เอเจนซี - ผู้นำจีนและญี่ปุ่น ได้ความชื่นชมจากการขึ้นเวทีซัมมิตโลกร้อนที่ยูเอ็นวันอังคาร (22) เมื่อจีนประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเป็นครั้งแรกภายในปี2020 ขณะที่ญี่ปุ่นตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 1 ใน 4 จากระดับปี 1990 ด้าน “โอบามา” ถูกจวกว่าดีแต่ตีโวหาร
ในสภาพที่เหลือเวลาไม่ถึง 3 เดือน ก็จะถึงการประชุมสหประชาชาติที่กรุงโคเปนเฮเกน ของเดนมาร์ก เพื่อจัดทำข้อตกลงแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกฉบับใหม่ โดยที่บรรยากาศของการเจรจาอยู่ในอาการชะงักงัน บันคีมุน เลขาธิการยูเอ็น จึงจัดการประชุมสุดยอด 1 วัน ที่องค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์กคราวนี้ขึ้นมา และประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ เร่งตกลงกันในประเด็นปัญหาสำคัญยิ่งนี้
“ขณะที่ซัมมิตคราวนี้ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าเราจะได้ข้อตกลงระดับโลก แต่แน่นอนว่าเราก้าวเข้าไปใกล้เป้าหมายระดับโลกดังกล่าวอีกก้าวหนึ่งในวันนี้” บัน พูดในพิธีปิดการประชุมซึ่งมีผู้นำของประเทศต่างๆ เกือบ 100 คนเข้าร่วม
ระหว่างการประชุมสุดยอดคราวนี้ ประธานาธิบดี หูจิ่นเทา ของจีน กล่าวสุนทรพจน์ระบุว่า จีนมีแผนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมุ่งมั่นพัฒนาพลังงานทางเลือกประเภทต่างๆ รวมทั้ง พลังงานนิวเคลียร์ พร้อมกับประกาศว่า จีนจะเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้อัตราการปล่อยอยู่ในระดับน้อยกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
ผู้นำจีน กล่าวว่า “เราจะพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยจีดีพีของเราให้ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนภายในปี 2020 จากระดับของปี 2005”
การให้คำมั่นของหูครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จีน ระบุว่า พร้อมจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองลง แม้จะถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ที่ว่าจีนมีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหาโลกร้อนน้อยมาก
ถึงแม้ผู้นำจีนไม่ได้ระบุว่า จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเป็นจำนวนเท่าใด แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนคนหนึ่งซึ่งเข้าร่วมการประชุมเปิดเผยว่า แผนดังกล่าวน่าจะพร้อมนำไปใช้ได้ในเร็วๆ นี้
แผนการนี้ถือเป็นก้าวย่างเพิ่มเติมจากจุดมุ่งหมายของจีนในปัจจุบัน ที่จะตัดลดการบริโภคพลังงานต่อหน่วยจีดีพีลงให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2010 จากระดับปี 2005
ทางด้าน นายกรัฐมนตรี ยูกิโอะ ฮาโตยามะ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของญี่ปุ่นเมื่อ 6 วันก่อน ได้ประกาศในที่ประชุมว่า ญี่ปุ่นมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 จากระดับเมื่อปี 1990 ให้ได้ภายในปี 2020 นอกจากนั้น ผู้นำญี่ปุ่นยังประกาศจะให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อนเช่นกัน
ขณะที่ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวในเวทีเดียวกัน ระบุว่า สหรัฐฯทราบดีถึงความรุนแรงของปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก และมีความพร้อมที่จะดำเนินมาตรการรับมืออย่างเต็มที่ แม้ยังคงมีความท้าทายอีกมากที่จะต้องเร่งแก้ไข ซึ่งประเทศร่ำรวยและยากจนต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
นักวิเคราะห์และตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่างออกมาแสดงความชื่นชมต่อท่าทีของผู้นำจีนและญี่ปุ่น คนุต อัล์ฟเซน หัวหน้าศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและพลังงานนานาชาติที่กรุงออสโลของนอร์เวย์ ระบุว่า แม้จะผิดหวังที่ผู้นำจีนไม่ประกาศชัดเจนว่าจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงเท่าใด แต่ก็ยินดีที่รัฐบาลจีนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน
ขณะที่ ธอมัส เฮนนิงเซน ผู้ประสานงานด้านสภาพภูมิอากาศของกรีนพีซระบุ สุนทรพจน์ของผู้นำสหรัฐฯ เต็มไปด้วยการแสดงวาทศิลป์ แต่ปราศจากจุดยืนที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังและเป็นการก้าวถอยหลังครั้งสำคัญ
แฟรงก์ จ็อตโซ รองผู้อำนวยการสถาบันศึกษาสภาพภูมิอากาศ ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียในกรุงแคนเบอร์รา ระบุว่า ขณะนี้สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการประชุมสุดยอดที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคม คือ การเมืองภายในของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่าร่างกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ทันในเดือนธันวาคม ขณะที่ปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบประกันสุขภาพดูจะเป็นสิ่งที่โอบามาให้ความสำคัญมากกว่า