xs
xsm
sm
md
lg

"ตำลึง" ไม่พอกินในไทยแต่เป็น "เอเลียนสปีชีส์" ที่รุกรานในฮาวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตำลึง ผักสวนครัวริมรั้วที่มีคุณค่าทางอาหารของไทยกลายเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่รุกรานชาวเกาะฮาวาย
สิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง อาจเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตธรรมดาๆ ที่ไม่อาจรุกรานใครได้ แต่เมื่อย้ายถิ่นฐานไปยังถิ่นที่มีศัตรูตามธรรมชาติและคู่แข่งน้อยลง กลับเบียดบังสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว จนต้องถอยร่นให้กับผู้มาใหม่ และคงดูน่าประหลาดใจไม่น้อยถ้า "ตำลึง" เข้าข่ายสิ่งมีชีวิตที่รุกรานสิ่งมีชีวิตอื่นในฐานะ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

เป็นข้อมูลข้างเคียงที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้รับจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเพิ่งจัดงานประชุมวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่อง "ความหลากหลายทางชีวภาพ : ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน" ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า "ตำลึง" ผักริมรั้วที่แสนอร่อยในชามก๋วยเตี๋ยวไก่ตำลึงนั้น กลายเป็น "เอเลี่ยนสปีชีส์" (Alien species) ที่รุกรานในฮาวาย สหรัฐฯ เนื่องจากเจริญเติบโตได้ดีและไม่ใครบริโภคผักชนิดนี้

หากแต่แหล่งข่าวไม่ได้ชี้แจงว่า ผักพื้นบ้านของไทยนั้นไปรุกรานชาวเกาะแห่งตะวันตกได้อย่างไร แต่เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตที่ดูธรรมดาๆ ในที่แห่งหนึ่งอาจกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่รุกรานในอีกที่แห่งหนึ่งได้

สำหรับความหมายของ "เอเลี่ยนสปีชีส์" หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้น ดร.จานากา เดอ ซิลวา (Dr.Janaka de Silva) ผู้แทนจากสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น (International Union for the Conservation of Nature: IUCN) ประจำประเทศไทย ได้ให้นิยามว่า หมายถึงสิ่งมีชีวิต ซึ่งเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่ถิ่นประจำ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจของมนุษย์ โดยความตั้งใจนั้นอาจเป็นการนำเข้าเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง เ่ช่น เพื่อการเกษตร เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนี้ จะไม่สร้างปัญหาหากไม่มีพฤติกรรมรุกราน (Invasive) สิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งตัดสินจากความสามารถในการปรับตัวและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ หากไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ก็เป็นเพียงชนิดพันธุ์ต่างถิ่น แต่หากขยายพันธุ์ได้ก็ต้องพิจารณาต่อว่าสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้หรือไม่ ทั้งนี้การรุกรานของเอเลี่ยนสปีชีส์ถือเป็นปัจจัยอันดับ 2 ที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รองจากการบุกรุกพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ของมนุษย์เลยทีเดียว

เอเลี่ยนสปีชีส์ที่รุกรานความหลากหลายทางชีวภาพของไทยชนิดแรกๆ คือ "ผักตบชวา" ที่กลายเป็นสวะกีดขวางคมนาคมทางน้ำ จนมีพระราชบัญญัติกำจัดผักตบชวามาตั้งแต่สัมยรัชกาลที่ 5 และศัตรูตัวฉกาจของชาวนาอย่าง "หอยเชอรี่" ก็เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามารุกราน "หอยโข่ง" สิ่งมีชีวิตพื้นเมืองจนค่อยๆ หายไปจากท้องนา และหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า "นกพิราบ" ที่เห็นดาษดื่นในสนามหลวงและเขตเมืองนั้นก็จัดเป็น "เอเลี่ยนสปีชีส์" ที่รุกราน และอยู่ในรายการที่ 1 ของ "ทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุมและกำจัดสำหรับประเทศไทย" ซึ่งจัดทำโดย สผ.

เอเลี่ยนสปีชีส์ที่ถูกจัดให้อยู่ในรายการที่ 1 นั้นคือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 82 ชนิด และ สผ.ได้กำหนดแนวทางควบคุมว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องกำจัดทิ้ง โดยเหตุที่นกพิราบจัดในรายการนี้เนื่องจากพฤติกรรมที่ไปรุกรานสิ่งมีชีวิตอื่นและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เป็นเหตุให้คณะกรรมการที่จัดรายการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเห็นพ้องต้องกันอย่างเอกฉันท์ว่า นกพิราบเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานและต้องถูกกำจัดทิ้ง

สิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้นแรกๆ ถูกนำเข้ามาโดยหน่วยงานราชการ แต่ทุกวันนี้เราทราบกันดีว่าตลาดนัดที่ไหนเป็นแหล่งนำเข้าและเพาะพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่เป็น "เอเลี่ยนสปีชีส์" ขนาดใหญ่ ทั้งนี้ในทางปฏิบัติเราคงไม่อาจห้ามปรามหรือหยุดยั้งการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตแปลกๆ ได้

แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมองหาสิ่งมีชีวิตพิศดารมาไว้ในครอบครอง ควรต้องตระหนักและมีสำนึกรับผิดชอบที่จะไม่ปล่อยให้สิ่งมีชีวิตนั้นๆ หลุดรอดสู่ธรรมชาติ จนสามารถขยายพันธุ์และรุกรานสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ และหน่วยงานราชการเองยิ่งต้องตระหนักต่อเรื่องนี้
สำหรับเมืองไทยแล้ว แทบจะไม่พอกิน
กำลังโหลดความคิดเห็น