มีเรื่องต้องต่อรองกันยาวเกือบ 300 หน้า ประธานโลกร้อนยูเอ็นหวั่นประชุมแค่ 16 วันที่กรุงเทพฯ อาจไม่ได้สรุป อีกทั้งเพิ่งประชุมหาทางแก้ปัญหาที่นิวยอร์กสัปดาห์ก่อนยังหาทางออกไม่ได โดยเฉพาะประเด็นการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่ยอมร่วมมือ ซ้ำยังร้องให้ประเทศอุตสาหกรรมขยายเป้าลดการปล่อยก๊าซให้มากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการเจรจาว่าด้วยโลกร้อน ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 ก.ย.52 ซึ่งจะจัดยาวนานถึง 16 วัน ไปจนถึงวันที่ 9 ต.ค.52 โดยการประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่มี 192 ชาติเข้าร่วม
การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการกำหนดพันธกรณีการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศในภาคผนวกที่ 1 (ประเทศ Annex-I) ภายใต้พิธีสารเกียวโต (AWG-KP) ครั้งสุดท้าย ก่อนจะมีข้อสรุปการเจรจาข้อตกลงที่โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และเป็นการประชุมในช่วงเวลาเกือบครบ 2 ปีของปฎิญญา "แผนที่นำทางบาหลี" (Bali Road Map) ซึ่งเป็นข้อตกลงของชาติต่างๆ ที่จะร่วมกันจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนปี 2553
"ลูกๆ หลานๆ จะไม่มีวันให้อภัยพวกเรา จนกว่าเราจะลงมืออย่างจริงจัง เวลาเหลือน้อยลงทุกที อีกเพียงแค่ 2 เดือนก่อนการประชุมที่โคเปนเฮเกน มีหลายอย่างต้องทำ และมีอีกหลายสิ่งที่ต้องแก้ไข ขอให้ใช้เวลา 2 สัปดาห์นี้ในกรุงเทพฯ ช่วยกันเติมเต็มความมั่นใจ เพื่ออนาคตอย่างเต็มที่" นายอภิสิทธิ์กล่าวเปิดการประชุม
ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ก่อนทั้ง 192 ชาติ ยังได้เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติในนิวยอร์ก และการประชุมสุดยอดผู้นำ "จี20" (G20) ในพิตต์สเบิร์ก สหรัฐฯ แต่ล้มเหลวที่จะทำลายกำแพงขวางกั้นอันสำคัญ 2 ประเด็น คือ เรื่องลดการปลดปล่อยคาร์บอน และปัญหาเรื่องงบประมาณที่ต้องช่วยกันออก
"เรามากรุงเทพฯ พร้อมหนังสือเจรจาข้อตกลง ที่ผมคาดว่าน่าจะมีประมาณ 280 หน้า ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ต่อรองกันสำเร็จภายใน 16 วัน" อีโว เดอ โบร์ (Yvo De Boer) ประธาน UNFCCC ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีในคืนก่อนวันเปิดการประชุม เพราะการเจรจาครั้งนี่ถือเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการประชุมที่โคเปนเฮเกน ซึ่งจะต้องมีข้อตกลงเพื่อสร้างสนธิสัญญาใหม่ รองรับพิธีสารเกียวโตที่กำลังจะหมดอายุลง ดังนั้นทุกอย่างจึงดูบีบรัดไปหมด
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่าเมื่อถึงปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มได้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสโดยเทียบกับปีฐานในช่วงก่อนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม (อยู่ที่ 13.9°C ขณะที่ในปี พ.ศ.2550 อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูง 14.45°C : ข้อมูลจาก NOAA)
อีกทั้ง นักวิทยาศาสตร์ยังบอกด้วยว่า เรามีเวลาปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนถึงขีดสุดได้เพียงอีก 6 ปี นับจากนี้เท่านั้น หากปราศจากการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าจะเกิดภาวะแห้งแล้ง น้ำท่วม และระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลกก่อนสิ้นศตวรรษนี้ และการเป็นปัญหาขาดแคลนอาหาร ไร้ที่อยู่อาศัยและเกิดการต้อสู้แย่งชิงกัน
อย่างไรก็ดี ประเทศที่อุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ยอมรับที่จะรับผิดชอบต่อการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และเสนอตัวเลขปริมาณคาร์บอนที่จะลดลงก่อนปี พ.ศ. 2563 และปี พ.ศ.2593
นอกจากนี้ พวกเขายังเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจีน อินเดีย บราซิลและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีบทบาทในการ่วมปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรมีส่วนร่วมในข้อผูกมัดที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
เอเอฟพีรายงานด้วยว่า ประเทศกำลังพัฒนาปฏิเสธที่จะทำตามเป้าหมายอันยากลำบาก แต่เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้มากกว่าที่ประเทศเหล่านั้นตั้งเป้าจะทำให้ได้ในปี 2563
ด้านประธานาธิบดี หู จิ่นเทา (Hu Jintao) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้คำปฏิญญาณแก่สหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จะพัฒนาเศรษฐกิจของจีนโดยปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง โดยเฉพาะการใช้พลังงานฟอสซิลให้มีประสิทธิภาพในขอบเขตที่สังเกตได้ แต่ไม่ได้บอกตัวเลขที่แน่ชัด
จากการประเมินข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในหลายๆ งานวิจัยพบว่า จีนได้แซงหน้าสหรัฐฯ ในฐานะผู้ปลดปล่อยคาร์บอนในอันดับสูง และเมื่อรวมการปลดปล่อยของทั้งสองประเทศแล้ว คิดเป็น 40% ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก.