xs
xsm
sm
md
lg

มูลค่าหุ้นไทยหลุด 5 ล.ล้าน พิษเลห์แมนฯ ป่วนทั่วโลก-ตลท.อนุมัติตั้งกองทุนอุ้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหุ้นไทยรูดหนักตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่ร่วงระนาว หลัง “เลห์แมน บราเธอร์ส” ล้มละลาย นักลงทุนหวั่นผลกระทบทวีความรุนแรงและยืดเยื้อ ดัชนีหุ้นไทยรูดต่ำสุดกว่า 27 จุด แม้จะดีดกลับมาปิดที่ 624.56 จุด ลดลง 17.83 จุด หรือ 2.78% โดยนักลงทุนต่างชาติขายทิ้งเกือบ 2.2 พันล้านบาท ฉุดมาร์เกตแคป หลุด 5 ล้านล้านบาท ทุบสถิติในรอบ 3 ปี 7 เดือน ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ไฟเขียวจัดตั้งแมทชิงฟันด์พยุงหุ้น 5 กองรวด มูลค่า 2 พันล้าน อ้างฉวยจังหวะซื้อของถูก ด้าน ก.ล.ต.ปลอบขวัญพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแกร่งให้ลงทุนอย่างรอบคอบ ส่วนนักวิเคราะห์ มั่นใจกระทบระยะสั้นๆ ดัชนีไม่หลุด 600 จุด

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (16 ก.ย.) ยังคงได้รับผลกระทบจากการประกาศล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ที่นักลงทุนวิตกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะบานปลายและยืดเยื้อเป็นเวลานาน บวกกับการเมืองที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง หากพรรคร่วมรัฐบาลยังสนับสนุนพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตั้งแต่เปิดการซื้อขายในช่วงเช้า และลงไปลึกสุดที่ 614.72 จุด หรือปรับตัวลดลงกว่า 27.67 จุด หลังจากที่นักลงทุนได้เทขายหุ้นออกมาอย่างแรงเพื่อเก็บรักษาเงินสดไว้ ก่อนที่มีแรงซื้อเข้ามาช่วงท้ายตลาดผลักดันดัชนีตลาดหุ้นจะปรับตัวปิดที่ระดับสูงสุดของวันที่ 624.56 จุด ลดลงจากวันก่อน 17.83 จุด คิดเป็น 2.78% มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 13,924.06 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศได้เทขายหุ้นไทยออกมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดขายสุทธิสูงถึง 2,164.17 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 349.80 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 2,513.98 ล้านบาท

สำหรับหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้มากที่สุด คือ หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ราคาปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า โดยธนาคารกสิกรไทย มีราคาปิดที่ 63 บาท ลดลงจากวันก่อน 2 บาท หรือ 3.08% ธนาคารกรุงเทพ ราคาปิด 103 บาท ลดลง 7 บาท หรือ 6.36% และธนาคารไทยพาณิชย์ ราคาปิด 70 บาท ลดลง 2.50 บาท หรือ 3.45%

จากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงครั้งนี้ ได้ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตลาด ราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 4.94 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี 7 เดือน หรือประมาณ 43 เดือน นับจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 มูลค่าตามราคาตลาดรวมอยู่ที่ 4.95 ล้านล้านบาท

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การประกาศล้มละลายของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงประมาณ 2.78% ซึ่งน้อยกว่าตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวลดลง 4-5% ขณะเดียวกัน ปัจจัยด้านการเมืองยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หากการเมืองเริ่มคลี่คลายและสามารถเดินหน้าต่อไปได้จะทำให้ปัจจัยลบภายในประเทศลดลง

จากการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมากนั้น คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้พิจารณาอนุมัติร่วมลงทุนกองทุนแมทชิงฟันด์ จำนวน 5 กองทุน ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นทั่วไปมูลค่ากองทุนละ 400 ล้านบาท รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 5 แห่ง ที่ได้รับอนุมัติ ประกอบด้วย บลจ.กรุงศรีอยุธยา บลจ.ธนชาต บลจ.กรุงไทย บลจ.กสิกรไทย และ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศ)

โดยตลาดหลักทรัพย์จะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกองทุนแมทชิงฟันด์ ในวันที่ 26 กันยายนนี้ แต่กองทุนดังกล่าวสามารถที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ทันที ขึ้นอยู่กับผู้บริหารจัดการกองทุน โดยหากกองทุนดังกล่าวมีการลงทุนไปแล้วคิดเป็น 1 ใน3 ของมูลค่ากองทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะใส่เงินลงทุนร่วมอีก 100 ล้านบาท

“ตลาดหลักทรัพย์ให้ บลจ.ยื่นความจำนงขอจัดตั้งกองทุนแมทชิงฟันด์ ภายในวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งบอร์ดได้อนุมัติให้จัดตั้งวานนี้ (16 ก.ย.) เพราะเห็นว่าราคาหุ้นปรับตัวลดลงมามากแล้ว หากเข้าไปลงทุนในช่วงนี้จะได้รับผลตอบแทนที่ดี โดย 5 กองทุนที่อนุมัตินั้นเป็นกองทุนที่จัดตั้งอยู่แล้ว แต่มีการเพิ่มทุน” นางภัทรียา กล่าว

สำหรับกองทุนแมทชิงฟันด์ที่เป็นการระดมทุนจากนักลงทุนถาบันขนาดกองทุนละ 1,000 ล้านบาทนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงานที่จะต้องมีการขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย บลจ.ที่เสนอมาพบว่านักลงทุนสถาบันที่จะเข้ามาลงทุนนั้นเป็นสถาบันการเงินภายในประเทศ ส่วนนักลงทุนต่างประเทศมีน้อยมาก ขณะที่กองทุนแมทชิงฟันด์ ที่จะมีการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กนั้น ตลาดหลักทรัพย์เปิดให้ บลจ.ยื่นความสนใจที่จะจัดตั้งกองทุนในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้

นางภัทรียา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามผลกระทบต่อสถาบันการเงินจากการล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส นั้น ธปท.ระบุว่า มีธนาคารพาณิชย์ไทยได้รับผลกระทบเพียง 4.3 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก ส่วนผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนไทยนั้น เลห์แมน บราเธอร์ส เข้ามาลงทุนน้อย และเชื่อว่า หาก เลห์แมนฯ มีการขายหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ถือออกมาเชื่อว่าจะมีผู้สนใจเข้ามาซื้อลงทุนจากได้ราคาที่เหมาะสม

“นักลงทุนจะต้องมีการติดตามสถานการณ์ของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ว่า ทางการจะมีมาตรการดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น”

***ก.ล.ต.เตือนลงทุนอย่างรอบคอบ

นายประสงค์ วินัยแพทย์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การประกาศล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส ได้ส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคและไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการปรับสภาพคล่องเพื่อรองรับการไถ่ถอนการลงทุนของผู้ลงทุนต่างประเทศ ดังนั้น นักลงทุนจะต้องตัดสินใจซื้อขายหุ้นด้วยความรอบคอบ เพราะระบบเศรษฐกิจของไทยยังมีความมั่นคงและมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี

“สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ประสานกับหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขณะที่ธุรกิจด้านหลักทรัพย์ นั้น เลห์แมนฯ ไม่ได้มีการประกอบธุรกิจในไทย”

สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ส่วนหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามดูแลใกล้ชิดอยู่แล้ว ผู้ลงทุนจึงน่าจะคลายความกังวลลงได้

“ปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ รวมถึง เลห์แมนฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจในประเทศไทย โดย ก.ล.ต.และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้ประสานงานและติดตามข้อมูลที่อาจเกิดผลกระทบกับบริษัทจดทะเบียนและบริษัทหลักทรัพย์อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว” นายประสงค์ กล่าว

***ส.นักวิเคราะห์ยันดัชนีไม่หลุด 600 จุด

นายพงศ์พันธุ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในฐานะกรรมการของสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยคงได้รับผลกระทบด้านจิตวิทยาจากเหตุการณ์ล้มละลายของ เลห์แมนฯ ในระยะสั้น แต่เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยคงไม่หลุดระดับ 600 จุดอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นในปี 2551 นี้ คาดว่า จะสามารถยืนได้เหนือระดับ 700-750 จุด โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์การเมืองที่น่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน หากมีการประกาศยุบสภาจะช่วยผลักดันให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 660-670 จุด แต่ถ้าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีความเป็นกลางอาจจะสนับสนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 680-700 จุดได้ ส่วนกรณีเกิดรัฐประหาร แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงเหลือที่ 610.612 จุด

“เลห์แมนฯ ล้มละลายไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากเลห์แมนฯ ถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมในบริษัทจดทะเบียน รวมประมาณ 6 พันล้านบาท ถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนโดยรวม”

สำหรับสถาบันการเงินของไทยที่เข้าไปลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ เลห์แมนฯ มีมูลค่ารวมประมาณ 9.7 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มีการตั้งสำรองฯไว้เรียบร้อยแล้วในระดับ 80-90% โดยธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ถือเป็นแบงก์ที่น่าจะมีการลงทุนในตราสารที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมนฯ มากที่สุด ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีสัดส่วนการลงทุนน้อยมาก

นายพงษ์พันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ปัญหาเลห์แมนฯ จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่น แต่จะไม่รุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย เพราะอย่างจีนและอินเดีย มีสภาพคล่องสูงและปรับตัวได้ทันท่วงที ขณะที่ไทยเองยังมีโอกาสเติบโตจากภาคการลงทุน จากการแข็งค่าเงินบาทเป็นปัจจัยหนุน

ด้านปัจจัยด้านเงินเฟ้อในประเทศไทย มองว่า มีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศก็น่าจะได้เห็นในปี 2552 คาดว่า จะปรับลดประมาณ 0.50%

สำหรับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คืนวันที่ 16 ก.ย.2551 นี้ คาดว่า เฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% หลักจากสถาบันการเงินในสหรัฐฯ แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้วต้องการให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่า ขณะที่ในประเทศไทยนั้น คงจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปี 52 โดยปรับลดลงอีกประมาณ 0.50% เพราะปัจจุบันปัญหาเรื่องเงินเฟ้อที่เป็นแรงกดดันเริ่มมีแนวโน้มลดลงแล้ว

***คาดตลาดหุ้นผันผวนในแดนลบ***
นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์นักลงทุน บล.พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากจากความกังวลปัญหาเรื่องของเลห์แมนฯ ประกาศล้มละลาย จนส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงการเมืองในประเทศที่พรรคพลังประชาชนมีมติเสนอชื่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (17 ก.ย.) ตลาดหุ้นยังคงตกอยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากนักลงทุนยังไม่วางใจปัญหาเลห์แมนฯ โดยให้แนวรับที่ 610 จุด และแนวต้านที่ 640 จุด รวมทั้งให้ติดตามผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ดังนั้น นักลงทุนควรชะลอการลงทุนออกไปก่อน

นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศตื่นตระหนกกับปัญหาการล้มละลายของเลห์แมนฯ จึงได้เทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมนฯ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

“วันนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ โดยให้แนวรับที่ 620 จุด และแนวต้านที่ 642 จุด โดยปัจจัยที่ต้องจับตา คือ เรื่องของตลาดหุ้นทั่วโลก และการประชุมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนที่น่าลงทุนในระยะยาวจะเป็นหุ้นกลุ่มธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น”
มูลค่าหุ้นไทยหลุด5ล.ล้าน พิษเลห์แมนฯป่วนทั่วโลก ตลท.อนุมัติตั้งกองทุนอุ้ม
ตลาดหุ้นไทยรูดหนักตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่ร่วงระนาว หลัง เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย นักลงทุนหวั่นผลกระทบทวีความรุนแรงและยืดเยื้อ ดัชนีหุ้นไทยรูดต่ำสุดกว่า 27 ก่อน แม้จะดีดกลับมาปิดที่ 624.56 จุด ลดลง 17.83 จุด หรือ 2.78% โดยนักลงทุนต่างชาติขายทิ้งเกือบ 2.2 พันล้านบาท ฉุดมาร์เกตแคปหลุด 5 ล้านล้านบาท ทุบสถิติในรอบ 3 ปี 7 เดือน ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไฟเขียวจัดตั้งแมทชิ่งฟันด์พยุงหุ้น 5 กองรวด มูลค่า 2 พันล้าน อ้างฉวยจังหวะซื้อของถูก ด้าน ก.ล.ต. ปลอบขวัญพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแกร่งให้ลงทุนอย่างรอบคอบ ส่วนนักวิเคราะห์ มั่นใจกระทบระยะสั้นๆ ดัชนีไม่หลุด 600 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น