xs
xsm
sm
md
lg

รางวัลแด่นักคัดค้านจีเอ็มโอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดชา ศิริภัทร
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คดีฟ้องร้องระหว่างนายอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และอดีตส.ว.สุราษฎร์ธานี ผู้มีบทบาทสนับสนุนจีเอ็มโอ เป็นโจทก์ ฟ้องนายเดชา ศิริภัทร ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ผู้มีบทบาทคัดค้านจีเอ็มโอ สิ้นสุดลงแล้ว โดยศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ที่ตัดสินว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท กรณีตั้งคำถามว่าบรรษัทจีเอ็มโอซื้อตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้นายอนันต์ ใช่หรือไม่

ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 52 ที่ผ่านมา เวลา 09.00 น. โดยคดีนี้ฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ปี 2543

นายเดชา ศิริภัทร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในขบวนการเกษตรกรรมทางเลือกมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี 2527 ได้ถูกนายอนันต์ ดาโลดม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (ในขณะนั้น) ฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543

มูลเหตุการฟ้องร้องเกิดขึ้นจากบทบาทสำคัญของนายเดชา ใน 2 เรื่อง คือการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกรณีการนำพืชจีเอ็มโอเข้ามาปลูกทดสอบในประเทศ และกรณีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและทิศทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมวิชาการเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8

นายเดชา และเครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย พยายามชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายอนันต์ ดาโลดม กับบริษัทข้ามชาติมอนซานโต้ที่ต้องรับผิดชอบกรณีการทำให้พืชจีเอ็มโอ คือฝ้ายบีทีหลุดออกไปปลูกในพื้นที่เกษตรหลายหมื่นไร่ทั้งที่ไม่ผ่านการทดสอบเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ ความพยายามดังกล่าวได้นำไปสู่กรณีที่เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน 5 องค์กร ได้นำเรื่องเข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม สถาบันตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการกับอธิบดีคนดังกล่าวในข้อหาละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

มูลเหตุดังกล่าวทำให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรขณะนั้นได้หาช่องทางกฏหมายเพื่อตอบโต้ โดยได้ยื่นฟ้องต่อศาลกล่าวหาว่า นายเดชากระทำการอันเป็นการหมิ่นประมาท ระหว่างการประชุมสัมมนา เรื่อง แนวทางการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ที่สำนักงานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 ที่ประชุมขึ้นที่โรงแรมปรินซ์พาเลส

คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และในที่สุดศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ความผิดที่ให้รอลงอาญา 1 ปี ได้สิ้นสุดลงแล้วโดยนับเวลาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ส่วนค่าปรับ 2 หมื่นบาท นายประกันได้นำเงินจำนวน 20,000 บาท ไปชำระค่าปรับแก่ศาลแล้ว

*** คำพิพากษาศาลชั้นต้น

สำหรับคำพิพากษา (บางส่วน) ของศาลชั้นต้น ที่ตัดสินคดีเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 45 มีดังนี้ ...... พิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทย์ โจทย์ร่วม และจำเลยและข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 เวลา 8.30 - 16.30 น. สภาพัฒน์ฯ จัดให้มีการสัมมนาเรื่องของการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืนที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ ในการอภิปราย ผู้อภิปรายจะอภิปรายผ่านเครื่องกระจายเสียง จำเลยซึ่งเป็นผู้อภิปราย ผู้อภิปรายจะอภิปรายผ่านเครื่องกระจายเสียง จำเลยซึ่งเป็นผู้อภิปรายคนหนึ่งกล่าวข้อความดังโจทย์ร่วมช่วงหนึ่งว่า

"ในกระทรวงเกษตร กรมวิชาการเกษตร ผมอยากจะยกให้ชัดๆ นะครับว่า ในกระทรวงเกษตรนี้ กรมวิชาการเกษตร ถามว่ามีท่านอธิบดีตอนนี้ อธิบดีท่านมาจากไหน มาจากรองปลัด ก่อนรองปลัดมาจากไหน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำไมออกจากกรมส่งเสริมการเกษตรไปเล่า ท่านยังมีมลทินอยู่เลยใช่ไหมครับ แล้วคุณมากรมวิชาการนี้ คุณมาอย่างโปร่งใสหรือเปล่า ทำไมท่าน อาจารย์ชนวน ท่านนั่งอยู่นี่ ท่านเป็นลูกหม้อ ท่านเป็นผู้อาวุโสหรือเปล่า ทำไมท่านต้องมาเป็นผู้ตรวจฯ มีใครพูดไหมครับ

“แล้วจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันว่ามีการซื้อตำแหน่งให้กัน แล้วใครซื้อ ใครก็รู้ทั้งหมด คุณไม่ต้องพูดตรงนี้ แล้วคุณไปยอมรับคนพวกนี้มาบริหารกระทรวง มาบริหารกรมได้อย่างไร คุณก็เตะเกษตรยั่งยืนกระเด็นออกไปจากกรมคุณสิครับ มันจะไปอยู่ได้อย่างไร เพราะคนแบบนี้เข้ามา เอา GMOs เข้ามา เพราะคุณไปรับใช้บริษัทนั้นใช่ไหมครับ"

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าว เป็นความผิดตามฟ้องของโจทย์และโจทย์ร่วมหรือไม่ โจทย์และโจทย์ร่วมมี นายประเสริฐ สุขใหม่ เบิกความว่า เมื่อได้ฟังข้อความที่จำเลยกล่าวถึงโจทย์ร่วม พยานมีความรู้สึกหวั่นไหว ไม่มั่นใจในโจทย์ร่วม จึงเข้าไปสอบถามเรื่องดังกล่าวกับโจทย์ร่วม ก็ได้รับคำปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ต่อมาได้ร่วมกับนายเสถียร พิมสาร กับนายวิเชียร เพชรพิสิฐ ทำหนังสือรายงานผลการสัมมนา เอกสารหมาย จร.๑ ถึงโจทย์ร่วม

นอกจากนี้ โจทย์ยังมีนายอนันต์ ดาโลดม โจทย์ร่วมเบิกความว่า หลังจากที่จำเลยกล่าวข้องความตามฟ้อง มีบุคคลหลายคนสอบถามโจทย์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องที่โจทย์ร่วมได้ตำแหน่งมาโดยการซื้อขาย ทำให้โจทย์ร่วมได้รับความเสียหาย
 
เห็นว่า ข้อความที่จำเลยกล่าว "ผมอยากให้เห็นชัดๆ นะครับว่า ในกระทรวงเกษตรนี้ กรมวิชาการเกษตร ถามว่ามีท่านอธิบดีตอนนี้ อธิบดีท่านมาจากไหน มาจากรองปลัด ก่อนรองปลัดมาจากไหน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำไมออกจากกรมส่งเสริมการเกษตรไปเล่า ท่านยังมีมลทินอยู่เลยใช่ไหมครับ" นั้น

แม้ประโยคที่ว่าท่านยังมีมลทินอยู่ใช่ไหม เมื่อฟังแล้วทำให้ผู้ฟังคิดว่าโจทย์ร่วมเป็นผู้มีมลทินในการปฏิบัติราชการ ขณะที่ปฏิบัติราชการอยู่ที่กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งอาจทำให้โจทย์ร่วมได้รับความเสียหายก็ตาม แต่ในเรื่องนี้ปรากฏจากทางนำสืบของโจทย์และโจทย์ร่วมว่า ขณะที่โจทย์ร่วมดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร โจทย์ร่วมเคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่โจทย์ร่วมได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการขุดบ่อน้ำตื้น ๑๑ จังหวัด ซึ่งผลการสอบสวนระบุว่า โจทย์ร่วมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

เมื่อข้อความที่จำเลยกล่าวมีมูลความจริงในส่วนที่ว่า โจทย์ร่วมเคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เชื่อว่าจำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวโดยสุจริต โดยเชื่อว่าเป็นความจริงดังที่ตนเข้าใจ จึงได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้

ข้อความต่อไปที่ว่า "แล้วคุณมากรมวิชาการนี้ คุณมาอย่างโปร่งใสหรือเปล่า ทำไมท่าน อาจารย์ชนวน ท่านนั่งอยู่นี่ ท่านเป็นลูกหม้อ ท่านเป็นผู้อาวุโสหรือเปล่า ทำไมท่านต้องมาเป็นผู้ตรวจฯ มีใครพูดไหมครับ" นั้น

แม้ข้อความที่จำเลยกล่าว เมื่อคนทั่วไปฟังแล้ว โจทย์ร่วมเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรอย่างไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามอาวุโส ซึ่งทำให้โจทย์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่คำกล่าวของจำเลยเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ และเป็นการเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเช่นนั้น

เนื่องจากขณะนั้นมีผู้อาวุโสสูงสุด ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คือนายชนวน รัตนวราหะ

และในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งคือผู้มีอาวุโสสูงสุด ซึ่งโจทย์ก็มิได้นำสืบว่า นายชนวนมิใช่ผู้มีอาวุโสสูงสุดในขณะนั้น และมิได้นำสืบให้เห็นว่า ในทางปฏิบัติ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด เมื่อโจทย์ร่วมได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งผิดจากความคาดหมายของวิญญูชนพึงคาดเห็นเช่นนั้น จึงมีเหตุผลที่ทำให้จำเลยเชื่อเช่นนั้น และหากเป็นการเข้าใจผิด แต่เมื่อกล่าวโดยสุจริตจึงได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้เช่นเดียวกัน

ส่วนข้อความต่อไปที่ว่า "แล้วจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันว่ามีการซื้อตำแหน่งให้กัน แล้วใครซื้อ ใครก็รู้ทั้งหมด คุณไม่ต้องพูดตรงนี้ แล้วคุณไปยอมรับคนพวกนี้มาบริหารกระทรวง มาบริหารกรมได้อย่างไร คุณก็เตะเกษตรยั่งยืนกระเด็นออกไปจากกรมคุณสิครับ มันจะไปอยู่ได้อย่างไร เพราะคนแบบนี้เข้ามา เอา GMOs เข้ามา เพราะคุณไปรับใช้บริษัทนั้นใช่ไหมครับ"

เห็นว่า เมื่อจำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเข้าใจว่า มีผู้ซื้อตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้โจทย์ร่วม และเมื่อโจทย์ร่วมเข้ามาบริหารราชการในกรมวิชาการเกษตร ก็นำฝ้ายบีทีซึ่งเป็นพืชจีเอ็มโอเข้ามาปลูกในประเทศไทย เนื่องจากโจทย์ร่วมทำงานรับใช้บริษัทดังกล่าว ซึ่งทำให้โจทย์ร่วมได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้เข้าฟังการสัมมนา และประชาชนทั่วไป

แม้ว่าข้อความนำจำเลยหากเป็นความจริงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่จำเลยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นจริง และไม่มีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มาอ้างอิง เพียงแต่กล่าวอ้างว่า นำข้อความดังกล่าวมาจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และจำเลยไม่ได้อ้างถึงข้อความอื่นใดที่ทำให้จำเลยกล่าวว่าจะเป็นความจริงดังที่จำเลยกล่าวหรือไม่

นอกจากนี้ จำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงแหล่งข่าวที่ให้ข่าวในเรื่องดังกล่าวแก่หนังสือพิพม์ว่าน่าเชื่อถือเพียงใด แม้ในคำสั่งแต่งตั้งโจทย์ร่วมเป็นประธานกรรมการและแต่งตั้งบุคคลภายนอกจากบริษัทมอนซานโต้ จำกัด เข้าร่วมเป็นกรรมการก็ตาม แต่ผู้ที่มีคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวไม่ใช่โจทย์ร่วม และจำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า โจทย์ร่วมรู้หรือสนับสนุนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งบุคคลภายนอกดังกล่าวอย่างไร จำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้มาสนับสนุน ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สำหรับนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ พยานจำเลยที่อ้างว่ารู้เห็นเรื่องการซื้อขายตำแหน่งด้วยตนเองนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนคำเบิกความดังกล่าว นอกจากเป็นเรื่องที่นายวิฑูรย์คิดเอาว่าเป็นเช่นนั้น จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ จำเลยก็ทราบว่า เมื่อหนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงข่าวดังกล่าว แม้โจทย์ร่วมจะไม่ได้ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และไม่มีการลงข่าวแก้ก็ตาม แต่จำเลยก็ทราบดีว่า โจทย์ร่วมมีหนังสือแก้ข้อกล่าวหาไปยังหนังสือพิมพ์ผู้จัดการแล้ว จำเลยจะอ้างว่าเป็นกล่าวโดยเชื่อโดยสุจริตไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการยืนยันให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเชื่อว่า โจทย์ร่วมเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยมีบริษัทเอกชนซื้อตำแหน่งให้ และเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งก็บริหารราชการโดยส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์ต่อบรษิทเอกชนดังกล่าว

เมื่อจำเลยกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงที่ยังไม่เป็นที่ยุติว่าเป็นความจริงหรือไม่ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทย์ร่วม จึงมิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยที่จำเลยในฐานะประชาชนมีสิทธิกระทำได้ ซึ่งการติชมดังกล่าวต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิตามกฎหมายของผู้อื่น และไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย แต่ข้อความที่จำเลยกล่าวเป็นการกล่าวโดยมุ่งหวังจะทำลายชื่อเสียงของโจทย์ร่วม อันเป็นการส่อแสดงเจตนาไม่สุจริต จึงเป็นการใส่ความโจทย์ร่วมต่อบุคคลที่สาม โดยการโฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสีย โดยประการที่น่าจะทำให้โจทย์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และ 330 .......

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

(หมายเหตุ *จีเอ็มโอเอส ในคำพิพากษาของศาล คือ GMOs (Genetically Modified Organisms) หมายถึง พืช/สัตว์ ตัดต่อยีน พรือ พืช/สัตว์แปลงพันธุกรรม คือ สิ่งมีชีวิตที่ถูกแปลงพันธุกรรมที่ไม่มีในธรรมชาติมาก่อน แต่ยังต้องใช้ฐานพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติอยู่ ถือว่าเป็น "สิ่งที่มีชีวิตแบบใหม่" ซึ่งถึงบัดนี้ยังมีข้อถกเถียงกันถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค จึงยังมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บรรษัทเจ้าของ GMOs ได้ใช้ระบบสิทธิบัตรและเทคโนโลยีอันเป็นเหตุให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ได้ ถือเป็นการผูกขาดอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งเกิดความวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชาติ

**บี.ที.ในคำพิพากษาของศาล คือ ฝ้ายบีที เกิดจากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม โดยการฝากถ่ายยีนที่ได้จากเชื้อจุลินทรีย์ที่ชื่อ Bacillus thuringiensis (B.t.) ซึ่งยีนดังกล่าวจะผลิตโปรตีนที่เป็นพิษต่อหนอนและแมลงบางชนิด โดยเฉพาะหนอนเจาะสมอฝ้ายศัตรูหมายเลขหนึ่ง)

****สู้คดียื่นคำอุทธรณ์ต่อศาล

ต่อมา นายเดชา ศิริภัทร ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ความบางส่วนระบุว่า “ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการที่จำเลยกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงที่ยังไม่เป็นที่ยุติว่าเป็นความจริงหรือไม่นั้น จำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด เพราะจำเลยไม่ได้กล่าวยืนยันว่าโจทก์ร่วมซื้อตำแหน่งจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงหรือเท็จ เพราะหากเป็นความจริงก็เป็นเรื่องสมยอมกัน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน

“แต่จำเลยกล่าวด้วยเจตนาที่จะตอบคำถามที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาคือตัวแทนจากกรมพัฒนาที่ดินที่ถามว่าให้จำเลยตอบตามตรงไม่อ้อมค้อมว่าเหตุใดเกษตรยั่งยืนจึงดำเนินการไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงเป็นการติชมโจทก์ร่วมในฐานะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่มีหน้าที่ทำให้โครงการเกษตรยั่งยืนเป็นไปตามเป้าหมายของสภาพัฒน์ฯ แต่โจทก์ร่วมกลับมิได้ดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย

“จำเลยจึงกล่าวแสดงความคิดเห็นตามข้อความที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงตีพิมพ์โดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ มิได้มุ่งหวังจะทำลายชื่อเสียงโจทก์ด้วยเจตนาไม่สุจริตดังที่ศาลชั้นต้นว่า เพราะโจทก์ร่วมและจำเลยไม่เคยรู้จักกัน ไม่มีสาเหตุส่วนตัวที่จะโกรธเคืองกัน

“เพียงแต่จำเลยมีแนวความคิดเห็นในทางเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีและเป็นผู้ยืนหยัดผลักดันจนแนวทางเกษตรยั่งยืนถูกบรรจุเข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ซึ่งขัดแย้งกับพฤติกรรมของโจทก์ร่วมที่ส่อแสดงว่าช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท มอนซานโต้ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นการเกษตรตัดต่อพันธุกรรม ใช้สารเคมี จนหนังสือพิมพ์ลงข่าวใหญ่ครึกโครมดังที่จำเลยนำสืบ เหตุที่จำเลยพูดก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน มิใช่เรื่องส่วนตัว จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

“............... เหตุที่จำเลยพูด เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในส่วนขององค์กรเอกชนภาคประชาชน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และเป็นการพูดตรงประเด็นตามหัวข้อที่ได้รับเชิญจากสภาพัฒน์ฯ เพื่อประเมินผลว่าโครงการ 25 ล้านไร่ของเกษตรแบบยั่งยืนได้ดำเนินการไปถึงไหน

“ดังนั้นการที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องดูข้อความทั้งหมดที่จำเลยพูดอภิปราย เพราะจำเลยพูดถึงอุปสรรคปัญหาต่างๆ หลายประการ เพียงแต่มีบางส่วนที่เกิดปัญหาในเรื่องตัวบุคคล คือตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรผู้รับผิดชอบนโยบายเกษตรยั่งยืนด้วย มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สนับสนุนเกษตรยั่งยืน

“จำเลยจึงได้ตอบคำซักถามผู้เข้าร่วมสัมมนาโดยแจ้งว่าเป็นข้อมูลที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการเขาลง โดยที่จำเลยมิได้ระบุชื่อโจทก์ร่วมเลย และข้อเท็จจริงทั้งหมดที่จำเลยพูดรวมทั้งเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง โจทก์ร่วมก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการนำไปลงจริง จำเลยจึงย่อมมีความเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นความจริง จึงนำมายกเป็นตัวอย่างประกอบการตอบคำถาม มิใช่เอาความรู้สึกส่วนตัวมาตอบ

“และต่อมาหลังจากที่จำเลยอภิปรายผ่านไปนานแล้ว โจทก์ร่วมก็มีเหตุโกรธแค้นที่จำเลยจับคำพูดโกหกของโจทก์ร่วมต่อสาธารณชนได้ว่า มีพันธุ์ฝ้าย บี. ที. หลุดออกไปปลูกในไร่ของเกษตรกรจริงนับหมื่นไร่ เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมถึงกับชี้หน้าอาฆาตว่าจะฟ้องจำเลย และหลังจากนั้นจึงได้ฟ้องเป็นคดีนี้” (รายละเอียดตามคำยื่นอุทธรณ์ฯ)

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลฎีกา ก็ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น