xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประเด็นเจรจาโลกร้อนที่กรุงเทพฯ ก่อนหาข้อสรุปใหญ่ปลายปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุดโครงการ MEAs Watch สกว. จัดเวทีนักวิชาการพบสื่อมวลชน เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและประเด็นที่น่าจับตาในเวทีการประชุม AWG-LCA ครั้งที่ 7 และ AWG-KP ครั้งที่ 9 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 9 ต.ค. นี้ ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะหาข้อสรุปให้ได้ในการประชุมครั้งใหญ่ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ปลายปีนี้
ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งย่อย เจรจาหาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกหลังพิธีสารเกียวโตหมดอายุ ก่อนถึงการประชุมเพื่อหาข้อสรุปปลายปีนี้ที่เดนมาร์ก จับตากลไกใหม่ที่ทั่วโลกอาจต้องใช้แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ภาคการเกษตร ป่าไม้ อาจได้เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยในประเทศกำลังพัฒนา

การประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจด้านความร่วมมือในระยะยาว ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (AWG-LCA) ครั้งที่ 7 และการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการกำหนดพันธกรณีการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศในภาคผนวกที่ 1 (ประเทศ Annex-I) ภายใต้พิธีสารเกียวโต (AWG-KP) ครั้งที่ 9 กำลังจะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 9 ต.ค. 52 นี้ ที่กรุงเทพฯ เพื่อเจรจาหาข้อตกลงการลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศภายหลังปี 2012 และจะประชุมกันอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ในเดือน ธ.ค. นี้ ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและประเด็นเจรจาที่น่าจับตา สำหรับการประชุมที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ ชุดโครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์ลดโลกร้อน (MEAs Watch) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้จัดเวทีนักวิชาการพบสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและความเป็นไปได้ของกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกที่อาจมีผลบังคับใช้หลังพิธีสารเกียวโตหมดอายุในปี 2012

ในการเจรจาที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ จะมีการพูดถึงในหลายประเด็น ทั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก กลไกที่จะใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละประเทศ การปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กลไกการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนา กลไกยืดหยุ่นของพิธีสารเกียวโตหลังปี 2012 และประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษในการประชุมครั้งนี้คือ กลไกใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังปี 2012 อาทิ เซคเตอรอล แอพโพรช (Sectoral Approach) และ REDD ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้นำมาแจกแจง

Sectoral Approach กลไกใหม่ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขาการผลิต

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัย คณะเศรษศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า เซคเตอรอล แอพโพรช (Secteral Approach: SA) คือแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรายสาขาการผลิต

แนวคิดนี้เคยมีการพูดถึงกันมาแล้วในเวทีเจรจาครั้งก่อนๆ หลัดการของกลไกนี้จะเน้นการทำข้อตกลงระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อกำหนดระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันระหว่างผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนั้นๆ ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา หรือผู้ประกอบการในแต่ละสาขาอาจตกลงเจรจากำหนดเป้าหมายกันเองโดยสมัครใจ

ทั้งนี้ กลไก SA ยังช่วยสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยหากภาคการผลิตใดสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะได้รับคาร์บอนเครดิต และสามารถนำไปซื้อขายในตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดสรรสิทธิประโยชน์ให้ในแต่ละสาขาการผลิต

อย่างไรก็ดี กลไกนี้ได้รับการผลักดันอย่างมาก เนื่องจากเชื่อว่า จะช่วยลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ (UNFCCC) และได้นำมาพูดกันในเวทีเจรจาภายใต้พิธีสารเกียวโตด้วยในอีกชื่อหนึ่งว่า วิธีการที่เป็นไปได้ในการตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสาขาการผลิต (Possible Approach Targeting Sectoral Emission)

มีแนวโน้มว่า SA จะเป็นกลไกใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้หลังปี 2012 เนื่องจากเป็นการส่งเสริมให้ประเทศที่ไม่มีพันธกรณีหรือประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex-I) เข้ามามีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้นระหว่างประเทศที่มีและไม่มีพันธกรณีภายใต้พิธีสารเกียวโต ดังเช่นประเทศจีนและอินเดีย ที่ไม่มีพันธกรณี ทว่าปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าบางประเทศที่มีพันธกรณีเสียอีก ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่มีพันธกรณีไปสู่ประเทศที่ไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย

ทั้งนี้ หากมีการนำกลไกในลักษณะ SA มาใช้จริง ควรทำให้ครอบคลุมทั้งสาขาการผลิตและการบริโภค แต่ไม่ควรนำไปใช้เป็นมาตรการแทนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันของประเทศ Annex-I รวมถึงไม่ควรนำไปใช้กำหนดพันธกรณีของประเทศ Non-Annex-I และไม่ควรนำมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าด้วย โดยสาขาการผลิตที่ควรกำหนดให้ใช้กลไก SA เป็นอันดับแรกๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, ปูนซีเมนต์, เหล็ก, กระดาษ และการผลิตไฟฟ้า

REDD กลไกลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ในประเทศกำลังพัฒนา

ปัจจุบันภายใต้พิธีสารเกียวโต กำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนายังไม่มีพันธกรณีที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย และประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ผศ.ดร.ลดาวัลย์ พวงจิตร นักวิจัย คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้มากในรูปของมวลชีวภาพ แต่เมื่อมีการตัดไม้ทำลายป่า คาร์บอนที่เคยถูกกักเก็บไว้ในป่าก็จะถูกปล่อยปล่อยออกมา

ทั้งนี้ การตัดไม้ทำลายป่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนา และในปี 2005 ประเทศปาปัวนิวกินีและคอสตาริกาได้เสนอให้มีกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา หรือ เรดด์ (Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries: REDD) ในการประชุมเจรจาที่ประเทศแคนาดา

แนวคิดของ REDD ไม่ใช่แค่การปลูกป่าเพิ่ม แต่ยังมุ่งเน้นที่การลดการทำลายป่า และดูแลรักษาป่าไม่ให้เสื่อมโทรมลง และฟื้นฟูป่าที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเจ้าของป่าและสิ่งแวดล้อมโดยรวมของโลก และต้องมีค่าตอบแทนให้กับผู้ที่รักษาป่า ซึ่งก็คือชุมชนที่อาศัยบริเวณโดยรอบป่านั้นๆ ซึ่งรัฐจะต้องสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากชุมชนในการดูแลรักษาป่าไม่ให้เสื่อมโทรม

กลไก REDD จะช่วยให้การทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนาลดน้อยลงได้ และจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 20% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก และยังเป็นวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีต้นทุนต่ำที่สุดอีกด้วย แต่ที่ผ่านมา กลไก REDD ยังเป็นเพียงทฤษฎีที่ยังไม่มีข้อกำหนดหรือการดำเนินงานที่ชัดเจน

ในการประชุม AWG-LCA ครั้งที่ 7 และ AWG-KP ครั้งที่ 9 นี้ จะมีการนำกลไก REDD มาเจรจากันในประเด็นต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปว่าจะผลักดันให้เกิดกลไกนี้ภายหลังปี 2012 หรือไม่ โดยจะเจรจากันในประเด็นตั้งแต่การกำหนดคำนิยามของป่า, ขนาดโครงการของ REDD, ระดับในการอ้างอิง, วิธีการประเมิน ติดตาม ตรวจสอบ ไปจนถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน เพื่อเตรียมความพร้อมของโครงการ ซึ่งอาจทำในรูปแบบการจัดตั้งกองทุน, การนำเข้าตลาดคาร์บอน หรืออาจใช้ทั้งสองรูปแบบควบคู่กันไป

หัวใจสำคัญในกลไก REDD คือต้องไม่มีการบังคับ แต่ให้เกิดจากความสมัครใจของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ มีความเสมอภาค ยุติธรรม และมีการผลักดันให้เกิดความถาวร โดยทำให้ประเทศเหล่านั้นอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องทำลายป่าและไม่ต้องพึ่งพาเงินจากกองทุน

ชูกลไกให้ภาค "เกษตรกรรม" เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน

ด้าน ผศ.ดร.ภัทรา เพ่งธรรมกีรติ นักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ชี้ให้เห็นอีกว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม เป็นอีกหนึ่งประเด็นเจราจาที่น่าติดตามในการประชุม AWG-LCA ครั้งที่ 7 และ AWG-KP ครั้งที่ 9 เพราะภาคเกษตรกรรมก็มีส่วนปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมากถึง 13.5% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะก๊าซมีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) ในชั้นบรรยากาศถูกปลดปล่อยจากภาคการเกษตรมากถึง 51% และ 70% ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมมากถึง 24% จากปริมาณที่ปลดปล่อยทั้งหมดในประเทศ

การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรมีที่มาจากหลายแหล่ง อาทิ ระบบย่อยอาหารของปศุสัตว์ การทำนาข้าว การเผาเศษซากพืช การใช้ปุ๋ย และการหายใจของดิน เป็นต้น และจากข้อมูลของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี : IPCC) พบว่าในช่วงระหว่างปี 1990-2005 ประเทศกำลังพัฒนาปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 32% ขณะที่ประเทศพัฒนามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมลดลงไป 12%

ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อผลิตอาหารให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนในประเทศพัฒนาแล้วมีการใช้ประโยชน์ที่ดินไปในด้านอุตสหกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่า

ทว่ากลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร สามารถทำได้โดยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเกษตรแบบอินทรีย์ ซึ่งจะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มากถึง 70% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาในปัจจุบัน

อีกทั้ง การสนับสนุนให้ลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมได้ถูกระบุไว้แล้วในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ (UNFCCC) ส่วนในพิธีสารเกียวโตก็มีการสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืนเป็นอีกทางหนึ่งในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ดี การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม ถูกจัดให้รวมอยู่ในกลไก Sectoral Approach ด้วย ภายใต้ AWG-LCA และสำหรับในประเทศกำลังพัฒนา ภาคเกษตรกรรมยังมีส่วนเพิ่มก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอย่างมากด้วยจากการบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำการเกษตร จึงควรที่จะต้องมีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก

ทั้งนี้ ในการประชุมทั้ง 2 เวทีนี้จะมีการเจรจาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม โดยประเทศกำลังพัฒนาจะมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอบทบาทของภาคเกษตรกรรมที่เป็นแหล่งลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมแนวทางการเกษตรแบบยั่งยืน ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และถือเป็นแหล่งอาหารของโลก โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อความอยู่รอด (survivor emission) ไม่ใช่การปลดปล่อยเพื่อความหรูหราฟุ่มเฟือย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเกษตรกรรมไม่ต้องได้รับโทษฐานปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้.
รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ (ขวา) และ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้ประสานงาน MEAs Watch สกว.
ผศ.ดร.ลดาวัลย์ พวงจิตร (ขวา) และ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ
ผศ.ดร.ภัทรา เพ่งธรรมกีรติ
กำลังโหลดความคิดเห็น