xs
xsm
sm
md
lg

ชี้นักลงทุนขนเงินเข้าตลาด คาดดันบาทแตะ33.50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กสิกรไทยฟันธงค่าเงินบาทสิ้นเดือนก.ย.นี้แตะ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐตามค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค และสิ้นปีได้เห็น 33 บาทต่อดอลาร์สหรัฐฯ เหตุนักลงทุนโยกเงินจากสหรัฐฯเข้าลงทุนทั้งตลาดหุ้นและตลาดเงิน

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK) เปิดเผยว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามการแข็งค่าของค่าเงินในภูมิภาค โดยสิ้นเดือนกันยายนนี้ คาดว่าค่าเงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปี 2552นี้จะแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.1 % ค่าเงินของสิงคโปร์แข็งค่าขึ้น 1.4 % ค่าเงินของมาเลเซีย 1.2 % ค่าเงินของฟิลิปปินส์ 2 % ค่าเงินของเกาหลีใต้ 2.4 % และค่าเงินของอินโด 4.2 %” นายธิติ กล่าว

ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินในภูมิภาค มีสาเหตุมาจากนักลงทุนเกิดความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีสัญญาณเริ่มปรับตัวขึ้น จึงได้โยกเงินลงทุนที่เคยเข้าไปซื้อดอลลาร์สหรัฐในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ กลับมาลงทุนในตลาดหุ้น และลงทุนในค่าเงินสกุลต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

“ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา นักลงทุนจะโยกเงินลงทุนไปซื้อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมั่นใจว่าเป็นสกุลเงินที่มีสภาพคล่องสูง แม้ว่าการลงทุนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนเป็น 0 % ก็ตาม และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นักลงทุนก็จะหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง เห็นได้จากการโยกเงินที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ กลับเข้ามาลงทุนในสกุลเงินต่างๆ และลงทุนในตลาดหุ้นทำให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น” นายธิติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่่านมา ค่าเงินบาทของไทยได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนทำสถิติสูงสุดในรอบ 1 ปี ที่ 33.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พยายามเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทในประเทศสัปดาห์นี้อาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 33.60-33.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ปัจจัยการเมืองในประเทศ ทิศทางของสกุลเงิน/ตลาดหุ้นในภูมิภาค ตลอดจนสัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท. ขณะที่ทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจขึ้นอยู่กับการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของ Conference Board ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านมือสอง-บ้านใหม่เดือนสิงหาคม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนกันยายน(ขั้นสุดท้าย) รวมทั้ง นักลงทุนยังจับตาผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงวันที่ 22-23 กันยายน ตลอดจนการประชุมของกลุ่ม G-20 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24-25 กันยายนนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น