xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์แจงไม่แก้กฎหมายให้เอื้อจดสิทธิบัตรยีนข้าวแน่นอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
"คุณหญิงกัลยา" แจงเรื่องจดสิทธิบัตรยีนข้าว บอกชัดจะจดสิทธิบัตรในไทยได้หรือไม่ ขึ้นกับกฎหมายสิทธิบัตรที่มีอยู่ หากไม่ครอบคลุมให้จดได้ก็ยอมรับ ระบุชัดจะไม่มีการแก้กฎหมายให้จดได้เด็ดขาด ด้าน ผอ.สวทช. แสดงความมั่นใจ หน่วยงานทำวิจัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน

กรณีเครือข่ายวิชาการเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพไทยออกมาแถลงคัดค้านการจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิ โดยระบุว่าหากต้องมีการแก้กฎหมายสิทธิบัตรเพื่อให้เอื้อต่อการจดสิทธิบัตรยีนควบคุมความหอมในข้าวที่ค้นพบโดยทีมนักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จะเป็นการเปิดช่องให้มีการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในไทยได้ และจะส่งผลให้ต่างชาติที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่าไทยเข้ามากอบโกยเอาทรัพยากรทางชีวภาพของไทยไป

เรื่องนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท. ชี้แจงกับทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ทาง สวทช. ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรงานวิจัยการค้นพบยีนควบคุมความหอมของข้าวในประเทศไทยตั้งแต่ราวปี 49 แล้ว แต่กระบวนการพิจารณาเพื่อให้สิทธิบัตรต้องใช้เวลานาน ซึ่งบัดนี้ยังไม่ได้สิทธิบัตรในประเทศไทย

"งานวิจัยนี้ได้รับสิทธิบัตรจากประเทศสหรัฐฯแล้ว แต่ยังไม่ได้สิทธิบัตรในประเทศไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิบัตรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกฎหมายสิทธิบัตรของไทยว่าครอบคลุมเรื่องนี้หรือไม่ ถ้ากฎหมายไม่ครอบคลุมและไม่ให้ความคุ้มครอง เราก็ไม่สามารถจดได้ ก็ต้องยอมรับ และจะไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการจดสิทธิบัตรนี้อย่างเด็ดขาด" ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวอย่างชัดเจน

ส่วนกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ สั่งให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งรับจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิดังกล่าวนั้น รมว.วท. กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องนี้นักวิจัยศึกษาค้นคว้ากันมานานหลายปี และค้นพบวิธีการที่ทำให้ข้าวหอมขึ้นได้ จึงคิดว่าการเร่งจดสิทธิบัตรจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะจะป้องกันไม่ให้ต่างชาติลอกเลียนแบบข้าวหอมมะลิไทยได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการแก้กฎหมายอย่างแน่นอน

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. ชี้แจงเรื่องนี้ว่า สิ่งที่นักวิจัยยื่นขอจดสิทธิบัตรนั้น คือกระบวนการที่ทำให้ข้าวมีความหอม ไม่ได้จดสิทธิบัตรตัวยีนที่ควบคุมความหอม เมื่อเราศึกษาวิจัย และรู้กระบวนการที่ทำให้ข้าวหอมได้ ก็จดสิทธิบัตรกระบวนการนั้นไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ต่างชาติเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ทำให้ข้าวพันธุ์อื่นหอมกว่าข้าวไทย หรือทำให้ประเทศไทยเกิดความเสียเปรียบ ซึ่งใครก็ตามที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ ก็ต้องขออนุญาตใช้สิทธิจาก สวทช.

ในประเด็นที่เครือข่ายวิชาการเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพไทย ตั้งขอสังเกตว่าการขอจดสิทธิบัตรงานวิจัยดังกล่าว จะเอามาบังคับใช้กับคนไทยด้วยหรือไม่ ทั้งที่ข้าวไทยเป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เรื่องนี้ผู้อำนวยการ สวทช. ชี้แจงว่า สิทธิบัตรนี้เป็นของคนไทย หากเกษตรกรหรือชาวนาไทยจะปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีความหอมขึ้นโดยใช้วิธีผสมพันธุ์โดยปกติก็สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่หากเอกชนรายใดต้องการใช้เทคโนโลยีนี้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ไม่หอมให้มีความหอม ก็ต้องขออนุญาต แต่ สวทช. จะอนุญาตให้ใช้สิทธิได้หรือไม่นั้น ก็จะต้องพิจารณถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

ส่วนกรณีที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่างานวิจัยดังกล่าวนั้นดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มาตรา 52 ที่ระบุว่า ถ้าผู้ใดนำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า (ซึ่งไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่หรือพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น) ไปปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยเพื่อการค้า หลังวันที่ 25 พ.ย. 2542 (วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้) จะต้องขออนุญาตกับกองคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เสียก่อน หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษทั้งจำและปรับ

ผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า เชื่อมั่นว่าได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และการทำงานวิจัยก็ไม่ผิดกฎหมาย เมื่อได้ความรู้มาก็นำไปจดสิทธิบัตร หากไม่จดสิทธิบัตรไว้แล้วต่างชาตินำไปจดสิทธิบัตรก่อน ประเทศไทยก็จะเสียเปรียบเขา.
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน
กำลังโหลดความคิดเห็น