นักวิชาการชี้ไทยส่งออกข้าวมากที่สุด แต่งบลงทุนวิจัยข้าวของไทยต่ำกว่าประเทศอื่น และหดลงจากหลายปีก่อน อาจทำให้ผลผลิตข้าวลดลงจนเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้ประเทศคู่แข่ง ด้านรองอธิบดีกรมการข้าวเสนอดันงานวิจัยข้าวให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ พร้อมตั้งกรรมการกลางบริหารจัดการ ขับเคลื่อนงานวิจัยข้าวแบบบูรณาการ
ในระหว่างการสัมมนาพิเศษเรื่องข้าว "งานวิจัยข้าวไทย : วิกฤตและโอกาส" เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 53 ที่จัดโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกข้าวมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก และราคาข้าวในอนาคตจะยิ่งมีราคาแพงขึ้น เพราะความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มมากยิ่งขึ้นในแต่ละปี แต่กำลังการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นไม่เพียงพอ ฉะนั้นประเทศไทยจึงควรมีการเตรียมการรับมือ เพราะข้าวเป็นทั้งพืชเศรษฐกิจ เป็นพืชอาหาร และเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน
"เวียดนามคือคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกข้าว ซึ่งขณะนี้เวียดนามสามารถผลิตข้าวเพื่อการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตข้าวส่งออกของไทยมีแนวโน้มลดลง อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะการลงทุนวิจัยข้าวของไทยไม่ดีพอเมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวของเรา และงบวิจัยข้าวของไทยยังลดลงมากจากช่วงปี 2530-2545" รศ.สมพร เผย
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีการลงทุนวิจัยด้านข้าวเพียง 0.25% ของจีดีพี (ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ: GDP) หรือ 2 บาทต่อไร่ หรือประมาณ 0.88% ของมูลค่าการส่งออกข้าว เทียบกับเกาหลีใต้ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนนี้ไม่ต่างจากไทยมาก แต่ปัจจุบันให้ความสำคัญแก่การวิจัยข้าวสูงมาก โดยลงทุนวิจัยมากถึง 2.64% จีดีพี
ด้านนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ข้าวมีความสำคัญต่อประเทศไทยและคนไทยอย่างยิ่ง เพราะหมายถึง ความมั่นคงทางอาหารทั้งของไทยและของโลก มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าประเทศ อีกทั้งยังเป็นอาชีพหลักของคนไทย ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนประกอบอาชีพทำนากว่า 17 ล้านคน หรือ 3.7 ล้านครัวเรือน
"ประเทศไทยผลิตข้าวได้เฉลี่ย 453 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งถือว่าน้อยกว่าในหลายๆ ประเทศ โดยเราใช้บริโภคภายในประเทศเพียง 1 ใน 3 ที่เหลือส่งออก แต่ปัญหาของโลกในปัจจุบันคือผลผลิตข้าวลดลง และน้อยกว่าความต้องการของประชากรทั่วโลก และเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต กรมการข้าวได้กำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาข้าว ปี พ.ศ.2552-2554 โดยมุ่งสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อพัฒนาผลผลิตข้าว ลดการสูญเสียและรักษาเสถียรภาพผลผลิต การเพิ่มมูลค่าข้าว สร้างความสามารถในการผลิตข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนพัฒนาความสามารถของชาวนาและสถาบันชาวนา" นายชัยฤทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมการข้าวเผยว่า แม้จะมียุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาข้าวที่ดี แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถทำให้บรรลุผลตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ได้ ทั้งความขาดแคลนด้านงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล เครื่องมือและอุปกรณ์ รวมทั้งสภาพปัญหาในปัจจุบัน ทั้งราคาข้าวผันผวน การเปิดเสรีทางการค้า การจัดสรรน้ำ ปัญหาโรคและแมลงระบาด และปัญหาความยากจนของชาวนา
รองอธิบดีกรมการข้าวเสนอว่า การวิจัยและพัฒนาข้าวควรกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ และควรมีคณะกรรมการกลางที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีการจัดทำแผนการวิจัยในระยะยาว และเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และลดช่องว่างระหว่างการวิจัยข้าวและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย
ส่วนมุมมองของนักวิจัยข้าวอย่าง รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีความเห็นว่า ปัจจุบันโอกาสในการวิจัยข้าวของไทยมีมากขึ้น เพราะมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี มีการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ แต่อาจยังไม่เพียงพอหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และเมื่อสหรัฐฯ พัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีความหอมใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิของไทย ก็สร้างความสั่นสะเทือนต่อวงการข้าวไทย ทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนเรื่องนี้กันอีกครั้ง
รศ.ดร.อภิชาติ บอกว่า ปัญหาของการวิจัยข้าวในประเทศไทยมีอยู่ในแทบทุกปัจจัยของการทำวิจัย ตั้งแต่โจทย์วิจัยที่มีมากมาย ทำให้เกิดความสับสน ขาดการจัดลำดับความสำคัญ และขาดการเชื่องโยง ทำให้เกิดปัญหาการวิจัยซ้ำซ้อน และการที่มีโจทย์วิจัยมากเกินไป ยังส่งผลต่องบประมาณและจำนวนนักวิจัยที่มีอย่างจำกัด
"ปริมาณทุนวิจัยข้าวรวมทั้งประเทศยังถือว่าน้อย คาดว่าไม่น่าเกิน 300 ล้านบาท ระยะเวลาการให้ทุนส่วนใหญ่สั้น แต่ความคาดหวังสูง และปัญหาการให้ทุนวิจัยกระจัดกระจาย ทำให้สุดท้ายแล้วไม่ได้งานวิจัยที่มีผลกระทบสูง อีกทั้งยังขาดความร่วมมือกับต่างประเทศ ทำให้การวิจัยแก้ปัญหาข้าวบางกรณีเป็นไปได้ช้า เช่น ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งถือเป็นวิกฤตอย่างหนึ่งของชาวนาไทย หรือปัญหาข้าวไม่ทนน้ำท่วม ซึ่งในข้าวพื้นเมืองของไทยไม่มีพันธุกรรมต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหรือว่ายีนทนน้ำท่วมเลย" รศ.ดร.อภิชาติ เผยถึงปัญหาการวิจัยข้าวในไทยในระหว่างการสัมมนา ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมฟังด้วย
นอกจากนั้นยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะนักวิจัยต้นน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวฯ มองว่าที่จริงในแต่ละปีก็มีบัณฑิตที่จบการศึกษาในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการปรับปรุงพันธุ์ข้าวอยู่พอสมควร แต่หน่วยงานภาครัฐขาดการจัดสรรตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้บัณฑิตเหล่านั้นไม่มีโอกาสเข้าทำงานวิจัยด้านข้าว ขณะที่นักวิจัยที่มีอยู่เดิมก็เริ่มลดน้อยลงไป เป็นผลให้ขาดแคลนนักวิจัยในที่สุด
"ถ้าจะขับเคลื่อนงานวิจัยให้สำเร็จ ต้องไม่มีข้อจำกัดของปัจจัยในการทำวิจัย และมีการบริหารจัดการกำกับที่ดี ทั้งในด้านการบริหารบุคลากร การเงิน เวลา การประเมินผลงานวิจัย การให้รางวัลเพื่อเป็นการจูงใจ และบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดในการวิจัย" รศ.ดร.อภิชาติ กล่าวในที่สุด