ไทยจับมือ "มาเลเซีย-อินโดนีเซีย" จับมือสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เร่งเพิ่มศักยภาพ-ความแข็งแกร่ง "สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ" ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก พร้อมพัฒนาพื้นที่ "เซาท์เทิร์นซีบอร์ด" ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวสู่ภูมิภาค "ลี เซียน ลุง" รุดหารือทวิภาคี กระชับกรอบความร่วมมือ การค้า-การลงทุน โปรยยาหอม ความสำเร็จของอาเซียนในการร่วมมือทางการเศรษฐกิจและการเงิน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมสุดยอดแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย และไทย (Indonesia-malaysia-Thailand Growth Triangle:IMT-GT) ครั้งที่ 4 ซึ่งมีนายซูซิโล บัมบัง ประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซีย เป็นประธาน โดยระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการหารือถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของความร่วมมือในอนุภูมิภาค เพื่อช่วยให้ประชาชนของทั้งสามประเทศผ่านพ้นภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญได้
" ทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมกันดำเนินการตามพันธะสัญญาด้านความมั่นคงทางอาหาร พลังงานตามเป้าหมายระยะยาว รวมถึงการลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน และร่วมกันเรียกร้องนโยบายการสร้างความสมดุลการผลิตพืชเพื่อการบริโภคและผลิตเป็นพืชพลังงาน"
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนที่นำทางปี 50-54 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาแนวการเชื่อมต่อคมนาคม (โรดแมป) 5 กลุ่มที่เคยได้มีการดำเนินการมาแล้วให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อสร้างความสอดคล้องกันระหว่างการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย (เซาท์เทิร์นซีบอร์ด) และแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคของมาเลเซีย หวังดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวสู่ภูมิภาค ทั้งนี้ ประกอบด้วย
1.การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมจ.ระนอง-ภูเก็ต-อาเจะ 2.เส้นทางจ.สงขลา-ปีนัง-เมดาน 3.เส้นทางช่องแคบมะละกา 4.เส้นทางบันดา อาเจะ-เมดาน-ดูไม-ปาลัมบัง และ 5.เส้นทางเมกกะ-ดูไม ซึ่งจะเน้นการเร่งเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำและอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผ่านข้ามแดนก่อให้เกิดประโยชน์ในการไหลเวียนของสินค้าให้มากขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า นายลี เซียน ลุง (Mr. lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เยี่ยมคารวะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 พร้อมหารือทวีภาคีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ ณ Bor Fai 1 ชั้น 1 โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี สรุปสาระสำคัญของการสนทนา ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมไทยและสิงคโปร์ ที่มีความร่วมมือกันอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ทั้งภายใต้โครงการความร่วมมือต่างๆ อาทิ โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการไทยกับสิงคโปร์ (Civil Service Exchange Programme-CSEP) รวมทั้ง การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวภายใต้กรอบ Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship -STEER)
นอกจากนี้ ไทยและสิงคโปร์ยังเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งในกรอบความร่วมมืออาเซียนด้วย นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวถึงบทบาทของอาเซียนว่า จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มความร่วมมือที่สำคัญ ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ความสำเร็จของอาเซียนในการร่วมมือทางการเศรษฐกิจและการเงิน
ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการใช้กลไก ข้อริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiatives) ในระดับพหุภาคี เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพทางการเงินการคลังของชาติสมาชิก ซึ่งจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงการรับเชิญในฐานะประธานอาเซียน พร้อมประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เข้าร่วมการประชุม London Summit หรือ G 20 โดยระบุว่า ทั้งสองประเทศจะเป็นผู้แทนในเวทีระหว่างประเทศ ที่จะยืนยันทิศทางเดียวกันว่า อาเซียนจะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรี ส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน และไม่เห็นด้วยต่อมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งในรูปภาษีและมิใช่ภาษี
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยก็ใช้นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญต่อวินัยทางการคลัง ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังตอบรับคำเชิญนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป