นักวิชาการมั่นใจ ตลาดคาร์บอนจะขยายใหญ่ขึ้นหลัง ปี 2012 และเน้นไปที่แบบสมัครใจมากกว่า เผยเกาหลีใต้เสนอ "นามาส์" กลไกรูปแบบใหม่ที่อาจต้องนำมาใช้ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ส่วนไทยยังต้องศึกษาความคุ้มค่า หากจะตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศ แนะรัฐต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ส่วนหนึ่งของมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ จัดการสัมมนา โกลบอล วอร์มมิง ฟอรัม (Global Warming Forum) ครั้งที่ 4 เรื่อง "กลไกที่ยืดหยุ่นของพิธีสารเกียวโตและแผนการจัดสรรพันธกรณีระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซหลังพิธีสารเกียวโต" เมื่อวันที่ 26 ส.ค.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าร่วมฟังด้วย
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ นักวิชาการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า จากผลการศึกษาเบื้องต้นของ "โครงการศึกษากลไกที่ยืดหยุ่นของพิธีสารเกียวโตหลัง ค.ศ.2012 ที่มีนัยต่อการกำหนดมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ภายในประเทศไทย" ที่มี รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ พบว่ากลไกสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกภายหลัง ค.ศ.2012 มีหลายกลไก
แต่ที่น่าสนใจมี 3 กลไกด้วยกัน ได้แก่ 1. กลไกตลาดคาร์บอนเครดิต, 2. คาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมอื่นที่มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ หรือนามาส์ (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs) และ 3. กลไกการลดก๊าซเรือนกระจกจำแนกตามประเภทของอุตสาหกรรม (Sectoral Approach)
"มีแนวโน้มว่า ตลาดคาร์บอนเครดิตจะมีการขยายตัวมากขึ้นหลัง ค.ศ.2012 และส่วนใหญ่จะเน้นไปในรูปแบบของตลาดสมัครใจมากขึ้น สำหรับประเทศไทยหากจะขายคาร์บอนเครดิต ก็จะต้องมีการจัดตั้งตลาดคาร์บอนขึ้นในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มี แต่กำลังศึกษาอยู่ระหว่างศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของการจัดตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศไทย" ดร.พงษ์วิภา เผย
ส่วนกลไกนามาส์ นักวิชาการจาก อบก. อธิบายว่า เป็นกลไกรูปแบบใหม่ที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นผู้เสนอขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ และยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมในรูปแบบที่ไม่ใช่การลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง เช่น การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน ที่ช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถลดการใช้พลังงานลงได้
เดิมทีไม่เคยมีการคำนวณย้อนกลับว่า เมื่อเปลี่ยนแล้วสามารถประหยัดพลังงานไปได้เท่าไหร่ และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ แต่ต่อไปจะมีการคำนวณเปรียบเทียบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงไปได้จากกิจกรรมในลักษณะนี้ ซึ่งทำได้ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และยังอาจนำคาร์บอนเครดิตไปขายในตลาดคาร์บอนได้ด้วย
"สำหรับกลไกแบบ Sectoral Approach เคยมีการพูดถึงในการเจรจาของสหประชาชาติมาแล้ว แต่ระยะหลังเงียบหายไป แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เงียบ เพราะในยุโรปมีการนำเอาไปใช้กันจริงจังบ้างแล้ว โดยรัฐบาลต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้จำนวนเท่าไหร่ และกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมแต่ละประเภทต้องลดก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่เหมาะสม หรืออาจซื้อคาร์บอนเครดิตเข้ามาช่วยเสริมได้ และหากใครไม่ปฏิบัติตามก็จะต้องเสียค่าปรับ ซึ่งกลไกลักษณะนี้เป็นแบบบังคับ และอาจเป็นไปได้ยากในประเทศไทย" ดร.พงษ์วิภา อธิบาย
ดร.พงษ์วิภา กล่าวต่อว่า แม้ประเทศไทยจะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และไม่มีพันธกรณีที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกตามข้อกำหนดในพิธีสารเกียวโต แต่หากไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ เท่ากับว่าได้แสดงศักยภาพต่อนานาประเทศ ได้มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก และยังสามารถขายคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้เข้าประเทศได้ ส่วนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศไทยจะเป็นแบบบังคับหรือโดยสมัครใจ อาจต้องรอดูผลจากการประชุมที่เดนมาร์กปลายปีนี้
อย่างไรก็ตาม มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งแบบบังคับหรือแบบสมัครใจอาจก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นได้ นักวิชาการจึงเสนอด้วยว่ารัฐบาลต้องออกมาตรการอื่นๆ นำมาประกอบด้วย เพื่อจูงใจหรือลดอุปสรรคในการดำเนินงานของทั้งภาครัฐและเอกชน และจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนถึงเรื่องผลดีที่ได้จากการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคสุดท้ายมีความเข้าใจและยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ การประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 15 และสมาชิกพิธีสารเกียวโต ครั้งที่ 5 จะมีขึ้นในเดือน ธ.ค. 2552 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อหาบทสรุปแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกภายหลังพิธีสารเกียวโตหมดอายุในปี ค.ศ.2012 แต่ก่อนที่จะมีการประชุมที่เดนมาร์ก จะมีการประชุมเจรจาของคณะทำงานเฉพาะกิจครั้งสุดท้ายก่อน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-9 ต.ค. นี้ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม.