xs
xsm
sm
md
lg

คุณหญิงกัลยาฝากนักโลหะพัฒนา "รางรถไฟ" สนองขนส่งแบบราง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช มอบรางวัลนักโลหะวิทยาดีเด่น ประจำปี 2552 ให้  รศ.ดร.เสถียร นิลธวัช
คุณหญิงกัลยาฝากการบ้านนักโลหะวิทยาพัฒนารางรถไฟ-ตู้รถไฟ สนองนโยบายขนส่งแบบรางอีก 15 ปีข้างหน้า พร้อมเผยกำลังขออนุมัติตั้ง "สถาบันเทคโนโลยีขนส่งแบบราง"

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการเปิดงานประชุมวิชาการทางโลหะวิทยาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.52 ณ โรงแรมเซ็นจูรี ปาร์ค และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมทำข่าวงานประชุมนี้ ซึ่งมีนักวิจัยสาขาโลหะวิทยาทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม

ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ฝากถึงนักโลหะวิทยาที่เข้าร่วมประชุมว่า ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ระยะยาว 15 ปีที่จะส่งเสริมการขนส่งทางราง ซึ่งจะเป็นหัวใจในขนส่งทั้งคนและสิ่งของที่ช่วยลดต้นทุนได้ จึงอยากฝากโจทย์ให้นักโลหะวิทยาร่วมกันพัฒนารางรถไฟและตู้รถไฟ เพื่อให้มีเทคโนโลยีของคนไทยในการจนส่งทางรางโดยไม่ต้องซื้อทั้งหมด รวมทั้งหากเป็นไปได้อยากให้พัฒนาเรือเพื่อการขนส่งทางน้ำ ซึ่งมีต้นทุนต่ำที่สุดด้วย

"ขณะนี้กำลังขออนุมัติรัฐบาลตั้ง "สถาบันเทคโนโลยีขนส่งทางราง" เพื่อผลักดันไทยสู่เทคโนโลยีขนส่งทางรางได้เร็วขึ้น และไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศทั้งหมด" ดร.คุณหญิงกัลยากล่าว พร้อมทั้งให้ความเห็นด้วยว่าความร่วมมือของนักวิจัยโลหะวิทยาที่มาร่วมประชุมกันในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาประเทศไทย และเชื่อว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะสร้างนวัตกรรมที่แข่งขันได้ เพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนการผลิตได้ หรืออย่างน้อยก็ลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้

พร้อมกันนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา ได้มอบรางวัลนักโลหะวิทยาดีเด่น ประจำปี 2552 ให้แก่ รศ.ดร.เสถียร นิลธวัช ประธานหลักสุตรวิศวกรรมวัสดุและโลหการ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธรไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ผศ.วิกรม วัชรคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยรางวัลนักโลหะวิทยารุ่นใหม่ดีเด่น ได้แก่ ดร.ยุทธนันท์ บุญยงค์มณีรัตน์ นักวิจัยสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากนั้น ผศ.ดร.ฉัตรชัย สมศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายโลหะวิทยา บริษัท ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน) และนักโลหะวิทยาดีเด่นประจำปี 2551 ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เล่าประสบการณ์การทำงานที่เปลี่ยนจากห้องปฏิบัติการภายในมหาวิทยาลัยสู่การทำงานในภาคการผลิตเหล็กกล้าของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเขามีประสบการณ์ทำงานเป็นอาจารย์และนักวิจัยด้านโลหะวิทยาที่จุฬาฯ 26 ปี

ผศ.ดร.ฉัตรชัยกล่าวว่า การทำงานในภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่เพียงให้ได้ออกมาเป็นผลผลิต แต่ผลงานที่ออกมาต้องมีผลกระทบด้วย และการเปลี่ยนที่ทำงานจากห้องปฏิบัติการไปสู่ภาคอุตสาหกรรม สิ่งที่ผู้ทำงานจะต้องเจอคือ ต้องสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ซึ่งในที่นี้ยังหมายถึงผู้ที่เราทำงานด้วย อีกทั้งต้องทำได้ตามสัญญาตามที่ลุกค้าคาดหวัง นอกจากนี้สิ่งที่ต้องอยู่ในใจเสมอคืออัตราส่วนผลกำไรต่อต้นทุน

"เรื่องทรัพยากรทั้งภาครัฐและมหาวิทยาลัยมักจะบอกว่าไม่พอ แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่มีมากหรือมีน้อย แต่อยู่ที่จะจัดการอย่างไรให้เพียงพอ ความเชื่อใจก็เป็นสิ่งสำคัญ การทำงานกับคนอื่นได้ ต้องพูดจาไม่กลับกลอก แล้วเราก็จะมีชีวิตอยู่ได้ในสังคม ทั้งสังคมวิจัยและสังคมอุตสาหกรรม สุดท้ายต้องมีความสุขกับสิ่งที่ทำ อย่าทำตามกระแส" ผศ.ดร.ฉัตรชัยกล่าว

ทั้งนี้งานประชุมวิชาการทางโลหะวิทยาแห่งประเทศไทยครั้งนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยและการเรียนการสอนทางด้านโลหะวิทยาเวียนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งปีนี้ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้นระหว่าง 26-27 ต.ค.52 ณ โรงแรมเซ็นจูรี ปาร์ค โดยการสนับสนุนของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยและศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช มอบรางวัลนักโลหะวิทยาดีเด่น ประจำปี 2552 ให้ ผศ.วิกรม วัชรคุปต์
ผู้เข้าร่วมประชุมโลหะวิทยา
ผศ.ดร.ฉัตรชัย สมศิริ
กำลังโหลดความคิดเห็น