"อภิสิทธิ์"เรียกประชุมคณะกรรมการโลจิสติกส์ปลายเดือนนี้ สภาพัฒน์เตรียมชงโครงการตกค้างจากรัฐบาล"ทักษิณ-สมัคร-สมชาย"ที่วางแผนจะลงทุนปี 53 มูลค่า 2.4 แสนล้านบาท จับตาอภิมหาโครงการยักษ์พื้นที่ประชาธิปัตย์ "แลนด์บริดจ์"และขุดคลองเชื่อมอ่าไทย-อันดามัน เชื่อมเศรษฐกิจแปซิฟิก-ตัวันออกกลาง-ยุโรป แทนช่องแคบมะละกา
วานนี้(5 ก.พ.) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) หรือคณะกรรมการโลจิสติกส์ ในปลายเดือน ก.พ.นี้ เป็นครั้งแรกภายหลังรับเป็นประธานคณะกรรมการฯ ด้วยตัวเอง เมื่อคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ผ่านมา
“เป็นการพิจารณาลำดับความสำคัญของการลงทุนในระบบโลจิสติกส์มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ให้ชัดเจน ว่าควรดำเนินโครงการใดก่อนหรือหลังเพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศและลดต้นทุนของผู้ประกอบการ”
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดที่ 3 ได้สั่งการให้ สศช.เร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อมของโครงการเพื่อเสนอให้ที่ประชุม กบส. พิจารณา ก่อนให้สำนักงานงบประมาณพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณในปี 2553 ต่อไป
เผย 18 โครงการยักษ์สมัย “แม้ว-หมัก-ชาย” มูลค่าแสนล้าน
รายงานข่าวจาก สศช.แจ้งว่า โครงการลงทุนในระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ที่ควรดำเนินการภายในปี 2553 มีทั้งสิ้น 11 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 2.4 แสนล้านบาท เช่น โครงการปรับปรุงทางรถไฟ ระยะที่ 5 เส้นทางแก่งคอย-แก่งเสื้อเต้น-บัวใหญ่ มูลค่า 9,502 ล้านบาท,โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา –คลองสิบเก้า-แก่งคอย มูลค่าลงทุน 7,648 ล้านบาท,
โครงการปรับปรุงทางรถไฟ ระยะที่ 6 เส้นทางชุมทางบัวใหญ่-หนองคาย วงเงินลงทุน 8,743 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างสถานีบรรจุและขนส่งสินค้า มูลค่าลงทุน 6,000 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเชียงแสน-เชียงราย มูลค่าลงทุน 600 ล้านบาท และการสร้างถนนบริเวณท่าเทียบเรือเชียงแสน-เชียงราย มูลค่าลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท
ส่วนในปี 2552 ได้วางกรอบแนวทางที่จะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศใน 7 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 22,000 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างทางคู่เส้นทางรถไฟสายตะวันออก เส้นทางฉะเชิงเทรา- ศรีราชา-แหลมฉบัง มูลค่าลงทุน 5,800 ล้านบาท ,โครงการจัดหาหัวจักรดีเซลไฟฟ้า 7 คัน วงเงิน 1,900 ล้านบาท โครงการพัฒนาโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม มูลค่า 160 ล้านบาท เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะเดียวกันต้องจับตาดูการเดินหน้านโยบายสะพานเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่เคยมีการเสวนาเชิงนโยบายของกลุ่มยุทธศาสตร์ขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศที่พรรคให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ และ โครงการขุดคลองเชื่อมอ่าวไทยและทะเลอันดามัน หรือปานามา 2 โดยมีพื้นที่เป้าหมายอยู่ภาคใต้ตอนล่าง
โดยจุดประสงค์ของนโยบายขณะนั้นเพื่อต้องการให้โครงการดังกล่าว เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมเอเชีย-แปซิฟิกกับตะวันออกกลาง-แอฟริกา-ยุโรปแทนช่องแคบมะละกาและถือเป็นโครงการอภิมหาโปรเจกต์ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเคยมีการเสนอนโยบายการขนส่งระบบรางและการปฏิรูปรถไฟ นโยบายขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี และนโยบายขนส่งมวลชน(mass transit)โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินในกรุงเทพมหานครและปริมนฑลรวมทั้งหัวเมืองใหญ่ๆ อย่าง จ.เชียงใหม่ ด้วย