หลังจากที่ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ค้นพบยีนควบคุมความหอมในข้าว และยื่นจดสิทธิบัตรกระบวนการทำให้ข้าวพันธุ์ที่ไม่หอมมีความหอมมากยิ่งขึ้นในหลายประเทศ กระทั่งได้สิทธิบัตรแรกจากสหรัฐฯ ในปี 51 นำมาซึ่งความตื่นตัว และเรียกร้องให้มีการจดสิทธิบัตรพันธุกรรมข้าวหอมมะลิได้ในประเทศไทย เพื่อปกป้องพันธุ์ข้าวของไทย
แต่เรื่องนี้ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิบัตรของประเทศไทยในปัจจุบัน
แล้วจะมีวิธีใดบ้าง? ที่จะคุ้มครองพันธุ์ข้าวไทยได้ โดยไม่ต้องแก้กฎหมายเดิม ที่อาจเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองทรัพยากรพันธุกรรมของไทย
“สิทธิบัตร” จะคุ้มครองต้องมีความ "ใหม่"
ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา บอกว่า พันธุกรรมพืช หรือสายพันธุ์หลักของข้าว กฎหมายสิทธิบัตรไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้ เพราะการให้ความคุ้มครองเป็นกฎของทรัพย์สินทางปัญญาสมัยใหม่ ซึ่งปรากฏอยู่ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)
ทรัพย์สินทางปัญญาสมัยใหม่ สิ่งนั้นจะต้องมีความใหม่ หรือมีลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิม ที่เกิดจากการแทรกแซงโดยมนุษย์ ถ้าหากไม่เป็นไปตามนี้ จะไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาสมัยใหม่
หากเป็นพืชสายพันธุ์ใหม่ที่จะให้ความคุ้มครอง ก็ต้องเกิดจากมนุษย์เข้าไปแทรกแซงในระดับที่สูงจนทำให้เกิดวิทยาการใหม่ขึ้นมา ไม่ใช่วิทยาการระดับเดียวกับที่เคยมีปรากฏอยู่ และความใหม่ที่เกิดขึ้นจะต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
"การค้นพบยีน" ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ในบางประเทศ
ดร.เจษฎ์ บอกว่า สายพันธุ์ข้าวต่างๆ เช่น พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ จะไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ เพราะเป็นที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายมานานแล้ว
ทว่า การที่มีคนนำข้าวขาวดอกมะลิไปขอรับความคุ้มครองได้ เช่น ในสหรัฐฯ เพราะไม่ได้นำเอาสายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิไป แต่นำเอาพันธุกรรมบางส่วนของขาวดอกมะลิไปขอรับความคุ้มครองแทน
"หากค้นพบหน่วยพันธุกรรม หรือยีนที่แสดงลักษณะพิเศษของข้าว เช่น ยีนควบคุมความหอมในข้าว แล้วนำมันออกมาจากต้นข้าวได้ ถือเป็นการค้นพบสิ่งใหม่ ฉะนั้นการค้นพบนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่โดยธรรมชาติ แต่มีการแทรกแซงโดยมนุษย์” ดร.เจษฎ์อธิบาย
อีกทั้ง ในหลายๆ ประเทศมองการแทรกแทรงโดยมนุษย์ว่า เพราะธรรมชาติไม่สามารถสลัดหน่วยพันธุกรรมให้หลุดออกมา และดำรงอยู่ในสถานะใดสถานะหนึ่งที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ดังนั้นการค้นพบดังกล่าวทำให้เกิดสิ่งใหม่ จึงถือว่าเป็นการประดิษฐ์ คิดค้น หรือคิดทำ
กม.สิทธิบัตรไทยจดได้แค่ "กรรมวิธี"
ด้าน รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ นักวิชาการคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หากนักวิจัยจะยื่นจดสิทธิบัตรกระบวนการควบคุมความหอมในข้าว ด้วยข้อถือสิทธิเดียวกับสิทธิบัตรที่ได้จากสหรัฐฯ ก็สามารถทำได้ โดยถือเป็นสิทธิบัตรในกรรมวิธี
แต่หากต้องการให้มีการคุ้มครองถึงตัวยีนด้วย กฎหมายสิทธิบัตรในประเทศไทยไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้ เพราะยีนไม่ถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม หากได้รับสิทธิบัตรคุ้มครองกรรมวิธีหรือพันธุกรรม ผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ผู้อื่นจะใช้กรรมวิธีหรือพันธุกรรมนั้นไม่ได้เด็ดขาด มิฉะนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิบัตร และสิทธิบัตรนั้นจะคุ้มครองเฉพาะในประเทศที่ให้สิทธิบัตรเท่านั้น
เมื่อหมดอายุคุ้มครองของสิทธิบัตร กรรมวิธีหรือพันธุกรรมดังกล่าว จะตกเป็นสมบัติสาธารณะ ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ในขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาการคุ้มครองของสิทธิบัตร คนอื่นสามารถคิดค้นวิธีอื่นที่ทำให้ข้าวมีความหอมขึ้นได้โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตร
นอกจากนั้น ยังมีความกังวลกันด้วยว่า หากแก้ไขกฎหมายไทยเพื่อให้สามารถจดสิทธิบัตรพันธุกรรมข้าวได้ อาจช่วยคุ้มครองได้ระดับหนึ่ง แต่ผลเสียอาจมีมากว่า เพราะอาจเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากกว่า เข้ามาขอจดสิทธิบัตรพันธุกรรมพืชหรือสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีอยู่ในประเทศไทย
2 ระบบให้คุ้มครองพันธุกรรม แต่แนวคิดขัดกัน
ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ให้การรับรองสิทธิแต่ละประเทศจัดการพันธุกรรมที่มีอยู่ภายในดินแดนของตัวเอง โดยให้แต่ละชาติออกแบบเองว่าจะคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพในประเทศด้วยระบบหรือกฎหมายอะไร
ต่อมาองค์การการค้าโลกระบุในข้อตกลงทริปส์ (TRIPS Agreement) ว่าให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนของพันธุกรรม โดยให้ภาคีสมาชิกเลือกว่า จะใช้ระบบสิทธิบัตรหรือกฎหมายเฉพาะ ซึ่งไทยได้เลือกใช้กฎหมายเฉพาะ และออกมาเป็น พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ทว่าการเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลกระยะหลังได้มีการเรียกร้อง ให้เหลือเฉพาะระบบสิทธิบัตรเท่านั้น
"ปัญหาคือไทยเป็นภาคีสมาชิกทั้ง 2 องค์กร ซึ่งมีทั้งแนวคิดของระบบสิทธิบัตรเพื่อการแข่งขันในเวทีโลก และระบอบที่ให้มีกฎกติกาการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน เคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่น แต่ทั้ง 2 ระบบนี้มีหลายส่วนที่ขัดแย้งกัน แต่บางส่วนอาจไปด้วยกันได้ แล้วยุทธศาสตร์การคุ้มครองพันธุกรรมของไทยจะเป็นอย่างไร?" นายบัณฑูรตั้งคำถาม
"GI-พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช" ทางเลือกปกป้องข้าวไทย
นายบัณฑูร กล่าวว่า ยังมีทางเลือกอื่นในการคุ้มครองพันธุ์ข้าวไทย นอกเหนือจากระบบสิทธิบัตร เช่น กฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ (GI), กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ภายใต้ระบบกฎหมายเฉพาะของข้อตกลงทริปส์ รวมถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ที่แยกย่อยเป็นสิทธิเกษตรกร ซึ่งน่าจะมีการออกกฎหมายย่อยว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชนกับการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรม
แม้ระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะมีความได้เปรียบมากกว่าระบบสิทธิบัตร เพราะให้ความคุ้มครองในระยะยาว แต่ยังพบปัญหาในบางกรณี เช่น ข้าวสังข์หยดพัทลุง หรือข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งในการจดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะต้องมีการระบุเขตพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งนั้น โดยประชาพิจารณ์เพื่อจะขอยื่น GI แต่อาจเกิดความไม่ทั่วถึง ทำให้หลายชุมชนที่ปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าวมานาน แต่กลับอยู่นอกเขตพื้นที่และถูกตัดสิทธิในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้
ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้คุ้มครองได้ทั้งพันธุ์พืชพื้นเมืองและพันธุ์พืชใหม่ รศ.ดร.สุรวิช บอกว่า ยังไม่มีกฎหมายลูกในการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองออกบังคับใช้ ไม่สามารถให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองใดได้ แต่หากนักวิจัยคนใดสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวหรือพันธุ์พืชใหม่ได้ ก็ขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้
ผศ.ดร.สมชาย รัตนซื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายเสริมว่า ลักษณะการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ภายใต้กฎหมายนี้ จะใกล้เคียงกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพราะผู้คิดค้นพัฒนาพันธุ์ใหม่ขึ้นมาจะมีสิทธิในพืชพันธุ์ใหม่แต่เพียงผู้เดียว ขณะที่สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์จะไม่เข้มข้นมากเท่ากับเจ้าของสิทธิบัตร
(เก็บความจากวงสัมมนาเรื่อง "สิทธิบัตรพันธุกรรมข้าวหอมมะลิ : ยุทธศาสตร์คุ้มครองพันธุ์ข้าวไทย" เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.))
//////////////////////////////////////
สิทธิบัตรยีนข้าวหอม
รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมกับนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ค้นพบยีนควบคุมความหอมในข้าวตั้งแต่ปี 48 และได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองยีนดังกล่าวในสรัฐฯ ทันทีในปีเดียวกัน ตามด้วยการยื่นจดสิทธิบัตรในอีก 9 ประเทศ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพันธุ์ข้าว ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย ฝรั่งเศส ยุโรป (EPO) และไทย
กระทั่งวันที่ 15 ม.ค.51 ทีมนักวิจัยจึงได้รับสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ สำหรับผลงานวิจัยเรื่อง “Transgenic rice plants with reduced expression of Os2AP and elevated levels of 2-acetyl-1-pyrroline” เป็นประเทศแรก โดยให้ความคุ้มครองการเพิ่มความหอมในข้าวด้วยการกดการทำงานของยีนควบคุมความหอม
นักวิจัยหวังว่าการได้รับสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ จะทำให้ได้สิทธิบัตรจากประเทศอื่นเร็วขึ้น รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งต้องการให้ประเทศไทยรับจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองยีนความคุมความหอมของข้าว เพราะข้าวหอมเป็นเอกลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของไทย และในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ ยังให้สิทธิบัตรคุ้มครองพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ขณะที่อีกด้านหนึ่งคัดค้านเรื่องนี้เพราะอาจเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่าไทยเข้ามาขอจดสิทธิบัตรเพื่อยึดครองทรัพยากรพันธุกรรมในไทย