วิกฤตการเงินสหรัฐฯ – ยุโรป ฉุดตลาดหุ้นไทยทรุดหนัก หลังนักลงทุนต่างชาติทิ้งไม่หยุด ตั้งแต่ยอดขายสิทธิทะลุ 1.33 แสนล้านบาท มูลค่าตลาดรวมหายไปแล้วเฉียด 3 ล้านล้านบาท เหลือแค่ 3.75 ล้านล้านบาท หรือลดลงกว่า 43% บล.เอเซีย พลัส ชี้ต่างชาติถือหุ้นไทยลดลง 2%ของมูลค่าตลาดรวม พร้อมเตือนต่างชาติส่งสัญญาณขายเงินลงทุนที่ร่วมธุรกิจในบจ.ออก หลังเทขายเงินลงทุนในตลาดหุ้นเกือบหมดแล้ว ด้านบล.เคจีไอ แจงต่างชาติยังไม่หวนคืนตลาดหุ้นไทย เชื่อถึงสิ้นปีขายทิ้งอีก 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวน
วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ลุกลามและกระทบต่อตลาดเงินทั่วโลกในปัจจุบันนี้ ได้ส่งผลให้กระทบต่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลงทั่วโลก เพราะนักลงทุนต่างเทขายหุ้นเพื่อถือครองเงินสดไว้เสริมสภาพคล่องและลดความเสี่ยงจากการลงทุน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเองยังต้องเผชิญปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยตั้งแต่ต้นปี 51 ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศได้ทยอยขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายสุทธิสูงถึง 1.33 แสนล้านบา
โดยผลสำรวจความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยตั้งแต่สิ้นปี 2550 กับล่าสุด (17 ต.ค. 51) พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงจากสิ้นปีที่ 858.10 จุด เหลือ 471.31 จุด ลดลงกว่า 386.79 จุด หรือคิดเป็นสัดส่วน 45.08% ขณะที่มูลค่าตามราคาตลาดรวมลดจาก 6.63 ล้านล้านบาท เหลือ 3.75 ล้านล้านบาท ลดลงกว่า 2.88 ล้านล้านบาท คิดเป็น 43.44%
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP เปิดเผยว่า ขณะนี้สัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศระยะยาวในตลาดหุ้นไทยคงเหลือประมาณ 28.2% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ลดลงจากไตรมาส 1/2549 ที่มีสัดส่วนการลงทุนอยู่ 30.5% ของมาร์เกตแคป หรือลดลงประมาณ 2% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ขณะที่สัดส่วนการลงทุนผ่านไทยเอ็นวีดีอาร์ยังคงมีสัดส่วนที่ใกล้เคียง
ทั้งนี้ จากจากการรวบรวมข้อมูลการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ปี 2547 ถึงตุลาคม 2550 นั้นมียอดซื้อสุทธิ 3.17 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนระยะยาวที่เข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนจำนวน 1.2 แสนล้านบาท ในสักษณะเดียวกันกับกองทุนเทมาเส็กที่เข้ามาถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN และจีอี แคปปิตอล เข้ามาลงทุนในธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นลักษณะร่วมทำธุรกิจ ส่วนที่เหลือเป็นเงินลงทุนในตลาดหุ้นอีก 1.97 แสนล้านบาท
“จากปัญหาสถาบันการเงินนั้นนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนระยะยาวในบจ. นั้น มีสัดส่วนลดลงประมาณ 2% ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ขณะที่เงินลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นได้เทขายออกมาเกือบหมดแล้ว ระยะต่อไปก็คงจะมีแรงเทขายจากในส่วนของเงินลงทุนระยะยาว หลังจากในช่วง 5- 6 เดือนที่ผ่านมา เริ่มมีแรงขายออกมาบ้าง”นายเทิดศักดิ์ กล่าว
สำหรับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2550 ถึงขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าขายออกมาเกือบหมดแล้ว ในส่วนเม็ดเงินลงทุนที่เคลื่อนไหวในตลาดหุ้น ซึ่งแนวโน้มนักลงทุนต่างชาติยังคงมีการขายหุ้นไทยออกมาต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีหน้า จากปัญหาวิกฤตทางการเงินสหรัฐฯ และยุโรป จากปัญหาที่ยังไม่จบ
นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่สามารถที่จะประเมินได้ว่าจะขายออกมาอีกเท่าไร เพราะขึ้นอยู่ปัญหาต่างประเทศจะคลี่คลายแค่ไหน โดยแรงขายที่จะมีออกมานั้นจะเป็นลักษณะที่ชะลอตัว หลังจากทยอยขายเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นออกมาเกือบหมดแล้ว
**เคจีไอคาดต่างชาติขายสุทธิทั้งปี 1.6 แสนล.
นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนต่างชาตินั้นยังคงขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง และคงเป็นเรื่องยากที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อสุทธิจากปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ และยุโรปที่เกิดขึ้น แต่จากที่ผ่านมาได้มีการขายสุทธิหุ้นไทยออกไปจำนวนมากแล้วที่ 1.33 แสนล้านบาท และราคาหุ้นปรับตัวลดลงมา ทำให้ขายออกยากขึ้น ขณะที่ยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ปี 2548- 2550 มียอดซื้อสุทธิประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ทำให้ยังมีเม็ดเงินของต่างชาติคงเหลือที่จะสามารถขายได้อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
“หากจะมีการขายออกมาทั้งหมดนั้น เชื่อว่าจะต้องใช้เวลานาน เพราะขายลำบากขึ้นจากที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมามาก ทำให้คาดว่าแรงขายน่าจะชะลอตัวลง โดยเชื่อว่าจากนี้ถึงสิ้นปีน่าจะมีการขายหุ้นออกมาอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดขายสุทธิปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6 แสนล้านบาท และการที่ตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นจะเกิดจากแรงซื้อของนักลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก”
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมีแต่ขายออกมากกว่าเข้าซื้อ และแนวโน้มปีหน้าคงยังไม่กลับเข้ามา จากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยุโรป ที่ขายสินทรัพย์ออกมาต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของตนเอง ส่วนจะมีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติกลุ่มใหม่ในเอเชียเข้ามาลงทุนแทนนั้นก็เป็นไปได้ยาก เพราะตลาดหุ้นในประเทศได้ปรับตัวลดลงเช่นกัน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
“จากต้นปีถึงเดือนกันยายนนั้น สัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเฉลี่ยลงทุนในตลาดหุ้นไทยลดลงเหลือ 31.7% จากปี 2550 ที่มีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยประมาณ 33% จากที่มีการขายหุ้นไทยออกมาเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และนำเงินไปคืนแก่ผู้ถือหน่วย”
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงเกิดวิกฤตสถาบันการเงินที่ยังไม่คลี่คลายนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า ให้นักลงทุนลงทุนในหุ้นสัดส่วน 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลือให้ถือเป็นเงินสด ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชนขนาดใหญ่ เป็นต้น
***ตลาดหุ้นไทยยังมืดมน
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงมีการขายหุ้นไทยต่อเนื่องอีกสักระยะ จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ยุโรปที่ยังไม่คลี่คลาย หากสถาบันการเงินยังประสบปัญหาขาดทุนจะทำให้มีแรงเทขายหุ้นออกมามากขึ้น บวกกับปัญหาการเมืองในประเทศยังมีคลี่คลาย หากทั้ง 2 ปัจจัยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
จากข้อมูลการขายของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีการขายสุทธิออกมา 2. แสนล้านบาท ทำให้ยอดเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติคงเหลืออีก 2 แสนล้านบาท จากยอดการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่กลางปี 2547- กรกฎาคม 2550 อยู่ที่ 4 แสนล้านบาท
“ขณะนี้การถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก จากที่เพิ่งขายออกมา 2.1 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่าการถือครองที่ลงทุนในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจที่มีการลงทุนมาแล้ว 10 ปีนั้น เชื่อว่าจะไม่มีการขายออกไปแน่นอน”
***แนวโน้มตลาดหุ้นยังผันผวน***
นายสมชาย เอนกทวีผล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ SYRUS กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สัปดาห์ที่ผ่านมา(17 ต.ค.) ยังคงผันผวน ตามทิศทางตลาดในต่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ยังอึมครึม ขณะที่แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยจะยังคงผันผวนตลาดทิศทางตลาดในต่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยังมืดมน โดยมีแนวรับ 460 จุด และแนวต้านที่ 480 จุด
นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยยังคงไร้ทิศทาง และมีความผันผวน โดยนักลงทุนจะต้องจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในประเทศที่จะทยอยประกาศออกมา รวมถึงตลาดหุ้นต่างประเทศ ให้แนวรับที่ 450 จุด และแนวต้านที่ 480 จุด