xs
xsm
sm
md
lg

สผ. เตรียมออกมาตรการควบคุม "เอเลียนสปีชีส์" ต้นปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ฉวีวรรณ หุตะเจริญ (ขวา)
สผ. ระดมความเห็นนักวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จัดทำคู่มือทะเบียน "เอเลียนสปีชีส์" เตรียมพิมพ์แจกต้นปีหน้า เป็นมาตรการให้หน่วยงานรัฐนำไปปฏิบัติ ควบคุม ป้องกัน และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเข้ามาในไทย เตือนเฝ้าระวังกุ้งขาว แม้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่เป็นเอเลียนสปีชีส์ที่ทำท่าว่าจะรุกรานเป็นรายต่อไป และอีกหลายร้อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในไทย

ดร.ฉวีวรรณ หุตะเจริญ ที่ปรึกษา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นประธานเปิดการประชุมหารือและระดมความเห็นต่อคู่มือทะเบียนชนิดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัด ในประเทศไทย ที่ สผ. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ต.ค.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น โดยมีนักวิจัย นักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมราว 50 คน

ดร.ฉวีวรรณ ในฐานะประธานคณะทำงานชนิดพันธุ์ต่างถิ่น กล่าวว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน หรือเอเลียนสปีชีส์ เป็นปัญหาที่คุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์พื้นเมือง และมักส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สุขอนามัย และสังคม ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาดังกล่าว

ในส่วนของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น โดยมีคณะทำงานที่ดำเนการเก็บข้อมูลชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งมี ดร.บรรพต ณ ป้อมเพชร เป็นประธาน ต่อมา สผ. ได้ดำเนินการต่อ โดยเป็นเหมือนศูนย์กลางที่ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้ร่วมมือกันจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยการจัดทำมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 52

มาตรการในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ การจัดการองค์กร โดยมี สผ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน และมีหน่วยงานสนับสนุน, ภารกิจการป้องกัน เฝ้าระวัง และติดตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย, ส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัยเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย และมาตรการสุดท้ายคือเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ และสร้างความตระหนักให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปในการควบคุมและป้องกันการรุกรานจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

ดร.ฉวีวรรณ กล่าวต่อว่า การจัดทำคู่มือทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นฯ เป็นแนวทางหนึ่งที่สอดคล้องกับมาตรการข้อสุดท้าย โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค. 52 และครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 3 ในการจัดทำคู่มือดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง สมบูรณ์ และสามารถนำไปใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษาได้

เนื้อหาภายในคู่มือแบ่งเป็น 4 รายการ ได้แก่ 1) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานและสร้างความเสียหายในประเทศไทยแล้ว, 2) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ทำท่าว่าจะรุกรานในประเทศ, 3) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีรายงานการรุกรานในต่างประเทศแล้วแต่ยังไม่รุกรานในประเทศ และ 4) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ยังไม่เคยเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งรวมแล้วทั้งหมดมีประมาณ 300 ชนิดพันธุ์ โดยจะต้องตรวจสอบด้วยว่าเป็น 1 ใน 100 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานและเป็นปัญหาระดับโลกตามบัญชีรายชื่อของสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น (International Union for the Conservation of Nature: IUCN) ด้วยหรือไม่

ดร.ฉวีวรรณ ยกตัวอย่าง กุ้งขาว ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย และจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรายการที่ 2 คือทำท่าว่าจะรุกรานภายในประเทศได้ หากไม่มีการควบคุมและป้องกันให้ดี ซึ่งอาจส่งผลให้กุ้งพันธุ์เมืองและสิ่งมีชีวิตพื้นเมืองอื่นๆ สูญพันธุ์ได้เช่นกัน

สำหรับความคืบหน้าของการจัดทำคู่มือนั้นดำเนินการไปได้หลายส่วนแล้ว เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์น้ำ ซึ่งกรมประมงได้รวบรวมไว้จำนวนมากแล้ว แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เช่น ขาดข้อมูล ทั้งในส่วนข้อมูลของชนิดพันธุ์นั้นๆ ข้อมูลระบบนิเวศน์ ผลกระทบ วิธีการควบคุม เป็นต้น โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับแมลง เนื่องจากแมลงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีมากที่สุดในโลก ซึ่ง ดร.ฉวีวรรณ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้คือการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นให้มากยิ่งขึ้น และต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

ดร.ฉวีวรรณ บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์อีกว่า การจัดทำคู่มือทะเบียนชนิดพันธุต่างถิ่นในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก เนื่องจากไทยเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และคาดว่าประมาณเดือน ม.ค. 53 จะเริ่มพิมพ์คู่มือทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นมาตรการในการควบคุมและป้องกันชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทยได้ เช่น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คู่มือทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่จัดทำขึ้นนั้นเป็นมาตรการสำหรับหน่วยงานในประเทศนำไปปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางในการออกกฎหมายควบคุม ป้องกัน และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในอนาคตต่อไป ทว่า ดร.ฉวีวรรณ บอกว่าในอนาคตประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุม หากทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนทุกคนร่วมมือกับปฎิบัติตามมาตรการดังกล่าวและสามารถป้องกันไม่ใช้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานประเทศไทยได้ แต่ขณะนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักชนิดพันธุ์ต่างถิ่นกันเท่าใดนัก และหลายชนิดมีจำหน่ายในท้องตลาด จึงต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น โดยประชาชนสามารถสอบถามหรือข้อมูลเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นได้จากของสำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สผ. (http://chm-thai.onep.go.th)
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 50 คน เข้าร่วมประชุมระดมความเห็นใหนการจัดทำคู่มือทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น