xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยไทยเร่งพัฒนา "ซูเปอร์จัสมิน" หวั่น "แจ๊สแมน" ข้าวหอมมะกันเขย่าบัลลังก์ใน 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การสัมมนาเรื่อง ข้าวไทยกับการจดสิทธิบัตร: ก้าวต่อไป เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 52 โดยมี รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร (ซ้าย), ดร.ธนิต ซังถาวร (กลาง) และ นายวิชา ฐิติประเสริฐ (ขวา) ร่วมเสวนา
นักวิจัยไทยหวั่นอีก 3 ปี ข้าวหอม "แจ๊สแมน" สายพันธุ์มะกัน ทำข้าวหอมมะลิพันธุ์ไทยหล่นจากบัลลังก์ เร่งปรับปรุงพันธุ์ "ซูเปอร์จัสมิน" คู่แฝดข้าวหอมมะลิ สู้โรค-แมลง ทนทานทุกสภาพแวดล้อม พร้อมเพิ่มความหอม-ผลผลิต-โภชนาการให้ข้าวพันธุ์ไทย รับมือข้าวพันธุ์ใหม่ของต่างประเทศ เผยงานวิจัยยังมีอุปสรรค เพราะขาดการสนับสนุนทุนวิจัยที่ต่อเนื่องทำให้สำเร็จล่าช้า

มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว และศูนย์ความเป็นเลิศแห่งนวัตกรรมข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการสัมมนาเรื่อง "ข้าวไทยกับการจดสิทธิบัตร: ก้าวต่อไป" เมื่อวันที่ 21 ต.ค.52 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมี รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นักวิจัยผู้ค้นพบยีนควบคุมความหอมในข้าว มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาข้าวไทยเพื่อแข่งขันกับพันธุ์ข้าวของต่างประเทศที่มีความคล้ายคลึงกับข้าวหอมมะลิของไทย โดยเฉพาะข้าว "แจ๊สแมน" (Jazzman) ของสหรัฐฯ

รศ.ดร.อภิชาติ กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ พัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับข้าวหอมมะลิของไทย และยังให้ชื่อคล้ายกันว่า "แจ๊สแมน" อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน รวมถึงส่งผลกระทบต่อข้าวหอมมะลิของไทยได้

เนื่องจากสหรัฐฯ จะต้องลดการนำเข้าข้าวหอมมะลิของไทยแน่ หากส่งเสริมให้เกษตรกรในประเทศปลูกข้าวแจ๊สแมน ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ให้ผลผลิตสูง และมีคุณสมบัติเหมือนกับข้าวหอมมะลิของไทยเกือบทุกประการ ยกเว้นขนาดของเมล็ดข้าว โดยข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวเมล็ดยาว แต่ข้าวแจ๊สแมนเป็นข้าวเมล็ดสั้น ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ เตรียมความพร้อมที่จะปลูกข้าวแจ๊สแมนในเร็วๆ นี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อภิชาติ บอกกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า ความเรียวยาวของเมล็ดข้าว เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของข้าวหอมมะลิไทยที่ติดตาผู้บริโภค ดังนั้นตอนนี้ข้าวแจ๊สแมนยังไม่ถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวนัก แต่เชื่อว่าภายในอีก 2-3 ปี สหรัฐฯ น่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงพันธุ์ข้าวแจ๊สแมน ให้มีเมล็ดเรียวยาวได้ไม่ยาก ถึงตอนนั้นข้าวหอมมะลิของไทยคงสู้ไม่ได้

"ที่น่าเป็นห่วงมากอีกเรื่องหนึ่ง คือสภาพอากาศในสหรัฐฯ มีความเย็น ซึ่งจะมีผลทำให้ข้าวหอมได้มากกว่าสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างในประเทศไทย และเราไม่มีทางทำให้ข้าวหอมมะลิของเราราคาถูกลงเพื่อสู้กับเขาได้ แต่สิ่งที่จะทำได้คือต้องเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องปรับปรุงข้าวสายพันธุ์อื่นให้มีความหอมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้แข่งขันกับข้าวหอมของสหรัฐฯ ได้" รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว

ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว บอกว่าได้วางแนวทางรับมือในเรื่องดังกล่าวไว้หลายแนวทาง ได้แก่ การพัฒนาพันธุ์ข้าว "ซูเปอร์จัสมิน" (Super Jasmine) โดยนำข้าวข้าวหอมดอกมะลิมาปรับปรุงพันธุ์ ให้มีคุณลักษณะเด่นหลายประการรวมกันไว้ในต้นเดียว เช่น ทนน้ำท่วม ต้านทานเพลี้ยกระโดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เป็นต้น โดยไม่ให้กระทบกับพันธุกรรมส่วนใหญ่ของข้าวขาวดอกมะลิเดิม คล้ายกับเป็นคู่แฝดกัน

อีกแนวทางหนึ่งคือ ปรับปรุงข้าวไทยสายพันธุ์ต่างๆ ให้มีความหอมมากขึ้น และมีผลผลิตสูงขึ้น รวมทั้งพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น เช่น เพิ่มธาตุเหล็ก, สังกะสี และฤทธิ์ต้านโรคเบาหวาน โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มผลผลิตข้าวโภชนาการสูงให้ได้มากถึง 1.2 ตันต่อไร่ ภายใน 3 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ข้าวหอมของไทยสามารถแข่งขันกับข้าวแจ๊สแมนของสหรัฐฯได้

ทั้งนี้ ข้าวแจ๊สแมน เป็นข้าวหอมที่ปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์โดยนักวิจัยสหรัฐฯ เชื้อสายจีน ตั้งแต่ปี 2540 จากข้าวหอมของจีนผสมกับข้าวเมล็ดยาวของรัฐอาร์คันซอ (Arkansas) ในสหรัฐฯ โดยใช้ระยะเวลา 13 ปี จนได้ข้าวที่มีคุณลักษณะคล้ายกับข้าวขาวดอกมะลิของไทยมาก เช่น มีเปอร์เซ็นต์อะไมโลสต่ำใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ มีคุณสมบัติการหุงต้มไม่แตกต่างกัน ทั้งความหอม, หวาน, นุ่ม และเหนียว มีกลิ่นหอมแรง โดยมีค่าความหอมถึง 597 ppb (หนึ่งในพันล้านส่วน) เทียบเท่ากับข้าวขาวดอกมะลิที่ปลูกในทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีค่าความหอมราว 525 ppb

ข้าวแจ๊สแมนยังให้ผลผลิตมากถึง 1.2 ตันต่อไร่ ขณะที่ข้าวหอมมะลิของไทยให้ผลผลิตประมาณ 400-700 กิโลกรัมต่อไร่ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยบอกว่า ไทยเรามีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและฐานข้อมูลพันธุกรรม รวมทั้งแหล่งให้ทุนสนับสนุนการวิจัย แต่ยังขาดความต่อเนื่องในการให้ทุน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้ และทำให้ประสบความสำเร็จล่าช้ากว่าของต่างประเทศ

นอกจากสหรัฐฯ แล้วไทยยังมีคู่แข่งที่น่ากลัวอีกหลายประเทศ ที่แข่งขันกันพัฒนาข้าวหอม โดยเฉพาะออสเตรเลีย ที่ค้นพบและจดสิทธิบัตรยีนควบคุมความหอมในข้าวเช่นเดียวกับไทย

"ดังนั้นไทยเราจึงต้องเร่งทำวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าว มากกว่าที่จะมาถกเถียงกันว่าควรทำหรือไม่ เพราะหากเราไม่ทำ ต่างประเทศเขาก็ทำ หากเราไม่ยื่นจดสิทธิบัตร ต่างประเทศเขาก็จด แต่หากเรายื่นจดสิทธิบัตรได้ก่อนเขา ก็จะป้องกันไม่ให้เขาทำลอกเลียนแบบได้" รศ.ดร.อภิชาติกล่าว

นอกจากนั้น รศ.ดร.อภิชาติ ยังได้วางแนวทางการศึกษาวิจัย ภายหลังจากทีมของเขาค้นพบยีนความหอมในข้าวและยื่นจดสิทธิบัตรไปแล้วว่า จะศึกษาค้นหายีนควบคุมความหอมในข้าวเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมร่วมกัน และศึกษาการวิวัฒนาการของข้าวหอมและยีนควบคุมความหอมด้วย รวมทั้งค้นหายีนความหอมในพืชชนิดอื่นด้วย.
รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร
เปรียบเทียบกันจะจะ จัสมิน และ แจ๊สแมน อะไรแน่กว่ากัน?
เมล็ดของข้าวหอมมะลิไทยที่มีลักษณะเรียวยาว ยังคงเป็นเอกลักษณ์ยากจะเลียนแบบได้ (ในปัจจุบัน)
ข้าวหอม แจ๊สแมน ภายใต้ตรา แจ๊สเม็น ของสหรัฐฯ ที่กำลังจะตีตลาดของไทย

ข้าวหอมไทยในบรรจุภัณฑ์ยี่ห้อหนึ่ง ที่ส่งขายไปทั่วโลก ต้องระบุคำว่า ไทย ไว้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น