xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสิทธิบัตร "วิธีควบคุมยีนข้าวหอม" เผย "ออสเตรเลีย" คู่แข่งที่น่ากลัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร
เป็นที่น่าภาคภูมิใจสำหรับคนไทยที่นักวิจัยในชาติค้นพบ "ยีนความหอมในข้าว" จนได้สิทธิบัตรการควบคุมยีนดังกล่าวจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหนทาง ในการปกป้องข้าวไทยที่มีความโดดเด่นเรื่องความหอม แต่นักวิจัยไทยกำลังกังวลว่า "ออสเตรเลีย" ซึ่งเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวและค้นพบยีนความหอมเช่นกันจะได้รับสิทธิบัตรซึ่งจะครอบคลุมหลายประเทศกว่า

รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และนักวิจัยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จากทีมวิจัยค้นพบยีนความหอมในข้าว และได้รับสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ 15 ม.ค.51 จากการค้นพบ "วิธีควบคุมความหอมจากยีนข้าว" โดยเขาอธิบายถึงผลงานให้กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังว่า ได้ทดลองตัดต่อพันธุกรรม โดยใส่ยีนดังกล่าวในข้าวญี่ปุ่นที่ไม่หอมให้มีความหอมได้

ผลจากการจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ ซึ่งมีอายุคุ้มครอง 20 ปีนั้น ช่วยคุ้มครองข้าวไทย จากประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว และเป็นคู่แข่งของไทยได้ โดยผู้ที่จะนำชิ้นส่วนของยีนความหอมไปใช้ในข้าว ต้องขออนุญาตจากไทยก่อน ซึ่งเหตุผลที่ยื่นจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ นั้น รศ.ดร.อภิชาติให้เหตุผลกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่เป็นต้นกำเนิดทางด้านสิทธิบัตร และเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในวิทยาการด้านการตัดต่อพันธุกรรม

ไทยได้ค้นพบยีนความหอมตั้งแต่ปี 2548 และประกาศยืนยันการค้นพบ เมื่อกลางปี 2549 และปีเดียวกันนี้ ได้ยื่นขอสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ ซึ่งนักวิจัยข้าวจาก มก.บอกว่า ใช้เวลาได้เร็วกว่ายื่นขอสิทธิบัตรในไทย ซึ่งยื่นขอสิทธิบัตรเช่นเดียวกัน เนื่องจากสหรัฐฯ มีนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญและเข้าใจในด้านเคมี ชีววิทยา ทำให้เข้าใจในงานวิจัยที่ยื่นจดสิทธิบัตรได้เร็ว และยังได้ยื่นจดสิทธิบัตรในอีก 9 ประเทศ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพันธุ์ข้าว อาทิ จีน อินเดีย เวียดนาม ซึ่งหวังว่าการได้สิทธิบัตรจากสหรัฐฯ จะทำให้ได้สิทธิบัตรจากประเทศอื่นเร็วขึ้น

เปิดสิทธิบัตรวิธีควบคุมความหอมของข้าว

ตามสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ หมายเลข (Patent number) 7319181 เรื่อง “Transgenic rice plants with reduced expression of Os2AP and elevated levels of 2-acetyl-1-pyroline” ซึ่งระบุว่า รศ.ดร.อภิชาติและทีมวิจัย ได้ค้นพบยีนที่ควบคุมความหอมในข้าว (Os2AP) และจากการศึกษาการทำงานของยีนนี้ พบว่าในข้าวหอม ยีนนี้ถูกกดหรือถูกยับยั้ง ทำให้มีการสร้างสารหอมแทนการสร้างสารที่เป็นผลมาจากการแสดงออกของยีน Os2AP

ในขณะที่ข้าวสายพันธุ์ที่ไม่หอม ยีนนี้มีการแสดงออกหรือมีการทำงาน ทำให้สร้างสารอื่นแทนการสร้างสารหอม และจากการยับยั้งการแสดงออกของยีน Os2AP [ที่ปกติ] ในข้าวญี่ปุ่นสายพันธุ์นิพพอนบาเร พบว่า เมื่อมีการกดหรือยับยั้งการทำงานของยีนดังกล่าว ข้าวนิพพอนบาเรสามารถสร้างสารหอมได้ ซึ่งการค้นพบดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและพืชอื่นๆ ต่อไป

ส่วนบทคัดย่อในสิทธิบัตรระบุไว้ว่า สารประกอบ 2-อะเซทิล-1-ไพโรลีน (2-acetyl-1-pyrroline) เป็นสารที่มีกลิ่นหอมและมีอยู่ในข้าวหอมทุกชนิด สามารถทำการตัดต่อพันธุกรรมข้าวเพื่อให้มีการสร้างสารนี้มากขึ้นกว่าในธรรมชาติได้ โดยการลดการแสดงออกของยีน Os2AP และโปรตีนที่มีผลต่อการแสดงออกของสารหอมในข้าว ซึ่งจะทำให้ข้าวสร้างสารหอมและมีความหอมมากยิ่งขึ้น และสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิบัตร มีดังนี้

1.วิธีการเพิ่มความหอมในข้าว ด้วยการเพิ่มปริมาณสารประกอบ 2-acetyl-1-pyrroline ในข้าวตัดต่อพันธุกรรม เมื่อเทียบกับปริมาณของสารดังกล่าวในข้าวชนิดเดียวกันที่ไม่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งทำโดยการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อลดปริมาณของ mRNA ในส่วนที่มีรหัสพันธุกรรมประกอบด้วยกรดนิวคลิอิกในลำดับ SEQ ID NO: 5 และวิธีการลดปริมาณ mRNA โดยทำให้เกิดการแสดงออกของกรดนิวคลิอิกดังกล่าวในลักษณะ anantisense orientation หรือโดยการแสดงออกของ RNA interference (RNAi) ที่ประกอบด้วยลำดับนิวคลีโอไทด์ของกรดนิวคลิอิกดังกล่าวอย่างน้อย 20 นิวคลีโอไทด์ รวมถึงขั้นตอนการคัดเลือกพืชที่ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มกลิ่นหอมที่เหมือนข้าวโพดคั่ว (popcorn-like aroma) หรือการเพิ่มของสารประกอบ 2-acetyl-1-pyrroline ที่เกี่ยวข้องกับข้าวชนิดนี้

2. วิธีการในข้อ 1. ที่เกี่ยวกับการลดปริมาณ mRNA ของกรดนิวคลิอิกดังกล่าว โดยการแสดงออกของกรดนิวคลิอิกดังกล่าวในลักษณะ antisense orientation

3. วิธีการในข้อ 1 ที่เกี่ยวกับการลดปริมาณ mRNA ของกรดนิวคลิอิกดังกล่าว โดยการแสดงออกของกรดนิวคลิอิกดังกล่าวในภาวะที่มีโครงสร้างของ RNAi

4. วิธีการในข้อ 1 ที่โครงสร้างของ RNAi ประกอบด้วยนิวคลีโอไทด์ลำดับที่ 609-867 ของกรดนิวคลีอิก SEQ ID NO: 5

"คุมยีนความหอมข้าว" แข่งขันสูงหวั่นออสซี่ได้สิทธิมากกว่า

"การแข่งขันหายีนความหอมข้าวนี้แข่งขันกันสูงมาก มีประเทศอื่นๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน อาทิ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส แต่ไทยเราได้ทุ่มมาในเรื่องนี้อย่างมาก ซึ่งการค้นหายีนความหอมไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ เพราะต้องอาศัยประสาทสัมผัสในการดมกลิ่น เพื่อค้นหาว่ายีนได้ช่วยให้ข้าวแสดงความหอมหรือไม่ แต่ก็มีอีกวิธีในการวิเคราะห์สารประกอบทางเคมี แต่วิธีนี้ต้องลงทุนและใชปริมาณข้าวสูงมาก และยุ่งยากกว่า เราจึงใช้วิธีดม" รศ.ดร.อภิชาติกล่าว

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเมื่อได้สิทธิบัตรจากสหรัฐฯ แล้วจะวางใจได้ โดย รศ.ดร.อภิชาติได้บอกกับเราว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศที่น่ากลัวในการแข่งขันเรื่องการวิจัยยันความหอมของข้าว และได้ยื่นขอสิทธิบัตรไล่หลังไทยไม่นานนัก และยังได้ยื่นขออนุสิทธิบัตร ซึ่งเป็นเสมือนการ "จองชื่อ" ไว้ก่อน จากงานวิจัยด้านยีนความหอมเช่นกันในออสเตรเลีย จากนั้นได้ยื่นขอสิทธิบัตรจากระบบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรหรือพีซีที (Patent Co-operation Treaty: PCT) ซึ่งมีหน่วยงานรับจดสิทธิบัตรที่หลายประเทศเป็นสมาชิก และหากออสเตรเลียได้สิทธิบัตรจากหน่วยงานนี้ผลงานจะได้รับคุ้มครองในหลายประเทศและยังมีผลย้อนไปก่อนไทย 3 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่ได้อนุสิทธิบัตร.
เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” (ภาพจากไบโอเทค)
ด้านหลังของเหรียญ (ภาพจากไบโอเทค)
กำลังโหลดความคิดเห็น