อุบลราชธานี - กรรมการสิทธิมนุษยชนเปิดเวทีสาธารณะถกปัญหาความขัดแย้งการพัฒนาลุ่มน้ำโขง และการลดลงด้านความมั่นคงทางอาหาร เพราะการระเบิดเกาะแก่งสร้างเขื่อนมีผลกระทบพันธุ์ปลาที่หายไป
เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่โรงแรมลายทอง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กลุ่มนักวิชาการลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนเปิดเวทีสาธารณะถกปัญหาการพัฒนาแม่น้ำโขงและประเมินผลกระทบสุขภาพข้ามพรมแดน โดยมีตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำมูล ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนต่างๆ ทั้งในอนาคตและปัจจุบันเข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิชาการที่ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการระเบิดเกาะแก่งหิน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำโขงในรอบหลายปีที่ผ่านมา
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า ผู้ได้รับผลกระทบครึ่งหนึ่งอยู่ในประเทศจีน อีกครึ่งอยู่ในประเทศตามรายทางที่แม่น้ำโขงไหลผ่านคือ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ผลกระทบที่ทำให้เห็นชัดเจน คือ โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในรอบ 10 ปี ซึ่งมีการสร้างเขื่อน มีการระเบิดเกาะแก่ง สร้างผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหาร ทำให้คนลุ่มน้ำโขงที่หากินอยู่กับปลาตามริมแม่น้ำ ปีหนึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทใน 6 ประเทศมีรายได้ลดลง
“เพราะการสร้างเขื่อนและการระเบิดเกาะแก่งตามลำน้ำ ทำให้เกิดการทำลายระบบนิเวศวิทยา ทำลายระบบชีวิตและความเป็นอยู่ของพลเมืองปลา ทำให้พันธุ์ปลาที่มีอยู่ตามธรรมชาติลดลงมาก” นพ.นิรันดร์ กรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าว และว่า
ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมต่างๆที่มาดำเนินการในลุ่มน้ำโขงที่เป็นลุ่มน้ำระหว่างประเทศ ต้องอยู่ในกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 190 ระบุไว้ชัดเจนว่า การดำเนินกิจกรรมใดๆ ต้องผ่านความเห็นของรัฐสภา และเมื่อพบมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมก็ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น ต้องสร้างการมีส่วนร่วมประชาชนในการตัดสินใจ เพื่อชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียให้กับโครงการที่จะนำเข้ามาสู่การพัฒนาแม่น้ำโขง
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังหารือเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ตามลุ่มน้ำโขง ซึ่งยังมีความขัดแย้งด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน การดำเนินการในลุ่มน้ำโขง จึงต้องมีการหารือระดับอนุภูมิภาค และยอมรับความเห็นของคนต่างชาติพันธุ์ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต
ที่ผ่านมารัฐต่างๆ ตามลุ่มน้ำมักใช้วิธีสร้างความแตกแยกทางสังคม ก่อนที่จะสร้างโครงการต่างๆขึ้นมา การจัดเวทีสาธารณะครั้งนี้ จึงเป็นการะดมความเห็น เพื่อเป็นแม่แบบหาทางออกให้กับสังคมตามลุ่มน้ำ รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านอาหารไม่ให้กลุ่มทุนและอำนาจรัฐ ฉวยโอกาสเข้ามาครอบงำ แล้วทำลายวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ ให้เข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมของกลุ่มทุน แทนวิถีชีวิตอิสระที่คนลุ่มน้ำสืบสานกันมาแต่อดีต