xs
xsm
sm
md
lg

เสร็จสิ้นแล้ว ประชุม 10 ประเทศอาเซียน ยันร่วมมือทุกด้าน ไร้กีดกันการค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สรุปผลแล้ว สุดยอดอาเซียนก่อนผู้นำทุกประเทศร่วมลงนามรับรองด้าน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในฐานะผู้นำอาเซียน แถลงการณ์ผลการประชุม 10 ประเทศอาเซียน 52 ข้อ ระบุเร่งหารือตามกฎบัตรอาเซียนหวังปูทางสร้างประชาคมแก้วิกฤติการเงินโลกและไม่ปิดกั้นทางการค้าต่อกัน เผยแนวทางลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ร่วมกัน พร้อมดันการสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงานให้เพียงพอ ยั่งยืนในภูมิภาค ส่วนปัญหาผู้อพยพให้แต่ละประเทศหารือก่อนถกอีกครั้งในการประชุมที่บาหลี กลางเดือนมี.ค.นี้ ประสานมือให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามกลางฉนวนกาซา

วันนี้ (1 มี.ค.) ณ ห้องรอยัล ดุสิตแกรนด์บอลรูมเอ-บี โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี มีพิธีลงนามเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ฐานะประธานอาเซียน พร้อมด้วยผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ ร่วมลงนามเอกสารผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ได้แก่ ปฏิญญาชะอำหัวหินว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2009-2015 ณ ห้องรอยัล ดุสิต แกรนด์ บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี

นอกจากนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ให้การรับรองและออกเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประชุมฯ อีก 6 ฉบับ และรับทราบเอกสารอีก 7 ฉบับ รวมทั้งเป็นพยานเอกสารที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 1 ฉบับ ดังนี้ เอกสารที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนให้การรับรอง จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่

1.แผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน 2.แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 3.แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่สอง ค.ศ.2009-2015 4.ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในอาเซียน 5.แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งแผนนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน 6.แถลงการณ์ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก

เอกสารที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนรับทราบ จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ 1.รายงานประจำปีของเลขาธิการอาเซียนเรื่องการดำเนินงานของอาเซียนต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 2.รายงานของเลขาธิการอาเซียนว่าด้วยพัฒนาการการอนุวัติแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ 3.รายงานของเลขาธิการอาเซียนว่าด้วยการติดตามผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง 4.รายงานของผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน 5.ตารางความคืบหน้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 6.รายงานการดำเนินโครงการเผยแพร่ปีแห่งความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2551 7.รายงานว่าด้วยการแข่งขันเพลงประจำอาเซียน

เอกสารที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นพยาน จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ 1.ความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียม

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ฐานะประธานอาเซียน ได้อ่านแถลงการณ์ของประธานในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14  โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 52 ข้อ โดยใช้ชื่อแถลงการณ์ว่า “แถลงการณ์ของประธานในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 อำเภอชะอำ วันที่ 28 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2552” ซึ่งมีเนื้อหาว่า

1.เรา ประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มาพบกันที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย เป็นครั้งแรกภายใต้กฎบัตรอาเซียน ในการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2552 เราได้หารือกันอย่างกว้างขวาง เปิดกว้าง และบรรลุผลสำเร็จ ภายใต้หัวข้อหลัก “กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน”

กฎบัตรอาเซียน

2.เราได้ฉลองการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรอาเซียนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 กฎบัตรนี้ได้วางกรอบทางกฎหมายและทางสถาบันสำหรับอาเซียนให้เป็นองค์การที่มีกฎหมายเป็นพื้นฐาน มีประสิทธิภาพ และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อปูทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 เป้าหมายดังกล่าวของอาเซียนได้ถูกกำหนดอย่างเร่งด่วนเนื่องจากวิกฤตการเงินโลก อาเซียนจำเป็นจะต้องตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อวิกฤตการเงินครั้งนี้เพื่อคงบทบาทหลักในโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระดับภูมิภาค ในการนี้ เราได้มอบหมายให้องค์กรต่างๆ ของอาเซียนปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎบัตรอาเซียนโดยสมบูรณ์

3.เรายินดีในผลสำเร็จของการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของเรากับสมาชิกของ คณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับสูงว่าด้วยกฎบัตรอาเซียน ซึ่งในระหว่างนั้น ข้อเสนอแนะต่างๆ ได้มีขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสภาพบุคคลทางกฎหมายของอาเซียน การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท และประเด็นทางกฎหมายอื่นๆ ภายใต้กฎบัตรอาเซียน

4.เรายินดีกับความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อเริ่มปฏิบัติหน้าที่แล้ว คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน ปรับปรุงการประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาค

5.เราชื่นชมความก้าวหน้าของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งได้เสนอร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 เรารับทราบว่าการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนอาเซียน จะเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ เราตกลงว่า องค์กรนี้ควรเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ในช่วงปลายปี 2552

6. เราย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างพอเพียง อันรวมถึงงบประมาณและบุคลากรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถบรรลุภารกิจและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นตามกฎบัตรอาเซียน

เสริมสร้างการปรับตัวสถานการณ์ทางการเงิน-เศรษฐกิจ

7.เราได้หารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ตลอดจนผลกระทบทางลบต่อภูมิภาค เรามีความกังวลว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศสำคัญที่กำลังตกอยู่ในสภาวะถดถอยมากยิ่งขึ้น เราย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นของอาเซียน เพื่อรักษาความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ ในขณะเดียวกัน เรายังคงเน้นความสำคัญของการเปิดกว้างทางการค้าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

8.เราได้รับการรายงานสรุปเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินและการคลังที่ขยายตัวที่แต่ละรัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เชิงนโยบายเกี่ยวกับมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อคงไว้ซึ่งการจ้างงานและรายได้สำหรับกลุ่มมีรายได้ต่ำและปานกลางที่ได้รับผลกระทบ เราเห็นพ้องว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในลักษณะกระตุ้นเศรษฐกิจและประสานความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น เป็นการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อยับยั้งวิกฤตการเงินโลกที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เราให้คำมั่นที่จะดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อทำให้มั่นใจว่า มาตรการที่จำเป็นต่างๆ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อในปัจจุบัน

9.ในการพบหารือครั้งนี้ เราได้ออกแถลงข่าวว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานนโยบายเศรษฐกิจในระดับมหภาค ยืนหยัดที่จะต่อต้านการกีดกันทางการค้า การดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเพิ่มความพยายามเพื่อให้การเจรจาวาระการพัฒนารอบโดฮาบรรลุผล เราชื่นชมต่อผลการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามมาตรการริเริ่มเชียงใหม่แบบพหุภาคีเพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินโลก เราได้สั่งการให้รัฐมนตรีคลังอาเซียนทำงานต่อไปกับประเทศ+3 เพื่อแก้ไขประเทศที่ยังคั่งค้างอยู่เพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว เราจะกระชับความร่วมมือกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และความเชี่ยวชาญของสถาบันเหล่านั้นในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินนอกจากนี้ เราได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และข้อเรียกร้องของประเทศเศรษฐกิจใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

10.ในระดับโลก เราเห็นพ้องที่จะร่วมมือกับกลุ่ม G-20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปฏิรูปสถาบันและตลาดการเงินระหว่างประเทศ เรายินดีกับการหารืออย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และ ลอร์ดมัลล็อค บราวน์ ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษสำหรับการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G-20 ที่กรุงลอนดอน และชื่นชมรัฐบาลอังกฤษที่ได้เชิญประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่กรุงลอนดอน ในวันที่ 2 เมษายน 2552 เราคาดหวังที่จะแลกเปลี่ยนทัศนะของอาเซียนและทำงานร่วมกับประเทศสำคัญต่างๆ เพื่อจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในปัจจุบัน

ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

11.เราตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความต้องการของอาเซียนที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ เพื่อให้การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกนประสบผลสำเร็จ

12.เราตระหนักถึงความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวโยงกันระหว่างความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงานอย่างรอบด้าน เราให้คำมั่นที่จะกระชับความร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ทั้งภาคการผลิตและภาคการจัดจำหน่าย เราจะทำให้แน่ใจว่า ทรัพยากรและเทคโนโลยีจะได้รับการจัดสรรอย่างเพียงพอเพื่อเพิ่มผลผลิตทางอาหาร ขณะที่กลไกที่เหมาะสมจะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อขจัดการบิดเบือนทางการตลาดสำหรับอาหาร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความมั่นคงด้านอาหารในยามวิกฤต เรายินดีต่อความพยายามที่กำลังดำเนินอยู่ในการจัดตั้งกองทุนสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนกับประเทศ +3 เพื่อเป็นกลไกถาวรในภูมิภาค

13.เรารับทราบความสำคัญของความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อที่จะรับประกันการเพิ่มพูนความมั่นคงและความยั่งยืนของพลังงานโดยอาศัยการทำให้มีความหลากหลายของทรัพยากร การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากร การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ในการนี้ เรายินดีต่อการลงนามในความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นคุณูปการสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงาน

14.เราเน้นความจำเป็นที่จะกระชับความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมทั้งเชื้อเพลิงชีวภาพ เราเน้นย้ำความจำเป็นที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนร่วมกับพลังงานรูปแบบอื่นๆ ในสัดส่วนที่มากขึ้น ในการนี้ เราได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีพลังงานอาเซียนร่วมกันกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณของพลังงานทดแทนร่วมกับพลังงานรูปแบบอื่นๆ ภายในห้าปีข้างหน้า เราได้ตกลงที่จะพิจารณาลู่ทางในการพัฒนาภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทน เราได้ย้ำความจำเป็นที่จะทำให้มั่นใจว่า ทรัพยากรต่างๆจะมีอยู่อย่างยั่งยืน เราตกลงจะให้ความสนใจต่อมิติความมั่นคง สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และความปลอดภัยของสาขาพลังงาน
การจัดการด้านภัยพิบัติ

15.เรายินดีกับความสำเร็จของกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไซโคลนนาร์กิส และให้คำมั่นจะสนับสนุนพม่าในความพยายามฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยต่อไป โดยเฉพาะหลังการเปิดตัวแผนฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมหลังภัยพิบัติไซโคลนนาร์กิส เรายินดีต่อมติที่ประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จะขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มแกนนำสามฝ่ายจนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติ เราตกลงที่จะพัฒนากลไกระดับภูมิภาคในลักษณะบูรณาการเพื่อรับมือกับมหาภัยพิบัติในอนาคต เรารับทราบข้อเสนอของประเทศไทยที่จะให้การฝึกอบรมและการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการภัยพิบัติโดยศูนย์เตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติในเอเชีย

16.เราตกลงที่จะให้เลขาธิการอาเซียนทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของอาเซียน ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีเมื่อได้รับการร้องขอจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประสบภัยในกรณีมหาภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติธรรมชาติหรือโรคระบาด
การพัฒนาแห่งสหัสวรรษและการลดช่องว่างการพัฒนา

17.เรายินดีกับความคืบหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ โดยเฉพาะในด้านการให้การศึกษาในเบื้องต้น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการต่อสู้กับโรคติดต่อ เราย้ำความจำเป็นที่จะต้องรักษาความสมดุลระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนาทางสังคมและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มความพยายามของเราในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ

18.เราเน้นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของความพยายามร่วมกันในการลดช่องว่างการพัฒนา เพื่อทำให้ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางบรรลุผล เรารับรองแผนงานของข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวกันของอาเซียน ฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2552-2558 และรับทราบว่า แผนงานดังกล่าว รวมทั้งแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนสามเสาหลัก จะช่วยผลักดันให้กระบวนการสร้างประชาคมเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน

การสร้างประชาคมอาเซียน

19.เราลงนามปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2009-2015 ซึ่งประกอบด้วย 3 เสา กล่าวคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ทั้งสามประชาคมเสริมสร้างซึ่งกันและกันและยึดโยงกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเป้าหมายที่จะทำให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในภูมิภาค

20.ในการนี้ เราได้มอบหมายให้รัฐมนตรีและเลขาธิการอาเซียนแสวงหาลู่ทางและยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะขับเคลื่อนทรัพยากรต่างๆ จากรัฐสมาชิก ประเทศคู่เจรจา ประเทศคู่เจรจาเฉพาะด้าน หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน ตลอดจนจากประเทศภายนอก เพื่อทำให้ปฏิญญาชะอำ หัวหินฉบับนี้เกิดประสิทธิผล ทันการณ์ และยั่งยืน

ประชาคมการเมืองและความมั่นคง

21.เรายินดีที่แผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนแล้วเสร็จ แผนงานดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีกฎเกณฑ์ มีค่านิยม และบรรทัดฐานร่วมกันเป็นภูมิภาคที่เป็นปึกแผ่น มีสันติภาพ เสถียรภาพ และมีความสามารถตอบสนองกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยึดมั่นความรับผิดชอบร่วมกันต่อความมั่นคงอย่างรอบด้าน และเป็นภูมิภาคที่มองออกไปสู่ภายนอก และมีพลวัตร ในโลกที่มีความพึ่งพาซึ่งกันและกันและบูรณาการมากขึ้น

22.เราเรียกร้องให้มีดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคงอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองในภูมิภาคของเรา รวมทั้งเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์และสวัสดิการของประชาชนอาเซียน ในการนี้ เรามอบหมายให้คณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการและกิจกรรมเพื่อให้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนบรรลุผลตามเป้าหมาย และสอดคล้องกับหลักการและวัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน

23.เราชื่นชมผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 3 ที่เมืองพัทยา ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และเสริมสร้างความสามารถของอาเซียนในการจัดการกับความท้าทายทางความมั่นคงในรูปแบบใหม่ต่างๆ อาทิ ภัยพิบัติ อันรวมถึงในความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม และเสริมสร้างกรอบความร่วมมือสำหรับการเจรจาและความร่วมมือในอนาคตกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนและมิตรประเทศอื่นๆ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

24.เรายินดีกับผลการประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งแรก โดยเฉพาะระบบใบคะแนนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ใช้สำหรับติดตามผลการดำเนินการตามพันธกรณีของเรา และแผนการสื่อสารของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเสริมสร้างความตระหนักในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

25.เราชื่นชมความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นหลังจากการลงนามปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เกิดขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 และเน้นย้ำความสำคัญของการบูรณาการทางเศรษฐกิจอาเซียนอย่างทันการณ์ภายใต้หัวข้อ “ก้าวเดินด้วยกัน ทำงานร่วมกันไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

26.เราตกลงกันว่า เพื่อเป็นการอำนวยการค้าเสรีในอาเซียนและให้การค้าภายในอาเซียนขยายตัวมากขึ้น เลขาธิการอาเซียนจะร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิ ในการทำให้โครงการที่สำคัญบรรลุผล
สินค้า

27.เราชื่นชมผลสำเร็จของการจัดทำความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และการลงนามความตกลงดังกล่าวโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ เราตระหนักว่าความตกลงฉบับนี้ได้บรรจุองค์ประกอบสำคัญต่างๆ ที่จะเสริมสร้างความโปร่งใส ความแน่นอน และการคาดการณ์ได้ ภายในกรอบทางกฎหมายของอาเซียน และเสริมสร้างระบบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งมีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน อันมีความสำคัญต่อประชาคมธุรกิจอาเซียนและผู้บริโภค

28.เรายินดีกับการบรรลุข้อตกลงยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสำหรับการตรวจผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต และหวังว่าการลงนามข้อตกลงดังกล่าวโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะมีขึ้นในโอกาสแรก

การบริการ

29.เรารับทราบความคืบหน้าสำคัญที่มีขึ้นในการเปิดเสรีการค้าบริการในรอบต่างๆ ของการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน นอกจากนี้ เราพอใจในการลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ซึ่งได้เปิดเสรีภาคการบริการในภูมิภาค

การลงทุน

30.เรายินดีกับการลงนามความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียนฉบับครอบคลุมในระหว่างการประชุมสุดยอดปีนี้ เราชื่นชมที่ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียนจะถูกนำมาใช้อย่างทันการณ์ในฐานะความ ตกลงที่ครอบคลุมฉบับใหม่ที่จะทำให้อาเซียนมีความน่าสนในฐานะจุดหมายของการลงทุน ตลอดจนส่งเสริมการขยายการลงทุนภายในอาเซียนซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาเซียน

การท่องเที่ยว

31.เราชื่นชมพันธกรณีและความพยายามของรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนในการส่งเสริมบูรณาการด้านการท่องเที่ยวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน ปี 2554-2558 และการจัดทำแนวพื้นที่เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวอาเซียน เรารับทราบมาตรการแก้ไขเพื่อตอบสนองต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจโดยการประกาศให้ปี 2551-2553 เป็นปีแห่งเยาวชนนักเดินทางภายใต้ข้อคิดริเริ่มอาเซียนด้านการท่องเที่ยว

วาระการพัฒนาโดฮา

32.เรายืนยันเจตนารมณ์ที่จะบรรลุผลวาระการพัฒนาโดฮา เราเรียกร้องให้สมาชิกองค์การการค้าโลก โดยเฉพาะผู้มีบทบาทสำคัญ ให้เร่งรัดการเสริมสร้างและใช้ความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถบรรลุการเจรจานี้ได้โดยเร็ว เราเชื่อว่าการหาข้อยุติโดยเร่งด่วนต่อการเจรจาเพื่อลดการอุดหนุนในการเจรจารอบโดฮา จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความเติบโตของเศรษฐกิจโลก การเจรจารอบโดฮาที่ประสบผลสำเร็จจะเป็น “มาตรการกระตุ้น” ในระดับพหุภาคีที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบทางลบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

33.เราเสนอที่จะรักษาความก้าวหน้าประสบผลในปี 2551 โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและการลงทุน เพื่อเราจะสามารถทำให้ความแตกต่างที่ยังคงมีอยู่ลดน้อยลง

34.เราเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มความช่วยเหลือแก่ปะระเทศกำลังพัฒนา และโดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเพื่อเพิ่มพูนการมีส่วนร่วมของประเทศเหล่านั้นในการค้าโลก รวมทั้งลดแรงกระทบจากวิกฤตการณ์โลกในปัจจุบัน

35.เราเรียกร้องให้เอื้ออำนวยและเร่งรัดกระบวนการภาคยานุวัติองค์การการค้าโลกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาของประเทศนั้น

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

36.ด้วยส่วนแบ่งที่ใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถมีบทบาทสำคัญในการรองรับผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างงานในภาคการผลิตและการบริการ จุดแข็งของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมควรจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พัฒนาต่อไป และป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บรรษัทที่เติบโตขึ้นทั้งหลายควรจะถูกส่งเสริมให้เป็นหุ้นส่วนกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในสาขาเดียวกัน รวมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้ากับห่วงโซ่การผลิตต่างๆ และให้ความสนับสนุนในเรื่องการวิจัยและการพัฒนา การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ แนวทางดำเนินการ และเทคโนโลยี โดยที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหนึ่งในสาขาสำคัญอันดับแรกๆ ที่อยู่ในแผนงานการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราจึงควรเร่งรัดการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่างๆ ในการนี้ เราได้มอบหมายให้คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนพัฒนาแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ที่มุ่งเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและปรับตัวต่อสถานการณ์ในภูมิภาค

37.เราเน้นความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคเอกชนกับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้มีการเร่งรัดดำเนินมาตรการตามการรวมตัวรายสาขาที่สำคัญ

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

38.เรารับรองแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเป็นแผนงานในการมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อความเป็นปึกแผ่น เป็นเอกภาพ และมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ตลอดจนสร้างสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและด้วยการผสมกลมกลืน เป็นประชาคมซึ่งความเป็นอยู่ที่ดี การทำมาหากิน และสวัสดิการของประชาชนได้รับการส่งเสริม โดยคำนึงถึงที่กล่าวนี้ เราเน้นความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือ ในการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม ความยุติธรรม และสิทธิต่างๆ รวมถึงมุ่งให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และการลดช่องว่างทางการพัฒนา

39.เราสนับสนุนให้รัฐสมาชิกอาเซียนส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนผ่านการศึกษาและวัฒนธรรม ภายใต้การศึกษา เราเห็นว่า การจัดทำหลักสูตรอาเซียนของแต่ละชาติ ในการศึกษาทุกระดับจะช่วยเตรียมเยาวชนของเราให้พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวผลสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อการสร้างประชาคมอาเซียน เราสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาตลอดชีพ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับอาเซียนและความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่นที่ถูกละเลย และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

40.เราเน้นความสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ดังนั้น เราจึงยินดีกัการริเริ่มของไทยในการจัดตั้งสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเวทีให้ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการก่อตั้งประชาคมอาเซียน เราส่งเสริมให้รัฐสมาชิกอาเซียนอื่นๆ จัดตั้งกลไกในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแบ่งปันข้อมูลและกิจกรรมระดับภูมิภาค

41.เราต้อนรับเพลง The ASEAN Way เป็นเพลงประจำอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นผลที่เป็นรูปธรรมจากการดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียน เพลง The ASEAN Way นี้เป็นลิขสิทธิ์ของอาเซียน โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นหน่วยงานหลักที่จะดูแลการใช้เพลงดังกล่าวอย่างเหมาะสม เราส่งเสริมให้ใช้เพลงดังกล่าวในการประชุมอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมภายในอาเซียน และกับประเทศคู่เจรจา เราสนับสนุนให้รัฐสมาชิกอาเซียนเผยแพร่เพลงประจำอาเซียนภายในประเทศของตน โดยการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นและปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน เราได้เน้นถึงความจำเป็นที่จะพัฒนาความคิดและความรู้สึกของการเป็นพลเมืองอาเซียนซึ่งมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน ตลอดจนคุณค่าและหลักการของอาเซียนด้วย

ประเด็นในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ พม่า

42.เราได้หารืออย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับปัญหาพม่า เราได้รับฟังการกล่าวสรุปโดยนายเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า เกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองล่าสุดและความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 7 ขั้นตอนที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยในพม่า เราสนับสนุนให้รัฐบาลพม่าอำนวยความสะดวกต่อกระบวนการปรองดองแห่งชาติให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสร้างเอกภาพแห่งชาติ อันจะนำไปสู่สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในพม่า ในการนี้ การปลดปล่อยผู้ถูกคุมขังทางการเมือง และการเชิญ ทุกพรรคการเมืองเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกระบวนการปรองดองแห่งชาติ เราให้ความสำคัญกับความจำเป็นและยินดีต่อความเต็มใจของรัฐบาลพม่าที่ร่วมมืออย่างแข็งขันกับผู้แทนพิเศษของเลขาธิการอาเซียนและผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อลดความห่วงกังวลของประชาคมระหว่างประเทศต่อสถานการณ์ในพม่า ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในมหาสมุทรอินเดีย

43.เราได้มีการหารือที่เป็นประโยชน์ในเรื่องผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมาจากบังคลาเทศและพม่าและเรียกร้องสถานะผู้ลี้ภัย ในการแก้ไขปัญหานี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศจุดหมาย เป็นเรื่องสำคัญมาก ในขณะเดียวกัน ปัญหานี้ ควรได้รับการแก้ไขในบริบทที่กว้างขึ้น เช่น กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ และการประชุมบาหลีในระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการลักลอบขนคนเข้าเมือง การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง เราได้มอบหมายให้เลขาธิการอาเซียนร่วมมือกับรัฐบาลพม่าเพื่อหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเหล่านี้ในมหาสมุทรอินเดีย

สถานการณ์ในฉนวนกาซา

44.เราได้หารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ในฉนวนกาซา ซึ่งเกิดจากปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล เราเน้นว่า สวัสดิการและการกินดีอยู่ดีของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซามีความสำคัญสูงสุด เราเรียกร้องให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างไม่มีอุปสรรคแก่ชาวปาเลสไตน์ทั่วพื้นที่ฉนวนกาซา เพื่อช่วยบรรเทาความยากลำบากของชาวปาเลสไตน์ เราสนับสนุนทุกความพยายามทั้งระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่จะนำมาซึ่งการหยุดยิงอย่างถาวร

45.เราเน้นความสำคัญของการส่งเสริมการฟื้นฟูบูรณะในฉนวนกาซา และความจำเป็นที่จะได้รับความช่วยเหลือระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน ในการนี้ เราเรียกร้องให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการบูรณะฉนวนกาซา ที่จะจัดโดยอียิปต์ ที่เมืองชาร์ม เอล เชค ในวันที่ 2 มีนาคม 2552 เรายินดีต่อความพยายามที่จะนำมาซึ่งความปรองดองระหว่างชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะความตกลงล่าสุดระหว่างกลุ่มปาเลสไตน์ต่างๆ ที่จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่มีเอกภาพ เราเรียกร้องความพยายามครั้งใหม่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประชาคมระหว่างประเทศที่จะนำมาซึ่งสันติภาพที่สมบูรณ์แบบบนพื้นฐานของวิสัยทัศน์ที่จะมีรัฐประชาธิปไตยสองรัฐ ได้แก่ อิสราเอล และปาเลสไตน์ อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ภายใต้เขตแดนที่มั่นคง และได้รับการยอมรับตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่ 1850 (2008) และข้อริเริ่มสันติภาพของอาหรับ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ การหารือระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ควรจะมีขึ้นโดยเร็วที่สุด

ความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน

46.เรายินดีต่อการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำอาเซียนของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก ซึ่งเอกอัครราชทูตเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาภายนอก

47.เรายินดีต่อการที่จะมีการจัดการประชุมสุดยอดเพื่อฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 20 ปี อาเซียน-เกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2552 (2009) ณ เกาะเจจู เกาหลีใต้ เราเห็นร่วมกันว่า การประชุมสุดยอดจะเป็นโอกาสดีที่จะทบทวนความสัมพันธ์ใน 20 ปีที่ผ่านมา และกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคตระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้

48.เราตระหนักว่าความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีของอาเซียนที่มีอยู่กับประเทศคู่เจรจาต่างๆ มีความสำคัญในการเสริมสร้างการเข้าถึงตลาดสำหรับผลิตผลและบริการของอาเซียน ตลอดจนเป็นพื้นฐานสำหรับอาเซียนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับเขตเศรษฐกิจต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและในภูมิภาคอื่นของโลก

49.ในการนี้ เราชื่นชมความคืบหน้าในการทำให้ความตกลงการค้าสินค้าอาซียน-จีน ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลีใต้ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership Agreement) มีผลใช้บังคับ เรารับทราบด้วยความยินดีที่ความตกลงการลงทุนอาเซียน-จีนแล้วเสร็จ ซึ่งจะได้มีการลงนามระหว่างการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจา ในเดือนเมษายน 2552

50.เราขอแสดงความยินดีต่อการลงนามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เรายังเชื่อว่าความตกลงดังกล่าวเป็นพัฒนาการสำคัญต่อการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าสินค้าและบริการของภูมิภาคให้ขยายออกไปภายนอกอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

51.เราสนับสนุนข้อเสนอของไทยที่จะจัดการประชุมอาเซียน+1 อาเซียน+3 และ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน 2552 ในการนี้ เราขอให้ประเทศคู่เจรจาที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหาข้อยุติเกี่ยวกับกำหนดวันประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เราได้พิจารณาขยายการมีส่วนร่วมในการประชุมสุดยอดเหล่านี้เพื่อระดมทรัพยากรของประชาคมเอเชีย สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และสหประชาชาติ ในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก

เรื่องอื่นๆ

52.เราขอยืนยันพันธกรณีในการสร้างอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ในการนี้ เราพอใจกับผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มผู้แทนของภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน เยาวชนอาเซียน และภาค ประชาสังคมอาเซียน และเราได้ชื่นชมข้อสังเกตที่มีประโยชน์จากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียนในช่วงการประชุมระหว่างอาหารกลางวันด้วย















กำลังโหลดความคิดเห็น