ผลกระทบจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ทุกคนรู้ว่าสร้างความเจ็บปวดให้กับนักลงทุนอย่างเราๆ ท่านอย่างไรก็บ้าง เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ได้เป็นเฮอร์ริเคนร้ายที่พัดกระหน่ำพี่น้องชาวอเมริกาเท่านั้น แต่มันมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางออมกับผู้ที่เกี่ยวข้องและประเทศต่างทั่วโลกที่เป็นคู่ค้า หรือพันธมิตรกับยักษ์ใหญ่มหาอำนาจแห่งนี้
ที่เห็นได้ชัดคงหนีไม่พ้นกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ที่ต้องเผชิญมหัตภัยร้ายแรงอย่างหนีไม่พ้น แม้แต่ประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี โดยล่าสุดรัฐบาลเมืองผู้ดีต้องยื่นมือเข้าช่วยสถานนะการเงินให้กับธนาคารพาณิชย์ของตนเองแล้ว เรียกว่าแม้กระแสความนิยมในฟุตบอลพรีเมียร์ ชิพ จะถูกใครยกย่องว่าเป็นลีกฟุตบอลที่มีคนดูมากที่สุดทั่วโลก กระแสเงินสะพัดสุดๆ ก็หนีไม่พ้นวิกฤตในครั้งนี้เช่นกัน บางสโมสรแม้จะมีเจ้าของที่เป็นมหาเศรษฐี ยังไม่กล้าที่จะควักเงินเข้าซื้อตัวนักเตะเป็นจำนวนมากเลย เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของเล่นที่จะประมาทได้
ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศในเอเชีย หากยกเว้นญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อชั้นว่าผู้นำเศรษฐกิจและจีนมหาอำนาจด้านกำลังการผลิตและการบริโภคแล้ว สิงคโปร์นับเป็นสวนสวรรค์ทางการเงินที่ยิ่งใหญ่ไม่เป็นสองรองใคร ตัวเลขค่าแรงหรือรายได้ต่อปีของพี่น้องชาวจีนที่นี่ คนไทยอย่างเราบางทียังต้องอิจฉากันไปเลย อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นชาติที่มีความแข็งแกร่งด้านบุคลากรที่มีความรู้ด้านการเงิน การลงทุนที่สูง แต่สิงค์โปรก็หนีไม่พ้นภัยจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งด้วยเช่นกัน
วันนี้ ทีมงาน “ผู้จัดการกองทุนรวม” ขอพามาดูแนวโน้มเศรษฐกิจของอังกฤษกันและสิงคโปร์กันว่า ขณะนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง เพื่อมีใครสนใจจะเข้าลงทุนในแดนผู้ดี และเมืองลอดช่องแห่งนี้ จะได้รับทราบข้อมูลไปช่วยในการพิจารณาลงทุน ว่าตกลงแล้วสถานการณ์ตอนนี้ของทั้ง 2 ประเทศ เป็นสวรรค์สดใสเรืองรองขนาดไหนกันแน่?
แนวโน้มเศรษฐกิจเมืองผู้ดีชะลอตัวต่อเนื่อง
สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ระบุว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Real GDP Growth) ของอังกฤษในช่วง Q4/51 ขยายตัวอยู่ที่ระดับ -1.5% qoq โดยเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ชะลอตัวต่อเนื่องจาก Q3/51 ที่หดตัวลง -0.6% qoq ในขณะที่เทียบเป็นรายปีเป็นการชะลอตัวลง -1.8% yoy ส่งผลให้ทั้งปี 2551 เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวอยู่ที่ระดับ 0.6%
โดย SCRI ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของอังกฤษยังคงมีทิศทางอ่อนแอลงอย่างมาก และคาดว่าจะส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมทรุดตัวลงอย่างหนักในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยจากการที่ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของอังกฤษในช่วงที่ผ่านมานั้นยังคงมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาบ้านของอังกฤษในปี 2551 ที่ปรากฏว่าได้มีการปรับลดลงหนักสุดในรอบ 18 ปี ประกอบกับการที่สถาบันการเงินต่างๆยังคงหลีกเลี่ยงการปล่อยกู้ เนื่องจากกลัวความเสี่ยงจากภาวะหนี้เสีย ทำให้ในภาพรวมแล้วแม้ว่าธนาคารกลางอังกฤษจะได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 1.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ 315 ปีของธนาคารกลางอังกฤษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอังกฤษในเดือนธ.ค. ก็ยังคงมีการปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2547 ส่งผลให้ในภาพรวมแล้วนั้น SCRI คาดว่าอย่างน้อยแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปี2552 ภาคการบริโภคในประเทศโดยรวมของอังกฤษ ก็จะยังคงมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการขาดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความผันผวนสูง ซึ่งก็เท่ากับว่าจะส่งผลให้เครื่องจักรที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างภาคการบริโภค ยังคงไม่มีการฟื้นตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อรวมไปถึงภาพรวมของภาคการค้าต่างประเทศที่ชะลอตัวไปทั่วโลกแล้ว ทิศทางของเศรษฐกิจของอังกฤษในช่วงดังกล่าวโดยรวมแล้วคาดว่าจะยังคงตกอยู่ในช่วงภาวะถดถอยลงมากขึ้น
นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตที่สำคัญคือ ปัญหาของการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจในประเทศของอังกฤษค่อนข้างที่จะคล้ายคลึงกับประเทศต้นตอของวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้อย่างสหรัฐฯ อย่างมาก นั่นเท่ากับว่าจะทำให้การฟื้นตัวของทั้ง 2 ประเทศจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจากสถานการณ์ที่ยังคงมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง SCRI มองว่าอาจจะทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งสองประเทศจะไม่เกิดขึ้นในปี 2552 ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอังกฤษกล่าวว่า ในการประชุม ณ กรุงลอนดอนในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ เหล่าผู้นำจากกลุ่ม G-20 อาจพูดคุยเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินโลก ซึ่งอาจนำไปสู่การลดก๊าซคอร์บอนในกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและประเทศเศรษฐกิจใหม่
ไซม่อน เฟรเซอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการยุโรปและโลกาภิวัฒน์ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า ผู้นำกลุ่ม G-20 ยังอาจย้ำถึงเรื่องการเปิดเสรีการค้าเพื่อต่อต้านการผูกขาดทางการค้าด้วย
"มาตรการที่เราใช้นอกจากจะรับมือวิกฤตการเงินโลกในปัจจุบันแล้ว ยังต้องช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและสร้างระบบเศรษฐกิจที่ใสสะอาดกว่าเดิมได้ในอนาคต หากเราจะอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็ต้องการให้เม็ดเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน" นายเฟรเซอร์กล่าว พร้อมกันนั้นยังกระตุ้นให้ G-20 กระตุ้นการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและเทคโนโลยีสะอาด เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศกลุ่ม G-20 ประกอบด้วยประเทศในกลุ่ม G-8 ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐ บวกกับประเทศอาร์เจนติน่า ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดิอารเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี และสหภาพยุโรป สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสิงคโปร์
รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยใช้วงเงิน 20,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์หรือประมาณ 13,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของสิงคโปร์เทียบเท่ากับ 8 % ของ GDP สิงคโปร์ โดยวงเงินของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสิงคโปร์จะเน้นไปที่การจ้างงานและรักษาตำแหน่งงานโดยมีวงเงิน 5,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ วงเงินในกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคาร 5,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์และวงเงินในการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน การศึกษาและสาธารณสุขที่วงเงิน 4,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ทั้งนี้ SCRI ประเมินว่าแผนกระตุ้นสิงคโปร์นั้นไม่น่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์จนถึงระดับที่พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากเศรษฐกิจสิงคโปร์เชื่อมโยงกับต่างประเทศในระดับสูงและสิงคโปร์นั้นมีข้อจำกัดทางพื้นที่ทางกายภาพส่งผลให้การใช้นโยบายการคลังในการสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เพื่อเน้นการจ้างงานจำนวนมากนั้นอาจจะไม่ได้ผล นอกจากนี้ พลเมืองสิงคโปร์นั้นมีความชำนาญในธุรกิจการเงิน การบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งโดยลักษณะธุรกิจดังกล่าวนี้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในระดับสูง การฟื้นตัวของสิงคโปร์ยังต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหรืออีกนัยหนึ่งคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ G-3 ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศภาคพื้นยุโรป (Euro Area)
ขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศว่ายังไม่มีแนวโน้มที่จะใช้โยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงยืนยันช่วงของอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สิงคโปร์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปัจจุบันว่ายังเป็นช่วงของอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม SCRIประเมินว่าจุดยืนด้านอัตราแลกเปลี่ยนของสิงคโปร์นั้นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนได้ในอนาคตอันใกล้ โดย SCRI คาดว่าในอนาคตอันใกล้ สิงคโปร์เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจสิงคโปร์นั้นเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในระดับสูง การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าและบริการของสิงโปร์ในตลาดโลก
ในภาพรวม SCRI ประเมินว่าประสิทธิผลของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค้านี้มีจำกัดประเทศคู่แข่งทางการค้าอื่นๆมีแนวโน้มที่จะลดค่าเงินตามในอนาคต อาทิ จีน ประเทศแถบอาเซียนและประเทศอื่นๆจะเน้นยุทธศาสตร์การขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออก (Export led growth) ดังนั้น การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าของสิงคโปร์จะได้ประสิทธิผลที่น้อยลง
ด้านนักวิเคราะห์จากเครดิต สวิส กรุ๊ป ให้ความเห็นถึงเศรษฐกิจในสิงคโปร์ ว่าจำนวนประชากรในสิงคโปร์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในปี 2553 เนื่องจากชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในสิงคโปร์อาจต้องเดินทางออกนอกประเทศถึง 200,000 คน จากผลกระทบของสถานการณ์ในตลาดแรงงานที่ซบเซาจนทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างมากท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรง
นอกจากนี้ ตัวเลขผลผลิตสินค้าและการส่งออกที่ซบเซา รวมถึงการควบรวมกิจการในภาคธุรกิจและสถาบันการเงินอาจทำให้เกิดการปลดพนักงานขนานใหญ่ และคาดว่าในปี 2553 ยอดคนตกงานในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 300,000 คน โดย 2 ใน 3 ของจำนวนนี้ล้วนเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้จำนวนประชากรในสิงคโปร์ลดลง 3.3% เหลือ 4.68 ล้านคน จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์อาจหดตัว 2.8% ในปีนี้ ขณะที่รัฐบาลคาดว่าตัวเลขจีดีพีจะลดลงอย่างมากแค่ 2% ขณะที่อัตราว่างงานในปี 2553 อาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ 5.6%