เผยสถิติไทยมีแนวโน้มปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น และรั้งอันดับสูงขึ้นจากอันดับ 29 เป็นที่ 24 ในปี 2548 ที่ผ่านมา นักวิชาการชี้กลไกตลาดคาร์บอน ช่วยไทยให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงได้ แต่ต้องเลือกใช้แนวทางที่เหมาะสม ภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่าไทยควรเริ่มใช้แบบสมัครใจ คาดตลาดคาร์บอนของไทยจะเกิดในอีก 10 ปี
รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หัวหน้าโครงการศึกษาต้นแบบตลาดคาร์บอนในประเทศไทย กล่าวในระหว่างการสัมมนาเรื่อง "การส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดคาร์บอนของไทย" ที่ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าแนวทางการพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศไทยอาจทำได้ 2 รูปแบบคือ แบบบังคับ และแบบสมัครใจ ภายใต้การดำเนินงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาล
นักวิจัยเปิดเผยว่า จากรายงานการศึกษาสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยนักวิจัยต่างประเทศ ชี้ว่าประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น และอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยในปี 2543 และปี 2548 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 29 และ 24 ตามลำดับ ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง (นักวิจัยอ้างอิงข้อมูลจาก www.cait.wri.org) ซึ่งหากประเทศไทยจะร่วมมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้ กลไกตลาดคาร์บอนถือเป็นวิธีหนึ่งที่ไทยจะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกให้สัมฤทธิ์ผลได้โดยรัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างเป็นทางการ
แนวคิดตลาดคาร์บอนแบบทางการ ยังแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ ตลาดคาร์บอนแบบบังคับ และตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ ซึ่ง รศ.ดร.นิรมล อธิบายว่า ตลาดแบบบังคับ รัฐบาลจะต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายและกฎหมาย กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้ประกอบการที่จะต้องเข้าร่วมโครงการ มีการจัดสรรใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับแหล่งปลดปล่อย และมีบทลงโทษชัดเจนสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ส่วนตลาดแบบสมัครใจ รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดแนวทางหรือกฎระเบียบของการดำเนินงาน แต่การเข้าร่วมในตลาดคาร์บอนของภาคเอกชนจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ และไม่จำเป็นต้องมีบทลงโทษ แต่อาจมีการสร้างแรงจูงใจ โดยภาคเอกชนเป็นผู้กำหนดปริมาณการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตกลงกันเองในการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับหลักการเบื้องต้นของการจัดตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศไทย ผู้ประกอบการจะต้องมีต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เท่ากัน จึงจะเกิดการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยจะต้องมีระบบการจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอนุญาตให้มีการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ นอกจากนั้นยังจะต้องมีคำนิยามและการตรวจวัดปริมาณคาร์บอนเครดิตเหมือนกันในทุกสาขาการผลิตและทุกแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้การดำเนินงานโดยองค์กรหรือระบบที่เชื่อถือได้
ทั้งนี้ นักวิจัยได้เปรียบเทียบให้เห็นด้วยว่า หากนำกลไกตลาดคาร์บอนเข้ามาใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจก จะทำให้ภาคเอกชนมีต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถูกลงกว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยปราศจากการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เท่ากัน
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.นิรมล ระบุว่า การกำหนดรูปแบบของตลาดคาร์บอนทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้และเกิดความยั่งยืน จะต้องอาศัยปัจจัยทางการเมือง ความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ และที่สำคัญต้องได้รับการยอมรับจากภาคเอกชนและภาคประชาชน เพราะต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น ซึ่งตลาดคาร์บอนแต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน แต่ตลาดแบบบังคับจะให้ประสิทธิผลในการลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าตลาดแบบสมัครใจ
ส่วนรัฐบาลจะเลือกใช้รูปแบบไหนขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมกับประเทศไทย โดยจะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนจัดตั้ง และเชื่อว่าตลาดคาร์บอนในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้หลังปี 2563 เพราะการจัดตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศยังต้องใช้ระยะเวลาศึกษาและเตรียมการมากกว่า 10 ปี
รศ.ดร.นิรมล ให้ข้อเสนอแนะว่า รัฐอาจจัดตั้งตลาดคาร์บอนแบบผสม โดยกำหนดใช้ตลาดแบบบังคับกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และตลาดแบบสมัครใจใช้กับผู้ประกอบการรายย่อย หรืออาจเริ่มส่งเสริมตลาดสมัครใจก่อนในระยะ 5 ปีแรก เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับภาคเอกชน และจากนั้นจึงส่งเสริมการจัดตั้งตลาดคาร์บอนแบบบังคับต่อไป ทว่าผู้เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ซึ่งมีทั้งตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า หากประเทศไทยจะมีตลาดคาร์บอนเกิดขึ้นจริง ก็ควรเริ่มจากตลาดแบบสมัครใจก่อน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าและเหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่าในช่วงเริ่มต้นการดำเนินการตลาดคาร์บอนในประเทศไทย