ไบโอไทยรวมกลุ่มนักกฎหมาย-นักวิชาการ ค้านจดสิทธิบัตรยีนข้าวในไทย หวั่นเปิดทางให้มหาอำนาจเข้ามาจดสิทธิบัตรกอบโกยทรัพยากรชีวภาพของคนไทย ระบุเราอาจตกหลุมพรางต่างชาติ ที่มีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ด้านอาจารย์ ม.เกษตร ตั้งข้อสังเกตอาจหวังบังคับใช้สิทธิกับคนไทย จี้ สวทช.แถลงให้ชัดเจนจดสิทธิบัตรอะไรกันแน่ พร้อมเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบงานวิจัยด่วน ว่าทำถูกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชหรือไม่
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองคำข้าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกราบบังคมทูลรายงานความสำเร็จของนักวิจัยไทย ที่ได้รับสิทธิบัตรยีนควบคุมความหอมในข้าวไทยจากสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.51 และหลังจากนั้นได้มีความพยายามผลักดันให้ประเทศไทย รับจดสิทธิบัตรยีนความหอมในข้าวด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีข่าวว่านายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ได้สั่งให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งรับจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิดังกล่าว ทำให้มีการถกเถียงกันในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค.52 ที่ผ่านมา เครือข่ายวิชาการเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพไทย ซึ่งประกอบด้วย นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย, ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.สมชาย รัตนซื่อสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, นายเจริญ คัมภีรภาพ นักวิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยศิลปากร, รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อาจารย์ประจำคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายบัณฑูร เศรษศิโรตม์ ตัวแทนกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ ได้ออกมาแถลงถึงการคัดค้านการจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิ ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนอีกจำนวนมากให้ความสนใจร่วมรับฟังด้วย
วางกับดักตัวเองแก้กฎหมายจดสิ่งมีชีวิต เปิดประตูให้ยักษ์ใหญ่กอบโกย
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การที่นักวิจัยไทยได้จดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในต่างประเทศ และอธิบายว่าเป็นการป้องกันต่างชาติ นำข้าวหอมมะลิของไทยไปจดสิทธิบัตรเป็นของตัวเอง แต่ขณะนี้กลุ่มนักวิจัย กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงพาณิชย์ กำลังผลักดันให้มีการจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในไทย ซึ่งกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต หากจะทำก็ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งอาจเป็นกับดักของไทยให้ต่างชาติเข้ามายึดครองทรัพยากรทางชีวภาพของไทยได้
ด้าน ผศ.ดร.สมชาย กล่าวชื่นชมนักวิจัยไทย ที่สามารถค้นพบกระบวนการที่ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แต่ประเด็นที่ต้องคิดต่อคือว่า ขณะนี้ สวทช. ได้จดสิทธิบัตรในกระบวนการและตัวยีนนี้ในหลายประเทศทั่วโลก เชื่อว่ามีเจตนาป้องกันไม่ให้ต่างชาตินำข้าวหอมมะลิไทยไปจดสิทธิบัตรเป็นเจ้าของ แต่ประเด็นสำคัญคือว่า ประเทศไทยควรจะรับจดสิทธิบัตรในรูปแบบเดียวกันหรือไม่ ต้องคิดสักนิดว่าถ้าไทยจะเปิดให้จดได้ จะมีผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทย
"ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก จะต้องมีมาตรฐานการคุ้มครองขั้นต่ำตามที่ตกลงไว้ในข้อตกลงทริปส์ ซึ่งหลายประเทศมีรายละเอียดการคุ้มครองที่แตกต่างกันได้ ประเทศสหรัฐฯ มีกฎหมายสิทธิบัตรพืชมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ประเทศไทยเราไม่มี"
"อย่างไรก็ตาม ในข้อตกลงทริปส์ ก็ให้สิทธิประเทศสมาชิกที่จะไม่คุ้มครองสิ่งมีชีวิตได้ ซึ่งจุดยืนของประเทศไทย และกฎหมายสิทธิบัตรไทยในขณะนี้ เราไม่คุ้มครองสิ่งมีชีวิต ประเด็นคือถ้าเราไม่คุ้มครองแล้วมันดียังไง แล้วถ้าเราคุ้มครองจะมีประโยชน์ยังไง เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ"
"สหรัฐฯ จะรับจดนั่นก็เป็นเรื่องของเขา เพราะเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประเทศเขา แต่หากประเทศเปิดช่องให้จดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมได้ ต่อไปก็จะมีการจดสิทธิบัตรยีนต้นนั้นต้นนี้ตามมา เป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาจดสิทธิบัตรเหนือทรัพยากรพันธุกรรมที่มีอยู่ในประเทศไทยได้ ซึ่งเทคโนโลยีและความก้าวหน้าในเรื่องนี้ของไทยยังด้อยกว่าต่างชาติที่พัฒนากันมานานมากแล้ว" ผศ.ดร. สมชายกล่าว
"การที่เราจะรับจดหรือไม่รับจด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าอันไหนเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากน้อยกว่ากัน ถ้าเราเปิดช่องให้จดได้ เท่ากับว่าเราเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ของไทยได้ และในอนาคตถ้าเคนไทยจะใช้ประโยชน์ก็ต้องเสียค่าการใช้สิทธิ์ในสิทธิบัตรให้ต่างชาติที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตร" ผศ.ดร.สมชายกล่าว
พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.สมชายได้ยกตัวอย่างถึงกฎหมายสิทธิบัตรแต่เติม ที่ไม่คุ้มครองการจดสิทธิบัตรยา ต่อมามีการผลักดันให้สามารถจดสิทธิบัตรยาได้ เพื่อให้นักวิจัยไทยมีโอกาสพัฒนายาและเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเอง แต่มาถึงทุกวันนี้มีคนไทยสักกี่คนที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
ชี้ระบบสิทธิบัตรคือเครื่องมือปล้นสดมภ์ทรัพยากรทางชีวภาพ
ด้านนายเจริญ กล่าวว่า ระบบสิทธิบัตรคือเครื่องมือปล้นสดมภ์ทรัพยากรทางชีวภาพของประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีคุณค่าและเป็นต้นทุนทางสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถ้ารัฐบาลเปิดช่องให้จดสิทธิบัตรลักษณะนี้ได้ ก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรของไทย ซึ่งอาจทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารของเราตกอยู่ในมือมหาอำนาจต่างชาติได้
"นี่จึงไม่ใช่วิธีการปกป้องทรัพยากรของไทยอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นการเปิดท้ายครัวให้ต่างชาติเข้ามาเอาไปเป็นของตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้มักปรากฎในเวทีการเจรจาเขตการค้าเสรี ที่ประเทศอุตสาหกรรมมักต้องการให้ประเทศคู่เจรจามีกฎหมายที่เอื้อประโยชน์กับประเทศของตัวเอง ซึ่งเป็นกติกาที่ประเทศมหาอำนาจขีดทางให้เราเดิน ถ้าประเทศไทยตกหลุมพราง ก็อาจจะสูญสิ้นพันธุ์พืชของไทยได้" นายเจริญกล่าว
จี้สวทช.แถลงให้ชัดจดสิทธิบัตรอะไร และจะบังคับใช้สิทธิกับคนไทยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุรวิช ตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิบัตรที่กล่าวถึงนั้นมีชื่อสิทธิบัตรว่า ข้าวตัดแต่งพันธุกรรม ที่มีการแสดงออกของยีนควบคุมความหอมของข้าวลดลง (ยีน Os2AP) และมีสารหอมเพิ่มมากขึ้น (2-acetyl-1-pyroline) โดยถือสิทธิในวิธีการทำดังกล่าว
ทว่าเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องออกมาแถลงถึงสิทธิบัตรนี้ มักแถลงว่าเป็นสิทธิบัตรของยีน แต่สิ่งที่อยู่ในข้อถือสิทธินั้นไม่มียีน แต่เป็นวิธีการที่จะทำให้ยีนแสดงออกน้อยลง ซึ่งถ้ายีนตัวนี้แสดงออกปกติ จะทำให้สารหอมไม่มีอยู่ แต่ถ้าแสดงออกน้อยลง จะทำให้มีการสร้างสารหอมที่มีกลิ่นคล้ายป๊อบคอร์นตามที่ระบุในสิทธิบัตร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และชวนสงสัยว่าทำไมจึงแถลงไม่ตรงกับในสิทธิบัตร
อีกทั้งยังพูดดูเหมือนว่า จดสิทธิบัตรให้ประเทศไทย แต่ไม่เคยประกาศว่าจะไม่บังคับใช้สิทธิกับคนชาติไทย น่าจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงว่าเป็นอย่างไรกันแน่
"สวทช. ควรออกมาให้ความชัดเจนกับสังคมว่าเป็นการจดสิทธิบัตรอะไรกันแน่ ซึ่งหากจะขอจดสิทธิบัตรในไทยเกี่ยวกับกระบวนการที่ทำ ก็น่าจะจดได้อยู่แล้ว เพราะกฎหมายไทยให้ความคุ้มครองกระบวนการทางชีวภาพ"
"แต่หากขอจดสิทธิบัตรยีน ก็ต้องมีการแก้กฎหมายกัน และทำไมต้องอยากจดสิทธิบัตรนี้ในไทย เป็นไปได้ไหมว่าจะกรุยทางสู่เอฟทีเอ หรือจะบังคับใช้สิทธิ์กับคนไทยด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาชี้แจงให้ชัดเจน"
"รวมถึงก่อนหน้านี้หน่วยงานของรัฐไทยแถลงต่อสาธารณะมาโดยตลอดว่าประเทศไทยไม่มีการทำข้าวตัดแต่งพันธุกรรม แต่ปรากฎชัดเจนในเอกสารสิทธิบัตรว่ามีการทำข้าวตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งจริงอยู่ที่ทำในข้าวญี่ปุ่น ไม่ใช่ข้าวไทย แต่ก็ขัดแย้งกับสิ่งที่ได้แถลงต่อสังคมมาโดยตลอด จึงทำให้สังคมเกิดความสับสน" รศ.ดร.สุรวิช กล่าว
กังขางานวิจัยถูกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชหรือไม่
นอกจากนี้อาจารย์คณะเกษตร มก. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า งานศึกษาวิจัยนี้มีเกี่ยวพันกับ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มาตรา 52 ที่ระบุว่า ถ้าผู้ใดนำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า (ซึ่งไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่หรือพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น) ไปปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยเพื่อการค้า หลังวันที่ 25 พ.ย. 2542 (วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้) จะต้องขออนุญาตกับกองคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เสียก่อน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษ ซึ่งหลักการของกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อป้องกันมิให้ต่างชาติเข้ามาขโมยพันธุ์พืชของไทยไปใช้ประโยชน์ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบด้วยว่าการวิจัยนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ นายบัณฑูร เศรษศิโรตม์ ตัวแทนกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ เสนอแนะว่ายังมีทางเลือกอื่นอีกในการคุ้มครองพันธุ์ข้าวไทย นอกเหนือจากการของจดสิทธิบัตรยีนข้าวในไทย คือการนำเข้าสู่กฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ (GI) ซึ่งจะคุ้มครองข้าวหอมมะลิไทย ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยและมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยได้.