี โดยเนคเทคมีงบประมาณสนับสนุนแต่ละแห่งปีละ 1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาให้ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านแต่ละแห่งสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองต่อไปหลังจากนั้น โดยก่อนหน้านี้เนคเทคได้จัดตั้ง CoE แล้ว 2 สาขาความเชี่ยวชาญ ได้แก่ ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมฟื้นฟู โดยร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์ความรู้เฉพาะด้านอินเทอร์เน็ตยุคหน้า ที่ร่วมกับสถานวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้งจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้อำนวยการเนคเทคยังได้เชิญชวนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่สนใจจะพัฒนาศูนย์ความรู้เฉพาะด้าน สามารถเข้าร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรกับเนคเทคได้ โดยการเสนอโครงการความร่วมมือเข้ามาได้ที่เนคเทค ซึ่งจะพิจารณาเพื่อให้การสนับสนุนและสร้างความร่วมมือพัฒนาศูนย์ความรู้เฉพาะด้านอื่นๆ ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น