ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มก. เร่งพัฒนาข้าวใหม่ ให้ดัชนีน้ำตาลต่ำ หวังยกระดับราคาขายเทียบชั้นข้าวบัสมาติ หลังปล่อยให้ชาติอื่น ทำข้าวเลียนแบบหอมมะลิมาหลายปี พร้อมปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ รับมือข้าวแจ๊สแมนจากสหรัฐฯ แย่งพื้นที่ในตลาดโลก กลางปีเตรียมทดลองปลูกข้าวหอมมะกันเปรียบเทียบข้าวหอมไทย หวังให้ได้กลิ่นกันจะจะว่าข้าวใครหอมกว่าใครแน่
รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและการค้นหาและใช้ประโยชน์จากยีนข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้มีคุณสมบัติดีและสามารถขายได้ในราคาสูงเทียบเท่าข้าวบาสมาติ (Basmati rice) ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวหอมของอินเดีย
"ข้าวหอมมะลิของไทยขายได้ราคาประมาณ 30-40 บาทต่อกิโลกรัม หากเป็นข้าวไม่ขัดสีอย่างมากสุดก็ขายได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 90 บาท แต่ข้าวบาสมาติมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท หากเราสามารถพัฒนาข้าวหอมมะลิให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นและสามารถขายได้ราคาเท่ากับข้าวบาสมาติได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกได้ หลังจากที่เราปล่อยให้ชาติอื่นๆ พัฒนาสายพันธุ์ข้าวเลียนแบบข้าวหอมมะลิของไทยมาหลายปี" รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว
ขณะนี้ รศ.ดร.อภิชาติ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) จำนวน 41 ล้านบาท ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิให้เมล็ดมีความยืดตัวสูงขึ้นเมื่อหุงต้ม และมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อให้เหมาะแก่ผู้บริโภคที่เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการบริโภคข้าวเพื่อสุขภาพ และสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงเช่นเดียวกับข้าวบาสมาติของอินเดีย โดยคาดว่าจะได้ข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวในอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า
"เราไม่ได้ต้องการพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่ขายได้ราคาดีเหมือนบาสมาติขึ้นมาเพื่อเป็นคู่แข่งของข้าวหอมมะลิเดิมของเรา แต่ต้องการทำให้ทั้งสองอย่างควบคู่กันไป เพื่อเป็นการเสริมตลาดข้าวหอมมะลิที่มีอยู่เดิม" รศ.ดร.อภิชาติ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ภายในงานสัมมนาพิเศษเรื่องข้าว "งานวิจัยข้าวไทย : วิกฤตและโอกาส" ที่มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 53 ณ อาคารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
นอกจากนั้น ภายใต้ทุนวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวก. รศ.ดร.อภิชาติ ยังมีโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้าวขาวดอกมะลิที่มีคุณสมบัติดีหลายประการรวมอยู่ด้วยกัน ทั้งความสามารถทนต่อโรค แมลง สภาพแวดล้อม และให้ผลผลิตสูง เพื่อเตรียมรับมือกับข้าวแจ๊สแมน (Jazzman rice) ที่สหรัฐฯ พัฒนาขึ้นให้มีความหอมเทียบเท่าข้าวหอมมะลิของไทย และเตรียมที่จะปลูกเชิงพาณิชย์ในอีกไม่กี่ปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยได้
ขณะเดียวกัน รศ.ดร.อภิชาติ ยังมีโครงการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบคุณสมบัติของข้าวขาวดอกมะลิของไทยกับข้าวหอมแจ๊สแมน ในพื้นที่ปลูกในประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับมหาวิทยาลัยรัฐหลุยส์เซียนา (Louisiana State University) ซึ่งเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าวแจ๊สแมน ภายหลังจากที่ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเริ่มศึกษาได้ราวกลางปีนี้ และใช้เวลาอีกอย่างน้อยหนึ่งปีจึงจะรู้ผล
"เราต้องการพิสูจน์ว่า หากนำข้าวแจ๊สแมนมาปลูกในประเทศไทย จะให้กลิ่นหอมเทียบเท่าข้าวขาวดอกมะลิของไทย และให้ผลผลิตสูงกว่าตามที่ได้มีการอ้างไว้หรือไม่ เพราะแม้แต่ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ยังให้ค่าความหอมไม่เท่ากันเลย และโดยปกติข้าวที่มีสารหอมมากมักให้ผลผลิตต่ำ" รศ.ดร.อภิชาติ เผย ซึ่งผลจากการวิจัยเปรียบเทียบข้าวทั้งสองสายพันธุ์ จะเป็นข้อมูลให้ประเทศไทยเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้ ซึ่งข้าวแจ๊สแมนเป็นข้าวไม่ไวแสง มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น และเวียดนามก็สนใจที่จะนำมาปลูกด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยแน่ เพราะเวียดนามเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของไทย.