สหรัฐฯ เป็นพี่เลี้ยงให้ไทย จัดประชุมติวเข้มนักวิจัยสื่อสารยังไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกเรื่องพืชจีเอ็ม นำเสนอวิธีที่ใช้สำเร็จในสหรัฐฯ ให้เอ็นจีโอเป็นส่วนหนึ่ง ผู้คนเข้าถึงข้อมูลง่ายหลายช่องทาง นายกโฟสแตตเผยหากไทยไม่ทำพืชจีเอ็ม การเกษตรเราล้าหลังแน่
สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย หรือโฟสแตต (FoSTAT) ร่วมกับสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และอีกหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่และการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ (Modern Biotechnology and RisK Communication Workshop) เมื่อวันที่ 5 ต.ค.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามาการ์เดนส โดยมีนักวิชาการที่สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 200 คน และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ร่วมสังเกตการณ์
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่นักวิจัย นักวิชาการ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปในการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องและไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นในสังคม
ดร.แอนดรูว์ เพาเวล (Dr. Andrew Powell) จากบริษัทเอเชียไบโอบิสซิเนส (Asia BioBusiness) กล่าวว่า ความยั่งยืนทางด้านอาหารเป็นเรื่องหนึ่งที่กลุ่มประเทศเอเปค (APEC) ให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ที่กำลังมีปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหาร ผลผลิตมีราคาสูงขึ้น แต่ปริมาณที่ผลิตได้ลดน้อยลง ขณะเดียวกันยังมีประชากรที่หิวโหยเพราะขาดแคลนอาหารอยู่ทั่วโลกอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา
เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่โดยการดัดแปรพันธุกรรมพืชเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตได้มาก เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการลงทุน เกิดความยั่งยืนทางอาหาร ประชากรมีสุขภาพดี ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์
ทางด้าน ดร.เจมส์ แมรีอันสกี (Dr. James Maryanski) ที่ปรึกษาและอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (USFDA) เปิดเผยว่าตั้งแต่มีการพัฒนาพืชดัดแปรพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม (GM plant) ก็เกิดคำถามถึงความปลอดภัยของพืชจีเอ็มขึ้น ซึ่งงานวิจัยที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าพืชจีเอ็มมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
เมื่อมีการผลิตพืชจีเอ็มในเชิงพาณิชย์ สหรัฐฯได้นำระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของโคเด็กซ์ (Codex) มาใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และวิเคราะห์ความปลอดภัยของอาหารที่มาจากพืชจีเอ็มโดยเปรียบเทียบกับอาหารปกติชนิดเดียวกัน และเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อมวลชน อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์สายด่วน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารจีเอ็ม
ส่วนสถานการณ์พืชจีเอ็มในไทยขณะนี้นั้น นางดรุณี เอ็ดเวิร์ดส นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ในประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยพืชจีเอ็มมานานหลายปี และได้นำแนวทางของโคเด็กซ์มาใช้ในการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพ นักวิจัยไทยก็มีความสามารถที่จะพัฒนาพืชจีเอ็มได้ ซึ่งหลายชนิดผ่านขั้นตอนในห้องแล็บและพร้อมที่จะทดสอบภาคสนามแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีบางกลุ่มต่อต้าน และไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าที่ควร
"ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การพัฒนาพืชจีเอ็มจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประเทศไทย เพราะเกษตรจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้โดยตรง หากประเทศไทยไม่ทำ การเกษตรของไทยจะไม่พัฒนา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านนำหน้าไปไกลแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ และเวียดนามก็กำลังจะแซงหน้าเรา" นายกโฟสแตตกล่าว
นายแกรี่ ไมเยอร์ (Gary Meyer) อุปทูตที่ปรึกษาด้านการเกษตรประจำสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่าในสหรัฐฯ ก็มีปัญหากลุ่มเอ็นจีโอต่อต้านการปลูกพืชจีเอ็มเช่นกัน แต่เราได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพืชจีเอ็ม โดยนำข้อสงสัยหรือคำถามของเอ็นจีโอมาเป็นโจทย์ให้นักวิจัยค้นหาคำตอบเพื่อมาอธิบายให้ประชาชนและเอ็นจีโอเข้าใจ
อุปทูตที่ปรึกษาด้านการเกษตรฯ บอกอีกว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนในสหรัฐฯ ให้การยอมรับพืชจีเอ็ม เพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง คือองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ประกอบกับการที่ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึง หรือสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายผ่านช่องทางต่างๆ และสามารถแสดงความคิดเห็นสะท้อนกลับได้ โดยที่ทุกความเห็นจะได้รับการพิจารณาเพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขเรื่องดังกล่าว
นายไมเยอร์บอกว่า สังคมไทยเป็นแบบหนึ่ง สหรัฐฯ เป็นแบบหนึ่ง ซึ่งเขาไม่สามารถให้คำแนะนำได้ แต่การประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้นครั้งนี้ ได้นำแนวทางที่ใช้และประสบความสำเร็จในสหรัฐฯ มานำเสนอเป็นตัวอย่าง ซึ่งประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมได้เพื่อสื่อสารให้ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับพืชจีเอ็มมากยิ่งขึ้นได้