xs
xsm
sm
md
lg

กระแส "เกลียดจีน" ก่อตัวเงียบๆ ในพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



กรุงเทพฯ-- ยังเป็นการยากที่จะกล่าวว่าประชาชนชาวพม่าคิดอย่างไรกับจีน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญเป็นคู่ค้าหลัก เป็นผู้ให้การสนับสนุนอาวุธและหนุนหลังทางด้านการทูต ของคณะปกครองทหาร แต่อย่างน้อยที่สุดกระแสความไม่พอใจต่อจีนได้เริ่มก่อตัวขึ้นในหมู่ประชาชนตามท้องถนน


ขณะที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลหยุนหนัน มีนโยบายผลักดันผู้ประกอบให้ออกไปยังประเทศเพื่อนรวมทั้งในพม่าด้วย ประชาชนในประเทศนี้กำลังมองว่า จีนว่าเป็นพวกที่เข้าไปเอารัดเอาเปรียบ

อย่างไรก็ตามในวงการทูตก็ยังคงสงสัยอยู่ว่าแท้จริงแล้วทางการคอมมิวนิสต์จีน ได้รับความไว้วางใจจากบรรดานายพลในพม่าขนาดไหน ทั้งนี้เป็นรายงานของ "เอ็ด ครอบลีย์" (Ed Cropley) ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์

ในเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่เศรษฐกิจดูเป็นเรื่องเป็นราว อันเนื่องมาจากเงินทุนกับการประกอบการจากจีน แต่ชาวเมืองที่นั่นก็รู้สึกว่าตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

"พวกคนจีนนำพลาสติกเข้ามาให้เรา แต่นำเอาอัญมณีและไม้สักกลับออกไป.. ให้เรามาหนึ่งอย่าง แต่เอากลับไปสอง" พระอาวุโสรูปหนึ่งกล่าว

ลุมอว์ (Lu Maw) นักแสดงตลกเสียดสีการเมือง สมาชิกคณะ "สามพี่น้องสกุลหนวด" (Moustache Brothers) ที่มีชื่อเสียงแห่งมัณฑะเลย์ ได้สะท้อนกระแสไม่ชอบจีนออกมาอย่างติดตลกว่า ที่นั่นมีโรงแรมชื่อแปลกๆ ของชาวจีนจำนวนมากเท่าๆ กับวัดเก่าแก่

เพราะฉะนั้นสมควรจะตั้งชื่อเมืองเสียใหม่ให้เป็น "เมืองหลวงแห่งหยุนหนัน" มณฑลปกครองของจีนที่มีเขตแดนติดพม่า

"ผมไม่ประสงค์ที่จะดูหมิ่นดูแคลนคนจีน" นายมอว์กล่า ก่อนจะร่ายมุขต่อว่า นักธุรกิจจากหยุนหนันจำนวนมากร่ำรวยจากการขายเฮโรอีนหรือทำธุรกิจที่ค่อนข้างลับๆ ล่อๆ กับเหล่านายพลพม่าที่มีความลับๆ ล่อๆ ยิ่งกว่า

ชาวพม่าหรือว่าคณะปกครองทหารพม่ากันแน่ที่ไม่ไว้ใจจีน? ถ้าหากมองจากท้องถนนขึ้นไปก็อาจจะพออ่านใจคณะผู้นำที่มีลับลมคมในมากที่สุดของประเทศนี้ได้บ้าง

อย่างน้อยที่สุดมีเรื่องหนึ่งที่ทำให้ต้องคิดต้องมองก็คือ กรณีที่รองพลเอกอาวุโสหม่องเอ (Maung Aye) ที่ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าสายจีนมานาน ได้สั่งการให้นำป้ายที่มีอักษรภาษาจีนอยู่เหนืออักษรภาษาพม่าลงให้หมด

กระแสการเกลียดจีนได้กลายเป็นประเด็นที่ซับซ้อน เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้วซึ่งรัฐบาลพม่าปราบปรามประชาชนที่เดินขบบวนประท้วงอย่างรุนแรง โลกตะวันตกได้ทุ่มความหวังทั้งหมดไปที่จีน

ทุกฝ่ายหวังว่าจีนจะใช้อำนาจอิทธิพลที่มีอยู่กดดันให้ระบอบทหารที่ปกครองประเทศมายาวนาน 46 ปี ต้องรีบพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ทางการจีนเองก็ดูจะรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ขณะที่พยายามขอซื้อก๊าซมูลค่านับพันๆ ล้านดอลลาร์จากพม่า

สำหรับชาวพม่านั้นก๊าซเป็นทรัพยากรที่ควรจะเก็บเอาไว้ใช้สำหรับเจ้าของประเทศ 53 ล้านคน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน อันเป็นปัญหาที่อยู่ในใจกลางของการประท้วงใหญ่ปีที่แล้ว

แต่สำหรับจีนการมีประเทศพม่าที่มีเสถียรภาพและเป็นมิตรใกล้ชิด มีความสำคัญต่อแผนการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ที่ทอดยาวจากชายฝั่งทะเลอันดามัน (อ่าวเบงกอล?) ผ่านมัณฑะเลย์ไปยังหยุนหนัน เพื่อลดการพึ่งต่อการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา

นายไป่ เอิ้นเป่ย (Bai Enpei) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขามณฑลหยุนหนัน บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในโอกาสที่เดินทางไปร่วมการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติในกรุงปักกิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่นั่นได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจีนได้ออกไปยังทุกทิศทุกทาง

"นโยบายของเราสนับสนุนให้บริษัทของจีนมุ่งออกสู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว พม่า หรือที่แห่งใดก็ตาม" นายไป่กล่าว

"ในทางประวัติศาสตร์แล้วเคยมีปัญหาอยู่ในหลายที่ที่มีประชาคมชาวจีนอาศัยอยู่กันใหญ่โต แต่ความสัมพันธ์กำลังนับวันดีขึ้นเรื่อยๆ" หัวหน้าพรรคแห่งมณฑลหยุนหนันกล่าว

อย่างไรก็ตามนายไป่ทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า การ "ออกไปข้างนอก" ไม่ได้หมายถึงการไปฉกฉวยเงินจากกระเป๋าเจ้าของผู้อื่น หากจะต้องไปค้าขายไปทำกิจการและจะต้องเป็นแบบต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์

นักการทูตในกรุงย่างกุ้งกล่าวว่า ในช่วงวิกฤติที่รัฐบาลทหารพม่ากำลังปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายนั้น ฝ่ายจีนได้พยายามทุกทางหาทางให้นายอิบรอฮิม แกมบารี (Ibrahim Gambari) ทูตพิเศษองค์การสหประชาชาติสามารถเดินทางเข้าพม่าได้

แต่มากกว่านั้นเป็นอย่างไร ยังคงทิ้งเอาไว้เป็นข้อสงสัย

รอยเตอร์ยกกรณีเมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้วเป็นตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่าทางการจีนมีความปริวิตกทุกข์ร้อน หลังจากไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าจากทางการพม่า เกี่ยวกับแผนย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปยังเมืองเนย์ปีดอ (Naypyidaw) ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้วจีนอาจจะไม่ได้รับความพึงพอใจทั้งหมด

ในครั้งนั้น ทางการจีนได้นำเอาบันทึกความไม่พอใจของสถานทูตในกรุงย่างกุ้งต่อเรื่องนี้ ขึ้นแสดงบนเว็บไซต์ของประทรวงการต่างประเทศ

นักการทูตจำนวนไม่น้อยกำลังถกเถียงกันว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่ว่าระบอบทหารพม่าอาจจะใช้วิธีการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการสถาปนาระบบตลาดเสรีขึ้นในประเทศ เป็นพิมพ์เขียวสำหรับการปฏิรูป โดยไม่ต้องวางมือจากอำนาจควบคุมทางการเมือง

นักการทูตในกรุงย่างกุ้งผู้หนึ่งกล่าวว่าหลายคนอาจจะเข้าใจผิดที่คิดว่า จีนอาจจะชักชวนคณะปกครองทหารพม่าให้เดินตามแบบอย่างจีนหรือเวียดนาม ปล่อยมือในทางเศรษฐกิจโดยไม่ต้องวางมือจากอำนาจทางการเมือง

"แต่พวกเขาลืมไปกระมังว่าคณะปกครองทหารควบคุมทุกบริษัทประกอบการที่ทำเงินทำทองอยู่ในปัจจุบันซึ่งก็คืออำนาจของพวกเขา" นักการทูตที่ไม่ต้องการให้ระบุชื่อกล่าว

"พวกเขาควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างลงไปจนกระทั่งถึงจำนวนรถยนต์ที่ให้นำเข้าได้ในแต่ละปี" นักการทูตคนเดิมกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น