นายกรัฐมนตรีคาดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 จะสามารถเบิกจ่ายได้ในต้นเดือนมีนาคม ระบุภายในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อยุติในเรื่องนโยบายเรียนฟรี คาดแนวโน้มจ่ายเงินประกันตนในรูปเช็ค เผยยึดมั่นความซื่อสัตย์ในการบริหาร ส่วนเรื่องความเห็นต่างถือเป็นธรรมดา ย้ำจะไม่ใช้เวทีนี้โต้ตอบทางการเมือง
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์"
วันนี้(15 ก.พ.) นายอภิสิทสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ว่าขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่ได้มีการประชุมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 หรืองบประมาณกลางปีเมื่อวันพุธ-พฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.1 แสนล้านบาท ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 วาระที่ 3 เรียบร้อยแล้ว
“ผมถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านสมาชิกทุกท่าน ท่านกรรมาธิการ และท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ทำให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปครับ งบประมาณฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งขณะนี้กำหนดเอาไว้ว่าจะเป็นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เราก็หวังว่างบประมาณนี้จะผ่านสภาฯ ได้ ประมาณวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งถ้าหากว่าเป็นไปตามตารางเวลาที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ก็หมายความว่างบประมาณนี้จะพร้อมใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นไป ก็ตรงกับที่ผมได้เคยพูดคุยกับพี่น้องประชาชนเอาไว้”นายกรัฐมนตรี กล่าว
ยันจะดูแลประชาชนทุกกลุ่ม
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวย้ำถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีจำนวนมากว่า หลายคนอาจมีความรู้สึกว่ามาตรการนั้นอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับตัวท่าน ก็สอบถามมา บางทีเหมือนกับรู้สึกน้อยใจว่าทำไมไม่ได้อยู่ในมาตรการความช่วยเหลือตรงนี้ อยากจะเรียนว่าจริงๆกำลังพยายามช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม
ไม่ทอดทิ้งเกษตรกร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวย้ำถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยเริ่มจากกลุ่มเกษตรกรว่า มีมาตรการแทรกแซงราคาพืชผลหลักๆก็ยังดำเนินต่อไป รวมทั้งมีการเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติการช่วยเหลือเกษตรไปกลุ่มหนึ่ง 600 กว่าล้านบาท แต่ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรยังมีหนี้สินอีกจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้นายกรณ์ จาติกวณิชย์ รมว.รคลังได้เข้าไปดำเนินการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุด น่าจะได้ข้อยุติที่ดีพร้อมที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่จะถึงนี้
ส่วนเรื่องที่ทำกินนายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง ได้เดินหน้าเรื่องการจัดสรรที่ดินซึ่งอยู่ในการดูแลของราชการแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไปจัดสรรให้ประชาชนและเกษตรกร ก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นนายกฯยังได้กล่าวถึงโครงการชุมชนพอเพียง ที่เป็นจุดสำคัญในการดูแลในเรื่องของการสร้างกิจกรรม สร้างงาน ให้กับประชาชนในชนบทตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้าใจว่าเงินก้อนแรกคงจะสามารถลงไปได้ในเดือนมีนาคมนี้ และขณะนี้ความพร้อมของโครงการคือว่าได้มีการพิจารณาในเรื่องหลักเกณฑ์ต่าง ๆ แล้ว
ย้ำนโยบายดูแลภาคแรงงาน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวย้ำถึงการดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงานว่า ตอนนี้ตนให้ส่งตัวเลขสถานการณ์แรงงานทุกสัปดาห์หรือ 2 สัปดาห์ เพื่อดูว่ามีการเลิกจ้างมากน้อยแค่ไหน และมีสัญญาณอะไรบ้างซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการเลิกจ้างในกิจการต่าง ๆ และใน ขณะเดียวกันก็มีการสำรวจในเรื่องของตำแหน่งงานที่ว่าง และนอกจากนี้ครม.อนุมัติการชดเชยในเรื่องของผู้ถูกเลิกจ้าง ซึ่งปกติมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ 6 เดือน ก็ขยายเป็น 8 เดือน โดยให้มีผลกับผู้ที่ถูกเลิกจ้างตั้งแต่เดือนธันวาคมปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา
“อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงการฝึกอบรมแรงงาน5แสนคนมีความคืบหน้าไปมาก เริ่มมีบริษัทเอกชนติดต่อเข้ามาทำข้อตกลงว่า ถ้ามีการฝึกอบรม รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือแล้ว เขาจะรับประกันหรือมีข้อผูกมัดชัดเจนว่าจะไม่เลิกจ้าง บุคลากรของเขาต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 1 ปี รัฐบาลก็สมทบเงินส่วนหนึ่งในการดูแลตรงนี้ เพื่อป้องกันการเลิกจ้าง ตรงนี้ก็เป็นแนวทางสำคัญที่มีความคืบหน้าไป ผมได้ให้นโยบายชัดเจนครับว่าโครงการการฝึกอบรมครั้งนี้ ทุกโครงการต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่า ฝึกเสร็จแล้วจะสามารถที่จะไปได้งานที่ไหน เพราะฉะนั้น จะขอเรียนนะครับเพราะว่ามีพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ที่ห่วงมากที่สุดก็คือเรื่องปัญหาการว่างงาน เรียนว่าตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ”นายกฯ กล่าว
เผยเงิน 2 พันบาทอาจจ่ายเป็นเช็ก
นายกฯ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ประจำ 2,000 บาทว่า ขณะนี้ความคิดในเรื่องของการจ่ายเงิน 2,000 บาทจะมีหลากหลายอยู่ เนื่องจากจะมีคนหลายกลุ่ม ในส่วนของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ คงจะใช้วิธีการในการจ่ายพร้อมไปกับในส่วนของเงินเดือน ในส่วนของประกันสังคมขณะนี้เริ่มมีหนังสือออกไปแล้ว ขอเรียนว่าไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน 2,000 บาทซึ่งจะได้ตามเกณฑ์ทุกคน เพียงแต่ว่าขณะนี้เรากำลังจะดูว่าจะสามารถช่วยเหลือเพิ่มเติมได้หรือไม่ จึงทำให้รูปแบบการจ่ายเงินจะใช้เวลาอีกสักนิดหนึ่งในการได้ข้อสรุป ถ้าเราจ่ายเป็นเงินสดหรือโอนเงินเข้าบัญชี ก็เป็นทางเลือกทางหนึ่ง แต่ขณะนี้เริ่มมีเอกชนที่สนใจที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเพิ่มเติมด้วย คือว่าถ้าสามารถทำในรูปของเช็ค และเอาเช็คนั้นไปใช้จ่ายในส่วนของเขา เขาอาจจะมีส่วนลดให้
ส่อให้เงินมากกว่า2พัน
“เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็น 2,000 บาท อาจจะได้มากกว่านั้น ตรงนี้คือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลกำลังที่จะมาทบทวนพิจารณาว่าจะจ่ายออกไปเป็นรูปเช็คดีหรือไม่ เพราะว่าถ้ามีความสนใจจากทางเอกชนที่มาร่วมในโครงการในลักษณะนี้ก็จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มรายได้ และกระตุ้นการใช้จ่ายเงินของพี่น้องประชาชนให้สมกับวัตถุประสงค์ของโครงการนี้”นายกรัฐมนตรี กล่าว
ย้ำเรียนฟรี15ปีได้ใช้จริงเทอมหน้า
นายฯ กล่าวย้ำอีกนโยบายคือการลดภาระให้เรียนฟรี 15 ปีว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อยุติว่ารูปแบบการช่วยเหลือในส่วนของตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบและการลดค่าใช้จ่าย จะสามารถดำเนินการจ่ายออกไปในรูปแบบไหนอย่างไร
“ขอเรียนนะครับว่าไม่มีรูปแบบไหนเสร็จที่มันสมบูรณ์ มีแต่ข้อดี ไม่มีข้อเสีย แต่ว่าขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ศึกษาข้อมูลและมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองในพื้นที่ต่าง ๆ และจะสรุปภายในสัปดาห์หน้า แต่ยืนยันว่าทันในเรื่องของการเปิดเทอมเดือนพฤษภาคมนี้อย่างแน่นอน”นายกฯ กล่าว
ผู้สูงอายุ-อสม.ได้เงินแน่ๆ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงเงินเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุว่า จะทำเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ แล้วในเดือนเมษายนก็พร้อมที่จะจ่ายเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อเดือน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงวงเงิน ซึ่งหมายความว่าอาจจะมีการเพิ่มขึ้นในอนาคตต่อไปข้างหน้า ส่วนกรณีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็เช่นเดียวกันอยู่ในกระบวนการของการสำรวจและมั่นใจว่าปลายเดือนมีนาคมนี้จะสามารถเริ่มต้นในการให้ค่าตอบแทนสำหรับ อสม. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเข้ามาร่วมในโครงการที่จะทำงานสาธารณสุขเชิงรุกต่อไป
ไม่ลืมดูแลเอสเอ็มอี
นายกฯ กล่าวถึงการดูแลกลุ่มผู้ประกอบการว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีมาตรการทางเศรษฐกิจช่วยเหลือเพิ่มเติม บรรดาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออกและผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการได้รับสินเชื่อจากระบบธนาคาร ครม.เศรษฐกิจในสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงได้มีการอนุมัติในเรื่องของโครงการค้ำประกันสินเชื่อในส่วนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าหรือเอ็กซิมแบงก์ และในส่วนบทบาทของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำหรับเอสเอ็มอี ตั้งเป้าว่าการค้ำประกันสินเชื่อปี 2552 ปีนี้จะเพิ่มจากปีที่แล้วเป็น 3 เท่า เรากำลังพูดถึงวงเงินในส่วนของการส่งออกประมาณ 150,000 ล้านบาท และในส่วนของเอสเอ็มอี สินเชื่อที่จะขยายได้ เราตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาทขึ้นไป
“อันนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระ ผมคงไม่ลงรายละเอียดโครงการ แต่เป้าหมายคือว่าทำให้การขยายสินเชื่อเพื่อหล่อเลี้ยงทั้งผู้ส่งออก ทั้งผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม เดินหน้าต่อไปได้ ก็ถือเป็นมาตรการสำคัญอีกมาตรการหนึ่งที่มีส่วนในการประคับประคองภาวะเศรษฐกิจ”นายกฯ กล่าว
เผยถูกเชิญร่วมประชุม G-20 เดือนเม.ย.
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงภาพของเศรษฐกิจระดับโลกว่า ในส่วนของมาตรการทางเศรษฐกิจหรือความเชื่อมั่นที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน วันเสาร์หน้า(21ก.พ.)รัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด บวกกับอีก 3 ประเทศใหญ่ ๆ คือญี่ปุ่น จีน และเกาหลี จะมาประชุมกันที่ภูเก็ต และจะดูว่ามีมาตรการความร่วมมือหรือมาตรการอะไรที่จะรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ เสนอต่อการประชุมผู้นำอาเซียน คือการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพที่ชะอำและหัวหินในปลายเดือนนี้นั่นเอง
นอกจากนั้น ในระดับโลกขณะนี้ความสนใจในเรื่องของการที่จะต้องร่วมมือกันแก้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปด้วยกัน ก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หลายคนคาดหมายหรือคาดหวังและรอคอยการประชุมของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด 20 ประเทศที่เรียกว่ากลุ่มประเทศ G-20 ที่จะประชุมกันที่ประเทศอังกฤษต้นเดือนเมษายน
“ขณะนี้ผมได้รับการติดต่อจากทางรัฐบาลอังกฤษว่าเขาต้องการที่จะขยายกลุ่ม G-20 ให้มีตัวแทนของภูมิภาคต่างๆ และขณะนี้ได้เชิญผมในฐานะที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอาเซียน ที่จะไปร่วมในการประชุมG-20 ก็จะเป็นG-20บวกแล้ว ที่ลอนดอนในวันที่ 2 เมษายนนี้ ซึ่งผมจะได้ใช้โอกาสนี้ในการพูดถึงมุมมองของประเทศ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยที่จริงแล้วไม่ควรจะมีปัญหาเลย เพราะว่าระบบการเงินต่างๆของเราไม่ได้มีปัญหาแต่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งในเรื่องของการส่งออก การท่องเที่ยว เราก็จะไปเสนอมุมมองว่ามาตรการต่างๆ ที่ทางประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังดำเนินการอยู่ ต้องเร่งทำ และต้องไม่มีลักษณะของการที่จะกีดกันไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน หรือการไหลเวียนของเงินทุนต่าง ๆ ให้มากระทบกับประเทศ อย่างประเทศไทย และประเทศพัฒนาอื่น ๆ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ตนจะเดินหน้าต่อไป เพราะว่าได้ไปทำเรื่องนี้ทั้งที่ดาวอส ได้ไปทำเรื่องนี้ในการคุยกับท่านนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นมาแล้ว ตรงนี้ก็เป็นภาพรวมของความคืบหน้าในเรื่องของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และรวมถึงความพร้อมของเราในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายเดือนนี้ด้วย
วาง3กรอบแนวคิดในแผนเศรษฐกิจฉ.11
นายกฯ กล่าต่อไปว่า ไม่ได้ละเลยการมองไปในระยะยาว ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้เริ่มต้นการให้นโยบายและหลักคิดในการที่จะจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 แล้ว ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานซึ่งกำลังสนใจในการที่จะดูแลอนาคตของเศรษฐกิจไทย ตนได้วางแนวทางคร่าวๆ ว่า สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องทำในอนาคตต่อไป คือ 1. เราจะต้องเป็นศูนย์กลางในเรื่องของอาหาร ซึ่งจะสามารถเติบโตได้อีกมากสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และจะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรของเรา 2. ภาคบริการของเรา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวมีศักยภาพสูงมาก แผนตรงนี้จะต้องมารองรับในการที่จะแก้ไขกฎระเบียบและอำนวยความสะดวกให้การท่องเที่ยวเป็นแหล่งเงินสำคัญที่จะเข้ามาสู่ประเทศเช่นเดียวกัน 3. ประเทศไทยจะต้องวางตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น กระบวนการพัฒนาทั้งหมดจะต้องอิงอยู่กับการที่จะดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และสุดท้ายสำคัญที่สุด คือตนเชื่อมั่นในเรื่องของการที่จะต้องใช้ฐานความรู้เป็นตัวรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในช่วงที่ 2 นายพิษณุ นิลกลัด ได้มาเป็นพิธีกรร่วมโดยได้ซักถามพร้อมเปิดโอกาสให้ซักถาม โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า พร้อมเปิดให้ซักถามได้ทุกประเด็นโดยมีเงื่อนไขอย่าใช้เวทีนี้เป็นตอบโต้ทางการเมือง ที่ผ่านมาขอขอบคุณภาคธุรกิจ เอกชน สภาผู้แทนราษฎรที่ให้ความร่วมมือการบริหารเดินหน้าไปได้ด้วยดี
นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบคำถามว่า รัฐบาลให้ความสำคัญปัญหาสังคม และไม่ได้นิ่งนอนกับปัญหายาเสพติ และการพนัน หากตำรวจท้องที่ไม่ดำเนินการจะต้องมีการจัดการอย่างเด็ดขาด ซึ่งรัฐบาลจะใช้กระทรวงยุติธรรมเป็นองค์กรหลักในตรวจสอบและกำลังขยายผลการจับกุมไปเรื่อยๆ ขณะนี้เราต้องคำนึงประเด็นประชาชนเป็นหลักส่วนประเด็นการเมือง จะต้องมีการพูดคุยกันไม่อยากให้เกิดการต่อต้านอย่างเช่นรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบคำถามในประเด็นรู้สึกอย่างไรกับการบริหารบ้านเมือง เกือบ 2 เต็มว่าไม่รู้สึกอึดอัดใจเพราะมีตั้งใจจริง และยืนอยู่บนความซื่อสัตย์โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ส่วนการคัดค้านหรือมีความเห็นแตกแยกถือเป็นเรื่องปกติ หากถึงที่สุดแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชาติได้ต้องปล่อยให้โอกาสคนอื่นบ้าง การบริหารชาติบ้านเมืองขณะนี้จึงโดยปราศจากความเครียด