xs
xsm
sm
md
lg

คำอุทธรณ์ศาลชั้นต้น คดี "อนันต์" ฟ้อง "เดชา" กรณีจีเอ็มโอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คดีหมายเลขดำที่ 4019 / 2543
คดีหมายเลขแดงที่ 5472 / 2545
ศาลอาญากรุงเทพใต้
วันที่ 14 เดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2545
ความอาญา

ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดโจทย์
นายอนันต์ ดาโลดม โจทย์ร่วม
นายเดชา ศิริภัทร จำเลย

ข้อหาหรือฐานความผิดหมิ่นประมาท
จำนวนทุนทรัพย์……………… บาท…………….. สตางค์

ข้าพเจ้า นายเดชา ศิริภัทร จำเลย
ขอยื่นอุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษา ลงวันที่ 29 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2545
ที่ได้อ่านเมื่อวันที่ 29 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2545 มีข้อความตามที่จะกล่าวต่อไปนี้

ข้อ 1 โจทย์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 เวลากลางวันจำเลยใส่ความนายอนันต์ ดาโลดม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้เสียหาย ด้วยการกล่าวในที่ประชุมสัมมนา เรื่อง แนวทางการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืนที่โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาครัฐ และเอกชน มีใจความตอนหนึ่งว่า “ผมอยากให้เห็นชัดๆ นะครับว่า ในกระทรวงเกษตรนี้ กรมวิชาการเกษตร ถามว่าท่านมีอธิบดีตอนนี้ อธิบดีท่านมาจากไหน มาจากรองปลัด ก่อนรองปลัดมาจากไหน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำไมออกจากกรรมส่งเสริมการเกษตรไปเล่า ท่านยังมีมลทินอยู่เลยใช่ไหม แล้วคุณมากรมวิชาการนี้ คุณมาอย่างโปร่งใสหรือเปล่า ทำไมท่านอาจารย์ชนวน ท่านนั่งอยู่นี่ ท่านเป็นลูกหม้อท่านเป็นผู้อาวุโสสูงสุด ทำไมท่านต้องมาเป็นผู้ตรวจ มีใครพูดไหมครับ แล้วจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันว่ามีการซื้อตำแหน่งให้กัน แล้วใครซื้อ ซื้อใคร ก็รู้กันทั้งหมด คุณไม่ต้องพูดตรงนี้ แล้วคุณไปยอมรับคนพวกนี้มาบริหารกระทรวง มาบริหารกรมได้อย่างไร คุณก็ออกจากกรมคุณสิครับ มันจะไปอยู่ได้ยังไง เพราะคนแบบนี้เข้ามา คุณก็เอา บี.ที. เข้ามา เอา จี เอ็ม โอ เอส เข้ามาเพราะคุณไปรับใช้บริษัทนั้นใช่ไหมครับ” ซึ่งคำกล่าวของจำเลยเจตนาให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าใจว่าอธิบดีกรมวิชากาเรกษตรคนปัจจุบันคือนายอนันต์ ดาโลดม ผู้เสียหาย ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ เพราะไม่มีความรู้ความสามารถในการบริหารกรมวิชาการเกษตร ทั้งยังคอยรับใช้บริษัทเอกชนเพื่อมุ่งแต่จะหาผลประโยชน์ในกรมวิชาการเกษตร โดยผู้เสียหายในฐานะเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 จะอนุญาตให้นำ จี เอ็ม โอ เอส (สารตัดต่อพันธุกรรม) และ บีที (แบคทีเรียที่มีสารต่อต้านแมลงเจาะสมอฝ้าย) เข้ามาในราชอาณาจักร เอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนดังกล่าว ซึ่งข้อความของจำเลยล้วนเป็นเท็จทั้งสิ้น เป็นการใส่ความนายอนันต์ ดาโลดม โดยประการที่น่าจะทำให้นายอนันต์ ดาโลดม ผู้เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง ดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยามและถูกเกลียดชังจากผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาและประชาชนทั่วไป ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2543 จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน เหตุเกิดที่แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332 และให้จำเลยลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีกำหนด 3 ครั้ง โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ในระหว่างการพิจารณานายอนันต์ ดาโลดม ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ศาลอนุญาต
ทางพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 ระหว่าง 8.30 ถึง 16.30 นาฬิกา สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่องการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ที่โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมในการสัมมนา โดยจำเลยเข้าร่วมในการอภิปรายด้วย ซึ่งการอภิปรายดังกล่าวผู้อภิปรายได้พูดผ่านเครื่องกระจายเสียง ระหว่างที่จำเลยขึ้นเป็นผู้อภิปรายจำเลยกล่าวข้อความตอนหนึ่งซึ่งพาดพิงถึงนายอนันต์ ดาโลดม โจทก์ร่วมอธิบดีกรมวิชาการเกษตรในขณะนั้นว่า “ผมอยากให้เห็นชัดๆ นะครับว่า ในกระทรวงเกษตรนี้ กรมวิชาการเกษตร ถามว่าท่านมีอธิบดีตอนนี้ อธิบดีท่านมาจากไหน มาจากรองปลัด ก่อนรองปลัดมาจากไหน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำไมออกจากกรรมส่งเสริมการเกษตรไปเล่า ท่านยังมีมลทินอยู่เลยใช่ไหม แล้วคุณมากรมวิชาการนี้ คุณมาอย่างโปร่งใสหรือเปล่า ทำไมท่านอาจารย์ชนวน ท่านนั่งอยู่นี่ ท่านเป็นลูกหม้อท่านเป็นผู้อาวุโสสูงสุด ทำไมท่านต้องมาเป็นผู้ตรวจ มีใครพูดไหมครับ แล้วจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันว่ามีการซื้อตำแหน่งให้กัน แล้วใครซื้อ ซื้อใคร ก็รู้กันทั้งหมด คุณไม่ต้องพูดตรงนี้ แล้วคุณไปยอมรับคนพวกนี้มาบริหารกระทรวง มาบริหารกรมได้อย่างไร คุณก็ออกจากกรมคุณสิครับ มันจะไปอยู่ได้ยังไง เพราะคนแบบนี้เข้ามา คุณก็เอา บี.ที. เข้ามา เอา จี เอ็ม โอ เอส เข้ามาเพราะคุณไปรับใช้บริษัทนั้นใช่ไหมครับ” นายประเสริฐ สุดใหม่ นายวิเชียร เพชรพิสิฐ และนายเสถียร พิมสาร ซึ่งเป็นข้าราชการกรมวิชาการเกษตรและเข้าร่วมสัมมนาในเวลาดังกล่าวได้ทำรายงานให้โจทก์ร่วมจึงมีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อขอทราบรายละเอียดและขอเทปบันทึกการสัมมนา ต่อมานายเกษมสันต์ จิณณวาโส ผู้อำนวยการกองโครงการเศรษฐกิจมีหนังสือถึงโจทก์ร่วม แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และส่งเทปบันทึกการสัมมนาในช่วงดังกล่าวไปให้โจทก์ร่วม แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และส่งเทปบันทึกการสัมมนาในช่วงดังกล่าวไปให้โจทย์ร่วมตามเอกสารหมาย จร.2 เมื่อโจทก์ร่วมฟังเทปดังกล่าวตามเอกสารหมายเลข จ.5 และ จ.6 ปรากฏว่าจำเลยกล่าวข้อความตามที่โจทก์ร่วมได้รายงานจริง โจทก์ร่วมจึงให้นายศักดา กศิวิทย์ ทนายความเป็นผู้ถอดเทปการสัมมนาในวันดังกล่าว หลังจากนั้นมีคนรู้จักโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องดังกล่าวกับโจทก์ร่วมได้ตำแหน่งมาด้วยการซื้อขาย ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสีย ถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม และถูกเกลียดชังจากผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาและประชาชนทั่วไป รวมทั้งทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความหวั่นไหว ความศรัทธาเชื่อถือที่มีลดน้อยลง โจทก์ร่วมจึงมอบอำนาจให้นายศักดา กศิวิทย์ เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแก่จำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสียง ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งนายศักดาได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2542 พนักงานสอบสวนจึงมีหมายเรียกจำเลยและจำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนวันที่ 20 มกราคม 254 ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
จำเลยนำสืบว่าเลยเป็นประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเอกแห่งประเทศไทย โดยเครือข่ายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลให้สนับสนุนการเกษตรที่ปลอดสารเคมี วันเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้อภิปรายข้อความตามโจทก์ฟ้องจริง ยกเว้นข้อความที่ว่า “คุณก็ออกจากกรมสิครับ” ความจริงจำเลยกล่าวว่า “คุณก็เตะเกษตรยั่งยืนออกจากกรมคุณสิครับ” เหตุที่จำเลยกล่าวข้อความตามที่โจทก์ฟ้องเนื่องจากจำเลยต้องการอธิบายว่าเหตุใดเกษตรแบบยั่งยืนจึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร โดยยกตัวอย่างเพียงบางส่วนจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการซึ่งลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ จำเลยสอบถามทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการว่าการลงข้อความดังกล่าวถูกฟ้องหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่าไม่มีการฟ้องร้อง แต่โจทก์ร่วมมีหนังสือชี้แจงไปที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการว่าข้อความที่ลงในหนังสือพิพม์ไม่เป็นความจริง แต่ไม่มีการขอให้หนังสือพิมพ์ลงแก้ข่าว จำเลยคิดว่าหากเรื่องดังกล่าวไม่จริงก็ควรถูกฟ้อง จึงนำไปกล่าวในการสัมมนา เหตุที่โจทก์ร่วมโกรธและฟ้องคดีนี้สาเหตุเพราะจำเลยเป็นผู้คัดค้านเกี่ยวกับการนำพืช จี เอ็ม โอ เข้ามาปลูกในประเทศไทยและเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีฝ้ายบีทีหลุดลอดไปในแปลงเกษตรกร ซึ่งโจทก์ร่วมในฐนะอธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นผู้ดูแลต้องรับผิดชอบ และฝ้าย บี. ที. เป็นพันธุ์ฝ้ายที่บริษัทมอนซานโต้เป็นบริษัทผู้นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อจำเลยตรวจพบว่าเกษตรกรปลูกฝ้ายบีทีอย่างแพร่หลายจึงได้เก็บส่งให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมตรวจสอบ พบว่าเป็นฝ้าย บี. ที. จำเลยจึงนำเรื่องเสนอนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นตรวจสอบโดยยื่นเรื่องดังกล่าวที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและดำเนินคดีต่อบริษัทมอนซานโต้และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ทำให้โจทก์ร่วมไม่พอใจ เมื่อแถลงข่าวเสร็จได้เดินไปหาจำเลยพร้อมกับชี้หน้าและกล่าวอาฆาตว่า “เจอกันในศาลแน่นอน” หลังจากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเร่องดังกล่าวโดยจำเลยเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ในการทำหนังสือร้องเรียนดังกล่าวเกี่ยวข้อง 2 ฐานะ คือในฐานะประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และในฐานะที่ปรึกษาของเครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย นอกจากนี้ก่อนหน้านี้ ในช่วงปี พ.ศ.2540 โจทก์ร่วมเป็นประธานกรรมการบริหารโครงการทดสอบฝ้ายพันธุ์บีที ได้ตั้งคนของบริษัทมอซานโต้ จำนวน 3 คน เป็นกรรมการร่วมด้วย ตามเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและเป็นเจ้าของพันธุ์ฝ้าย กลุ่มของจำเลยจึงร้องเรียนขอให้เปลี่ยนกรรมการชุดใหม่ องค์กรที่จำเลยทำงานอยู่ได้ในนำคำแถลงต่อสื่อมวลชนและสาธารณะเพื่อเปิดโปงเงื่อนงำและความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการดังกล่าว หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งดังกล่าว และโจทก์ร่วมได้แสดงความโกรธฝ่ายที่ยื่นหนังสือ
ระหว่างสืบพยานจำเลย หลังจากเปิดแถบบันทึกเสียงหมายเลข จ.6 แล้ว คู่ความแถลงรับกันว่า ข้อความตามฟ้องโจทก์ที่ระบุว่าจำเลยกล่าวว่า “คุณก็ออกจากรมคุณสิครับ” ความจริงแล้วจำเลยกล่าวว่า “คุณก็เตะเกษตรแบบยั่งยืนกระเด็นออกไปจากกรมคุณสิครับ”
พิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยและข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 เวลา 8.30 - 16.30 น. สภาพัฒน์ฯ จัดให้มีการสัมมนาเรื่องของการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืนที่โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ ในการอภิปราย ผู้อภิปรายจะอภิปรายผ่านเครื่องกระจายเสียง จำเลยซึ่งเป็นผู้อภิปราย ผู้อภิปรายจะอภิปรายผ่านเครื่องกระจายเสียง จำเลยซึ่งเป็นผู้อภิปรายคนหนึ่งกล่าวข้อความดังโจทก์ร่วมช่วงหนึ่งว่า "ในกระทรวงเกษตร กรมวิชาการเกษตร ผมอยากจะยกให้ชัดๆ นะครับว่า ในกระทรวงเกษตรนี้ กรมวิชาการเกษตร ถามว่ามีท่านอธิบดีตอนนี้ อธิบดีท่านมาจากไหน มาจากรองปลัด ก่อนรองปลัดมาจากไหน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำไมออกจากกรมส่งเสริมการเกษตรไปเล่า ท่านยังมีมลทินอยู่เลยใช่ไหมครับ แล้วคุณมากรมวิชาการนี้ คุณมาอย่างโปร่งใสหรือเปล่า ทำไมท่าน อาจารย์ชนวน ท่านนั่งอยู่นี่ ท่านเป็นลูกหม้อ ท่านเป็นผู้อาวุโสหรือเปล่า ทำไมท่านต้องมาเป็นผู้ตรวจฯ มีใครพูดไหมครับ แล้วจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันว่ามีการซื้อตำแหน่งให้กัน แล้วใครซื้อ ใครก็รู้ทั้งหมด คุณไม่ต้องพูดตรงนี้ แล้วคุณไปยอมรับคนพวกนี้มาบริหารกระทรวง มาบริหารกรมได้อย่างไร คุณก็เตะเกษตรยั่งยืนกระเด็นออกไปจากกรมคุณสิครับ มันจะไปอยู่ได้อย่างไร เพราะคนแบบนี้เข้ามา เอา จี เอ็ม โอ เอส เข้ามา เพราะคุณไปรับใช้บริษัทนั้นใช่ไหมครับ" มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าว เป็นความผิดตามฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมี นายประเสริฐ สุขใหม่ เบิกความว่า เมื่อได้ฟังข้อความที่จำเลยกล่าวถึงโจทก์ร่วม พยานมีความรู้สึกหวั่นไหว ไม่มั่นใจในโจทก์ร่วม จึงเข้าไปสอบถามเรื่องดังกล่าวกับโจทก์ร่วม ก็ได้รับคำปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ต่อมาได้ร่วมกับนายเสถียร พิมสาร กับนายวิเชียร เพชรพิสิฐ ทำหนังสือรายงานผลการสัมมนา เอกสารหมาย จร.๑ ถึงโจทย์ร่วม นอกจากนี้โจทย์ยังมีนายอนันต์ ดาโลดม โจทก์ร่วมเบิกความว่า หลังจากที่จำเลยกล่าวข้องความตามฟ้อง มีบุคคลหลายคนสอบถามโจทก์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ร่วมได้ตำแหน่งมาโดยการซื้อขาย ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย เห็นว่าข้อความที่จำเลยกล่าว "ผมอยากให้เห็นชัดๆ นะครับว่า ในกระทรวงเกษตรนี้ กรมวิชาการเกษตร ถามว่ามีท่านอธิบดีตอนนี้ อธิบดีท่านมาจากไหน มาจากรองปลัด ก่อนรองปลัดมาจากไหน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำไมออกจากกรมส่งเสริมการเกษตรไปเล่า ท่านยังมีมลทินอยู่เลยใช่ไหมครับ" นั้น แม้ประโยคที่ว่าท่านยังมีมลทินอยู่ใช่ไหม เมื่อฟังแล้วทำให้ผู้ฟังคิดว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้มีมลทินในการปฏิบัติราชการ ขณะที่ปฏิบัติราชการอยู่ที่กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งอาจทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายก็ตาม แต่ในเรื่องนี้ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ขณะที่โจทก์ร่วมดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร โจทก์ร่วมเคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ร่วมได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการขุดบ่อน้ำตื้น ๑๑ จังหวัด ซึ่งผลการสอบสวนระบุว่า โจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เมื่อข้อความที่จำเลยกล่าวมีมูลความจริงในส่วนที่ว่า โจทก์ร่วมเคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เชื่อว่าจำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวโดยสุจริต โดยเชื่อว่าเป็นความจริงดังที่ตนเข้าใจ จึงได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้ ข้อความต่อไปที่ว่า "แล้วคุณมากรมวิชาการนี้ คุณมาอย่างโปร่งใสหรือเปล่า ทำไมท่าน อาจารย์ชนวน ท่านนั่งอยู่นี่ ท่านเป็นลูกหม้อ ท่านเป็นผู้อาวุโสหรือเปล่า ทำไมท่านต้องมาเป็นผู้ตรวจฯ มีใครพูดไหมครับ" นั้น แม้ข้อความที่จำเลยกล่าว เมื่อคนทั่วไปฟังแล้ว โจทก์ร่วมเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรอย่างไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามอาวุโส ซึ่งทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่คำกล่าวของจำเลยเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ และเป็นการเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากขณะนั้นมีผู้อาวุโสสูงสุด ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คือนายชนวน รัตนวราหะ และในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งคือผู้มีอาวุโสสูงสุด ซึ่งโจทก์ก็มิได้นำสืบว่า นายชนวนมิใช่ผู้มีอาวุโสสูงสุดในขณะนั้น และมิได้นำสืบให้เห็นว่า ในทางปฏิบัติ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด เมื่อโจทย์ร่วมได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งผิดจากความคาดหมายของวิญญูชนพึงคาดเห็นเช่นนั้น จึงมีเหตุผลที่ทำให้จำเลยเชื่อเช่นนั้น และหากเป็นการเข้าใจผิด แต่เมื่อกล่าวโดยสุจริตจึงได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้เช่นเดียวกัน

ส่วนข้อความต่อไปที่ว่า "แล้วจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันว่ามีการซื้อตำแหน่งให้กัน แล้วใครซื้อ ใครก็รู้ทั้งหมด คุณไม่ต้องพูดตรงนี้ แล้วคุณไปยอมรับคนพวกนี้มาบริหารกระทรวง มาบริหารกรมได้อย่างไร คุณก็เตะเกษตรยั่งยืนกระเด็นออกไปจากกรมคุณสิครับ มันจะไปอยู่ได้อย่างไร เพราะคนแบบนี้เข้ามา เอา จี เอ็ม โอ เอส เข้ามา เพราะคุณไปรับใช้บริษัทนั้นใช่ไหมครับ" เห็นว่า เมื่อจำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเข้าใจว่า มีผู้ซื้อตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้โจทก์ร่วม และเมื่อโจทก์ร่วมเข้ามาบริหารราชการในกรมวิชาการเกษตร ก็นำฝ้าย บี. ที. ซึ่งเป็นพืช จี เอ็ม โอ เข้ามาปลูกในประเทศไทย เนื่องจากโจทก์ร่วมทำงานรับใช้บริษัทดังกล่าว ซึ่งทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้เข้าฟังการสัมมนา และประชาชนทั่วไป แม้ว่าข้อความนำจำเลยหากเป็นความจริงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่จำเลยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นจริง และไม่มีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มาอ้างอิง เพียงแต่กล่าวอ้างว่า นำข้อความดังกล่าวมาจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และจำเลยไม่ได้อ้างถึงข้อความอื่นใดที่ทำให้จำเลยกล่าวว่าจะเป็นความจริงดังที่จำเลยกล่าวหรือไม่ นอกจากนี้จำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงแหล่งข่าวที่ให้ข่าวในเรื่องดังกล่าวแก่หนังสือพิพม์ว่าน่าเชื่อถือเพียงใด แม้ในคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ร่วมเป็นประธานกรรมการและแต่งตั้งบุคคลภายนอกจากบริษัทมอนซานโต้ จำกัด เข้าร่วมเป็นกรรมการก็ตาม แต่ผู้ที่มีคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวไม่ใช่โจทก์ร่วม และจำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์ร่วมรู้หรือสนับสนุนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งบุคคลภายนอกดังกล่าวอย่างไร จำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้มาสนับสนุน ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สำหรับนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ พยานจำเลยที่อ้างว่ารู้เห็นเรื่องการซื้อขายตำแหน่งด้วยตนเองนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนคำเบิกความดังกล่าว นอกจากเป็นเรื่องที่นายวิฑูรย์คิดเอาว่าเป็นเช่นนั้น จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้จำเลยก็ทราบว่า เมื่อหนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงข่าวดังกล่าว แม้โจทก์ร่วมจะไม่ได้ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และไม่มีการลงข่าวแก้ก็ตาม แต่จำเลยก็ทราบดีว่า โจทก์ร่วมมีหนังสือแก้ข้อกล่าวหาไปยังหนังสือพิมพ์ผู้จัดการแล้ว จำเลยจะอ้างว่าเป็นกล่าวโดยเชื่อโดยสุจริตไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการยืนยันให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเชื่อว่า โจทก์ร่วมเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยมีบริษัทเอกชนซื้อตำแหน่งให้ และเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งก็บริหารราชการโดยส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์ต่อบรษิทเอกชนดังกล่าว เมื่อจำเลยกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงที่ยังไม่เป็นที่ยุติว่าเป็นความจริงหรือไม่ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จึงมิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยที่จำเลยในฐานะประชาชนมีสิทธิกระทำได้ ซึ่งการติชมดังกล่าวต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิตามกฎหมายของผู้อื่น และไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย

แต่ข้อความที่จำเลยกล่าวเป็นการกล่าวโดยมุ่งหวังจะทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม อันเป็นการส่อแสดงเจตนาไม่สุจริต จึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สาม โดยการโฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสีย โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ และ ๓๓๐

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ข้อ 2 ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยในส่วนของข้อความที่ศาลนำมาลงโทษจำเลยในส่วนที่ว่า “แล้วจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันว่ามีการซื้อตำแหน่งให้กัน แล้วใครซื้อ ใครก็รู้ทั้งหมด คุณไม่ต้องพูดตรงนี้ แล้วคุณไปยอมรับคนพวกนี้มาบริหารกระทรวง มาบริหารกรมได้อย่างไร คุณก็เตะเกษตรยั่งยืนกระเด็นออกไปจากกรมคุณสิครับ มันจะไปอยู่ได้อย่างไร เพราะคนแบบนี้เข้ามา เอา จี เอ็ม โอ เอส เข้ามา เพราะคุณไปรับใช้บริษัทนั้นใช่ไหมครับ"

จึงขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังต่อไปนี้

ก. กรณีมีผู้ซื้อตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้โจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงส่วนนี้โจทก์ร่วมยอมรับในการตอบคำถามค้านทนายจำเลยในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 ยอมรับว่าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการนำไปลงพิมพ์โจมตีโจทก์ร่วมกล่าวหาว่า บริษัท มอนซานโต้ สนับสนุนให้โจทก์ร่วมได้ตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และทุกวันนี้ก็ยังมีข่าวเรื่องข้าราชการซื้อขายตำแหน่ง และยังยอมรับด้วยว่าได้พานายพีระยุทธ์ฯ กรรมการผู้จัดการบริษัทมอนซานโต้ ติดตามนายกริช กงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปต่างประเทศด้วย ซึ่งข่าวลงว่าเพื่อติดสอยห้อยตามคอยบริการรับใช้รัฐมนตรี ซึ่งข่าวที่ทำให้โจทก์ร่วมเสียหายเช่นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ วางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ก่อนหน้าที่จำเลยจะนำมาอภิปรายตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ได้รับเชิญเป็นการเฉพาะเจาะจงจากสภาพัฒน์ฯ

แต่โจทก์ร่วมกลับไม่ฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ โดยอ้างว่าคนที่อ่านหนังสือพิพม์ผ็จัดการแล้วไม่มีใครโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องซื้อตำแหน่ง แต่หลังจากจำเลยอภิปรายมีคนสนใจโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะจำเลยมีความน่าเชื่อถือมากกว่าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งศาลที่นั่งพิจารณาคดีไม่ยอมจดบันทึกข้อความส่วนนี้ไว้ จำเลยจึงได้ยื่นแถลงคัดค้านไว้ตามคำร้องของจำเลยลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ทั้งนี้เพราะจำเลยเห็นว่าโจทก์ร่วมเบิกความเป็นเท็จขัดต่อเหตุผลสามัญที่คนธรรมดาจะต้องเชื่อถือหนังสือพิพม์ผู้จัดการมากกว่าเชื่อถือจำเลยอย่างแน่นอน เมื่อโจทก์ร่วมไม่กล้าฟ้องหนังสือพิพม์ผู้จัดการทำให้จำเลยเชื่อว่าพฤติกรรมของโจทก์ร่วมที่ไปต่างประเทศกับกรรมการผู้จัดการ บริษัท มอนซานโต้ ร่วมกับรัฐมนตรี และต่อมาก็ปรากฏว่ามีเมล็ดพันธุ์ฝ้าย บี.ที. หลุดออกจากแปลงทดลองในสมัยที่โจทก์ร่วมเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และเป็นผู้รับผิดชอบมิให้พันธุ์ฝ้าย บี.ที. หลุดรอดออกไป ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืชฯ ซึ่งจำเลยกับพวกก็ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษโจทก์ร่วมไว้แล้ว จึงน่าเชื่อว่ามีการซื้อขายตำแหน่งจริง ซึ่งโจทก์ร่วมก็ยอมรับว่ามีข่าวเรื่องข้าราชการซื้อขายตำแหน่ง

การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการที่จำเลยกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงที่ยังไม่เป็นที่ยุติว่าเป็นความจริงหรือไม่นั้น จำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด เพราะจำเลยไม่ได้กล่าวยืนยันว่าโจทก์ร่วมซื้อตำแหน่งจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงหรือเท็จ เพราะหากเป็นความจริงก็เป็นเรื่องสมยอมกัน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน แต่จำเลยกล่าวด้วยเจตนาที่จะตอบคำถามที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาคือตัวแทนจากกรมพัฒนาที่ดินที่ถามว่าให้จำเลยตอบตามตรงไม่อ้อมค้อมว่าเหตุใดเกษตรยั่งยืนจึงดำเนินการไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงเป็นการติชมโจทก์ร่วมในฐานะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่มีหน้าที่ทำให้โครงการเกษตรยั่งยืนเป็นไปตามเป้าหมายของสภาพัฒน์ฯ แต่โจทก์ร่วมกลับมิได้ดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย จำเลยจึงกล่าวแสดงความคิดเห็นตามข้อความที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงตีพิมพ์โดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ มิได้มุ่งหวังจะทำลายชื่อเสียงโจทก์ด้วยเจตนาไม่สุจริตดังที่ศาลชั้นต้นว่า เพราะโจทก์ร่วมและจำเลยไม่เคยรู้จักกัน ไม่มีสาเหตุส่วนตัวที่จะโกรธเคืองกัน เพียงแต่จำเลยมีแนวความคิดเห็นในทางเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีและเป็นผู้ยืนหยัดผลักดันจนแนวทางเกษตรยั่งยืนถูกบรรจุเข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ซึ่งขัดแย้งกับพฤติกรรมของโจทก์ร่วมที่ส่อแสดงว่าช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท มอนซานโต้ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นการเกษตรตัดต่อพันธุกรรม ใช้สารเคมี จนหนังสือพิมพ์ลงข่าวใหญ่ครึกโครมดังที่จำเลยนำสืบ เหตุที่จำเลยพูดก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน มิใช่เรื่องส่วนตัว จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ข. กรณีโจทก์ร่วมเข้ามาบริหารราชการในกรมวิชาการเกษตรก็นำฝ้าย บี. ที. ซึ่งเป็นพืช จี เอ็ม โอ เข้ามาปลูกในประเทศ เนื่องจากโจทก์ร่วมทำงานรับใช้บริษัทดังกล่าว ประเด็นนี้โจทก์ร่วมก็ยอมรับว่ามีการตั้งคนบริษัท มอนซานโต้ เข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาการปลูกฝ้าย บี. ที. ในชุดที่โจทก์ร่วมเป็นประธาน แม้โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ลงนามแต่งตั้ง แต่ในฐานะประธานก็ต้องทราบว่าการตั้งผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมชี้เป็นชี้ตาย เป็นเรื่องต้องห้าม ไม่โปร่งใส เพราะมีความขัดแย้งกันในผลประโยชน์ โจทก์ร่วมก็น่าจะให้คำแนะนำแก่คนของบริษัทมอนซานโต้ให้ถอนตัวไป ไม่น่าจะต้องให้พวกจำเลยคัดค้านจึงยอมถอนตัว ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ร่วมรู้เห็นอย่างไรในการตั้งคนของ บริษัท มอนซานโต้ เป็นกรรมการตามเอกสาร ล.8 ข้อนี้จำเลยได้นำสืบต่อมาว่าพันธุ์ฝ้าย บี. ที. หลุดออกไปปลูกนอกแปลงทดลอง นับเป็นจำนวนหมื่นไร่ที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โจทก์ร่วมเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จนมีเรื่องขัดแย้งวิวาทะระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ซึ่งหนังสือลงข่าวครึกโครมมากในขณะนั้น และพันธุ์ฝ้าย บี.ที. ก็เป็นของบริษัทมอนซานโต้ อีกทั้งโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายที่ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีพันธุ์ฝ้าย บี.ที. หลุดออกจากแปลงทดลองของกรมวิชาการเกษตร จนจำเลยสามารถจับผิดนำผลการตรวจพิสูจน์ ดี.เอ็น.เอ. ของเมล็ดฝ้ายและสมอฝ้าย จากศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติ มายืนยันต่อหน้ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายเนวิน ชิดชอบ ที่โรงแรมมิราเคิล จนทำให้โจทก์ร่วมเดินมาชี้หน้าจำเลยกล่าวอาฆาตว่า “เจอกันที่ศาล” ข้อเท็จจริงนี้จึงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมเข้ามาบริหาร กรมวิชาการเกษตร แล้วเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทมอนซานโต้อย่างมากเป็นพิเศษจริง จำเลยจึงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นความจริง

ค. โจทก์และโจทก์ร่วมนำข้อความอันเป็นเท็จมาฟ้องและนำสืบบิดเบือนยืนยันข้อความอันเป็นเท็จ โดยใส่ร้ายจำเลยว่า จำเลยพูดคำว่า “เตะมันออกไปเสีย” ซึ่งหมายถึงเตะโจทก์ร่วมออกไปเสียจากกรมวิชาการเกษตร โดยโจทก์ร่วมเบิกความตอบอัยการโจทก์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 ความว่า …… “หลังจากได้รับเทปทั้งสองตลับ ข้าฯ นำมาเปิดฟังพบว่ามีการอภิปรายกล่าวพาดพิงถึงข้าฯ จริง โดยมีข้อความที่กล่าวโดยจำเลยตอนหนึ่งว่า “อธิบดีกรมวิชากรเกษตรมาจากไหน มาจากรองปลัดกระทรวงใช่หรือไม่ และก่อนหน้านี้มาจากกรมส่งเสริมการเกษตรใช่หรือไม่ ทำไมออกจากกรมส่งเสริมการเกษตร เพราะมีมลทินใช่หรือไม่ ทำไมไม่เอาท่านผู้ตรวจชนวนซึ่งนั่งอยู่ตรงนี้ขึ้นตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีคนนี้มาได้อย่างไร มีการซื้อขายตำแหน่งใช่หรือไม่ ใครซื้อ ซื้อใคร รู้กันไปทั่ว คนอย่างนี้ท่านจะเอามาบริหารกรมได้อย่างไร เตะมันออกไปเสีย เมื่อเข้ามาก็เอา จี เอ็ม โอ เข้ามา เอา บี. ที. เข้ามา รับใช้บริษัทนั้นใช่หรือไม่” ซึ่งความจริงจำเลยมิได้พูดข้อความว่าเตะมันออกไปเสีย แต่จำเลยพูดว่า “เตะเกษตรยั่งยืนกระเด็นออกไปจากกรมคุณซิครับ” ซึ่งมีความหมายผิดไปจากที่โจทก์ร่วมพูดอย่างมีสาระสำคัญ แม้ทนายจำเลยพยายามซักค้านว่าจำเลยมิได้พูดแต่โจทก์ร่วมก็ตอบบ่ายเบี่ยง จนกระทั่งทนายจำเลยขอให้ศาลเปิดเทปที่โจทก์อ้างส่ง หมาย จ.6 กลางศาล โจทก์จึงยอมรับว่ามีข้อความว่า คุณก็เตะเกษตรแบบยั่งยืนออกไปซิครับ ตามรายงานกระบวนการพิจารณาวันที่ 19 ธันวาคม 2544 โจทก์ร่วมจึงมาศาลด้วยมือที่ไม่สะอาด โดยโจทก์ร่วมต้อการทำให้จำเลยยุติการเคลื่อนไหวคัดค้านพืชตัดต่อพันธุกรรม (จี เอ็ม โอ) พยานหลักฐานที่อ้างว่าโจทก์ร่วมเสียหายจึงไม่น่าเชื่อถือ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพยานของโจทก์ร่วมที่อ้างว่าเป็นผู้ทำบันทึกรายงานถึงโจทก์ร่วม ตามเอกสาร จร.1 ได้แก่นายประเสริฐ สุดใหม่ นายเสถียร พิมสาร และนายวิเชียร เพชรพิสิฐ ล้วนเป็นลูกน้องโจทก์ร่วมทั้งสิ้น และเป็นผู้ทำรายงานเท็จที่พยายามสื่อให้เห็นว่า จำเลยพูดว่าให้เตะโจทก์ร่วมออกไปจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อจะให้ศาลลงโทษจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่น่าเชื่อถือ มีเหตุให้ระแวงสงสัย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

2.2 เหตุที่จำเลยพูด เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในส่วนขององค์กรเอกชนภาคประชาชน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และเป็นการพูดตรงประเด็นตามหัวข้อที่ได้รับเชิญจากสภาพัฒน์ฯ เพื่อประเมินผลว่าโครงการ 25 ล้านไร่ของเกษตรแบบยั่งยืนได้ดำเนินการไปถึงไหน ดังนั้นการที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องดูข้อความทั้งหมดที่จำเลยพูดอภิปราย เพราะจำเลยพูดถึงอุปสรรคปัญหาต่างๆ หลายประกา เพียงแต่มีบางส่วนที่เกิดปัญหาในเรื่องตัวบุคคล คือตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรผู้รับผิดชอบนโยบายเกษตรยั่งยืนด้วย มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สนับสนุนเกษตรยั่งยืน จำเลยจึงได้ตอบคำซักถามผู้เข้าร่วมสัมมนาโดยแจ้งว่าเป็นข้อมูลที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการเขาลง โดยที่จำเลยมิได้ระบุชื่อโจทก์ร่วมเลย และข้อเท็จจริงทั้งหมดที่จำเลยพูดรวมทั้งเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง โจทก์ร่วมก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการนำไปลงจริง จำเลยจึงย่อมมีความเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นความจริง จึงนำมายกเป็นตัวอย่างประกอบการตอบคำถาม มิใช่เอาความรู้สึกส่วนตัวมาตอบ

และต่อมาหลังจากที่จำเลยอภิปรายผ่านไปนานแล้ว โจทก์ร่วมก็มีเหตุโกรธแค้นที่จำเลยจับคำพูดโกหกของโจทก์ร่วมต่อสาธารณชนได้ว่า มีพันธุ์ฝ้าย บี. ที. หลุดออกไปปลูกในไร่ของเกษตรกรจริงนับหมื่นไร่ เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมถึงกับชี้หน้าอาฆาตว่าจะฟ้องจำเลย และหลังจากนั้นจึงได้ฟ้องเป็นคดีนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ท้ายอุทธรณ์
ข้าพเจ้าได้ยื่นสำเนาอุทธรณ์ โดยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันมาด้วย หนึ่ง ฉบับ และรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว

………………………………… ผู้อุทธรณ์

อุทธรณ์ฉบับนี้ ข้าพเจ้า นายชัยรัตน์ แสงอรุณ
ทนายความใบอนุญาตที่ 2949 / 2529 อยู่บ้านเลขที่ 178/63 หมู่ ….
ถนน ลาดพร้าวตรอก/ซอย35/1
ใกล้เคียง ………………….. ตำบล/แขวง สามเสนนอก
อำเภอ / เขต ห้วยขวาง จังหวัด กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2938-0390

…………………………….. ผู้เรียง / พิมพ์

อุทธรณ์ฉบับนี้ข้าพเจ้า…………………………………………………………………………
อยู่บ้านเลขที่ ……………หมู่ที่ …………ถนน ………………………………………………
ตำบล / ซอย …………………………………………… ใกล้เคียง ……………………………………
ตำบล / แขวง …………………………………………. อำเภอ / เขต ……………………………….
จังหวัด ………………………………….. โทรศัพท์ ……………………….. เป็นผู้เขียนหรือพิมพ์

……………………………… ผู้เขียนหรือพิมพ์
กำลังโหลดความคิดเห็น