xs
xsm
sm
md
lg

ลบล้างมายาคติ GMO ด้วยเทคโนโลยี "โมเลกุลเครื่องหมาย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรีนพีซ – กรีนพีซได้เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุด ณ กรุงมะนิลา ซึ่งระบุชัดเจนว่า ควรปฏิเสธจีเอ็มโออย่างถาวร ด้วยเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืช ด้วยเครื่องหมายโมเลกุล

รายงาน “การปรับปรุงพันธุ์อย่างชาญฉลาด: โมเลกุลเครื่องหมาย (MAS) เทคโนโลยีชีวภาพทางเลือกใหม่ ทดแทนการดัดแปลงพันธุกรรมพืช” ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ และจุดแข็งของเทคโนโลยีโมเลกุลเครื่องหมาย (Marker Assisted Breeding หรือ MAS) เมื่อเปรียบเทียบกับการดัดแปลงพันธุกรรม โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีเอ็มเอเอสในการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อทนแล้ง เกื้อกูลความหลากหลายทางชีวภาพ และเพื่อผลิตอาหารที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ รายงานนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเอ็มเอเอสทำให้จีเอ็มโอ ซึ่งทั้งราคาแพงและไม่ปลอดภัย กลายเป็นเทคโนโลยีชีวภาพที่ล้าสมัยและไร้ซึ่งความจำเป็น

“เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเคมีเกษตรพยายามผลักดันเและทำให้เชื่อว่าการดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ คือ “อนาคต” ของเกษตรกรรม แต่เอ็มเอเอสได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสำเร็จของเทคโนโลยีเอ็มเอเอสอย่างเงียบๆโดยปราศจากการโฆษณาชวนเชื่อมาแล้วมากมาย ซึ่งลบล้างคำกล่าวอ้างของพืชจีเอ็มโอ นอกจากนี้ เอ็มเอเอสมีข้อดีมากกว่าจีเอ็มโอในหลายๆ ด้าน เช่น เอ็มเอเอสไม่ก้าวข้ามกำแพงระหว่างสายพันธุ์หรือบังคับให้สิ่งมีชีวิตคนละชนิดผสมพันธุ์กันได้ โดยเฉพาะความวิตกกังวลในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพืชจีเอ็มโอซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมจนไม่สามารถเรียกสิ่งแวดล้อมเดิมกลับคืนมาได้หากเกิดการปนเปื้อน หรือความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว ซึ่งพืชจีเอ็มโอล้วนเป็นต้นเหตุแห่งความวิตกกังวลเหล่านี้ นอกจากนี้เอ็มเอเอสยังได้รับการยอมรับจากสาธารณชนว่าปลอดภัยและไม่เป็นภัยคุกคามต่อการทำเกษตรอินทรีย์” นายอาร์โน อโปเทแคร์ ผู้ประสานงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซสากลกล่าว

นายอาร์โนยังกล่าวอีกว่า “จีเอ็มโอ เป็นพืชที่มาพร้อมกับความล้มเหลวในการวิจัย การปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม การเอาเปรียบด้วยข้อผูกมัดทางสิทธิบัตรและความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยทางด้านสุขภาพและอาหาร ล้วนแต่ไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว เพราะมันคือ การทดลองที่ล้มเหลว”

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีงานวิจัยและงานตีพิมพ์เผยแพร่ต่างๆ มากมายเกี่ยวกับข้าวดัดแปลงพันธุกรรม หรือข้าวจีเอ็มโอ แต่ ณ วันนี้ มีข้าวจีเอ็มโอเพียง 3 สายพันธุ์ที่ได้ผ่านการเห็นชอบภายใต้การควบคุมเพื่อการเพาะปลูกในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และในขณะเดียวกัน ก็มีข้าวจีเอ็มโอของไบเออร์สายพันธุ์ LL601 และ LL62 ที่ได้รับการอนุมัติให้ปลูกเพื่อการค้าได้ในบางประเทศ ถึงกระนั้นที่ผ่านมายังไม่พบการปลูกข้าวจีเอ็มโอสายพันธุ์ดังกล่าวเพื่อการค้า แต่เป็นเพียงการรับรองในฐานะผลลัพธ์ของการปนเปื้อนจากจีเอ็มโอเท่านั้น

ในทางตรงข้าม พันธุ์ข้าวที่เกิดจากการพัฒนาโดยเอ็มเอเอสนั้น ชาวนาได้นำมาเพาะปลูกเพื่อการค้าแล้วในแถบประเทศที่กำลังพัฒนา สายพันธุ์ที่ผ่านการพัฒนาแล้วหรือกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนานั้น ใช้เวลาและต้นทุนในการเพาะปลูกน้อยกว่าข้าวจีเอ็มโอเป็นอย่างมาก กล่าวโดยสรุปได้ว่า เอ็มเอเอสนั้นสามารถทำได้ทุกอย่างที่การดัดแปลงพันธุกรรมทำได้ แต่เร็วกว่า ถูกกว่าและไม่ทำให้เกิดการผลเสียอย่างถาวรต่อสิ่งแวดล้อม หรือต่อสุขภาพของมนุษย์

กรีนพีซเชื่อว่า พืชเอ็มเอเอสนั้นจะมีส่วนสำคัญต่ออนาคตของการเกษตรเชิงนิเวศน์ ในวิถีทางที่พืชจีเอ็มโอไม่สามารถจะให้ได้ โดยเฉพาะหากพืชเอ็มเอเอสถูกนำไปใช้ในระบบเกษตรกรรมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญพื้นฐานทางนโยบายต่างๆ ที่สนับสนุนวิถีชีวิตในชนบทและการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในระยะยาว

รายงานเกี่ยวกับเอ็มเอเอสของกรีนพีซได้ถูกนำมาเผยแพร่ก่อนการเปิดงานฉลองครบรอบ 50 ปีของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และงานประชุมวิชาการว่าด้วยพันธุกรรมข้าวครั้งที่ 6 ณ กรุงมะนิลา ซึ่งโครงการหลายๆโครงการของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาตินั้น มีการวิจัยเกี่ยวกับจีเอ็มโอรวมอยู่ด้วย

“ดังในรายงานฉบับนี้ กรีนพีซขอเรียกร้องให้สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติยกเลิกการพัฒนาข้าวจีเอ็มโอ และมุ่งเน้นไปที่ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าอย่างเอ็มเอเอส รัฐบาลต่างๆ ควรหยุดให้การสนับสนุนงานวิจัยจีเอ็มโอด้วย การยกเลิกงานวิจัยข้าวจีเอ็มโอและเปลี่ยนมาสนับสนุนการผลิตข้าวเชิงนิเวศน์นั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทย หากเราต้องการรักษาความเป็นผู้นำในการผลิตข้าว” นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

“การที่มนุษยชาติสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้เกือบสามเท่าตัวในกว่า 50 ปีที่ผ่านมานี้ ได้ทำให้เกิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพและการสาธารณสุข จำนวนมหาศาล การเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล การใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายและการขาดความตระหนักรู้ถึงผลเสีย ได้ถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเส้นทางแห่งการทำลายล้างและไร้ซึ่งอนาคต การเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่สำคัญจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้ระบบเกษตรกรรมและระบบอาหารเป็นมิตรต่อระบบนิเวศน์ แต่จีเอ็มโอไม่ได้อยู่ในสมการนี้เลย” ณัฐวิภากล่าวสรุป

กระบวนการผลิตข้าวในทุกวันนี้อยู่บนทางแยกที่อันตราย เมื่อจำนวนประชากรที่บริโภคข้าวกำลังเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กระบวนการผลิตข้าวกำลังเผชิญกับภัยจากปริมาณข้าวที่ลดลงจำนวนมาก เนื่องมาจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซรณรงค์เพื่อกระบวนการผลิตข้าวที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศน์ เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องผืนดิน น้ำและถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ดำรงไว้ซึ่งสิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภค และช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศก่อนที่จะสายเกินแก้
กำลังโหลดความคิดเห็น