xs
xsm
sm
md
lg

สศก.ชี้ไทยผู้นำอาหารของอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -สศก.ชี้ไทยพร้อมเป็นผู้นำสร้างความมั่นคงทางอาหารของอาเซียน ชูข้าว อ้อย มันสำปะหลังรุ่งเป็นพระเอกในเวทีโลก แต่ถั่วเหลืองน่าเป็นห่วง เพราะผลิตได้ปีละ 2 แสนตัน ขณะที่ต้องการใช้ถึง 2 ล้านตัน ยังต้องพึ่งพานำเข้า วอนเกษตรกรรักษาพื้นที่ปลูก

นาย อภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียนว่า กลุ่มประเทศอาเซียนได้กำหนดให้มีการเพิ่มผลผลิตพืชอาหาร 5 ชนิด ที่เป็นพืชอาหารที่มีความมั่นคง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และถั่วเหลือง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยพืช 3 ชนิดที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกคือ ข้าว มันสำปะหลังและอ้อย เนื่องจากเป็นพืชที่ไทยมีศักยภาพในการเพาะปลูก ทั้งด้านพันธุ์ที่มีคุณภาพ และเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะมันสำปะหลังของไทยเป็นพันธุ์ที่ดี ให้ผลผลิตสูง ซึ่งขณะนี้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ตันกว่าต่อไร่ บางแห่งได้ 15-30 ตันต่อไร่ เพราะสามารถใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยเสริม อ้อยก็เช่นกันสามารถเพิ่มผลผลิตได้ไม่ยาก

ส่วนการเพิ่มผลผลิตข้าวนั้นถึงแม้ว่าเราจะมีพันธุ์ดีเพิ่มผลผลิตได้ถึง 100 ถังต่อไร่ แต่ที่สำคัญคือเรื่องของน้ำ ระบบชลประทาน ที่จำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เพียงพอ เนื่องจากถ้ามีแหล่งน้ำเพียงพอจะสามารถเพิ่มรอบการเพาะปลูกได้อีก ผลผลิตก็จะเพิ่มขึ้นมหาศาล ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนปรับโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว โดยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้มากขึ้นถึง 60 ล้านไร่ แต่เป็นแผนระยะยาว 15 ปี ดังนั้นเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

แต่พืชที่น่าเป็นห่วงคือถั่วเหลือง เพราะนอกจากเราจะผลิตไม่พอใช้ภายในประเทศ ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจำนวนมาก โดยเราผลิตได้เพียงปีละ 2 แสนตัน ขณะที่ความต้องการใช้สูงถึงปีละ 2 ล้านตัน ดังนั้นจำเป็นต้องรักษากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองให้ดี เนื่องจากเป็นพืชสำคัญที่ขณะนี้ทั่วโลกใช้ระบบการปลูกแบบจีเอ็มโอหมดแล้วเว้นแต่ประเทศไทย ทำให้เป็นที่ต้องการของหลายประเทศที่ต่อต้านพืชจีเอ็มโอ จึงต้องเร่งฟื้นฟูเกษตรกรกลุ่มนี้ไม่ให้ลดปริมาณการปลูก เพราะจะทำให้เราสูญเสียแหล่งโปรตีนที่สำคัญไป และอาจกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารได้

“กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนยุทธศาสตร์ในการเพิ่มผลผลิตพืชอาหารที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเน้นด้านปรับโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มผลผลิตต่อไร่แทนการเพิ่มพื้นที่ปลูก ส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีเหมาะสมและให้ผลผลิตสูง รวมถึงใช้เทคโนโลยีดูแลระบบการจัดการที่ดี ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่รักษาคุณสมบัติของดิน ทั้งนี้ แผนที่กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการนั้นมุ่งการเพิ่มผลผลิตแต่ไม่เพิ่มต้นทุนให้กับเกษตรกร ในขณะเดียวกันจะดูแลสิ่งแวดล้อมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น” นายอภิชาต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น