xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าไม่มีกฎหมายสัตว์ทดลอง ไทยหมดอนาคตเป็นแหล่งผลิตยาของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ประดน จาติกวนิช
วช. เตรียมจัดประชุมประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. สัตว์ทดลองครั้งใหญ่ พ.ย. นี้ที่หอประชุมสหประชาชาติ หวังภายใน 1-2 ปี ไทยจะมีกฎหมายทดลองใช้ หลังให้ประเทศอื่นแซงไปหลายโค้ง ปธ.กก.สัตว์ทดลองแห่งชาติเผย หากไทยไม่มีมาตรฐานสัตว์ทดลอง อนาคตหมดโอกาสเป็นแหล่งผลิตยาของโลก แต่เป็นแหล่งกบดานของอาชญากรงานวิจัย

สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติ (วช.) แถลงข่าวการจัดสัมมนาประชาพิจารณ์และร่วมร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.52 ที่ผ่านมา โดยมี ดร.ประดน จาติกวนิช ประธานคณะกรรมแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ วช. และ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะทำงานร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ร่วมให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์

ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้มีการสัมมนาประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. เรื่องนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหลายร้อยคน และได้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการประชาพิจารณ์ที่ผ่านมายังไม่มีความครบถ้วนและรอบด้านเพียงพอที่จะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้

ดังนั้น จึงได้จัดการสัมมนาประชาพิจารณ์ขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อออกเป็นกฎหมายของประเทศต่อไป

หลังจากการสัมมนาประชาพิจารณ์ คณะทำงานฯ จะประมวลความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อนำไปปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองฯ แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง ซึ่งหากคณะกรรมการพิจารณาและเห็นชอบ ก็จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและประกาศให้เป็นกฎหมายต่อไป โดยคณะทำงานฯ คาดหวังว่าจะได้เวลาประมาณ 1-2 ปี ประเทศไทยจะมีกฎหมายสำหรับการใช้สัตว์ทดลองเป็นของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ดร.เจษฎ์ บอกว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือรองรับการทำงานที่เกี่ยวกับสัตว์ทดลองให้เป็นไปตามมาตรฐาน แต่สิ่งสำคัญมากกว่าคือความเข้าใจในการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์

สำหรับหัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ. การเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองฯ ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น สถานที่เลี้ยง สถานที่ใช้สัตว์ทดลอง การให้ใบอนุญาต, ให้มีคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนาการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์, ให้มีคณะกรรมการกลางเพื่อกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และให้มีสำนักงานพัฒนาการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์

ด้าน ดร.ประดน กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยยังมีปัญหาจากการนำสัตว์มาใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์ ทั้งปัญหาด้านจริยธรรมในการใช้สัตว์ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านการผลิตสัตว์ทดลอง ตลอดจนปัญผลงานวิจัยที่ออกมาไม่ได้คุณภาพ รวมไปถึงปัญหาการค้าระหว่างประเทศ

ที่ผ่านมามีนักวิจัยบางกลุ่มคัดค้านและเข้าใจว่าหากมี พ.ร.บ. สัตว์ทดลอง บังคับใช้ในประเทศไทย จะทำให้เกิดความไม่อิสระในการทำงานวิจัย เพราะมีกฎหมายเป็นเครื่องบีบบังคับ แต่ที่จริงแล้ว พ.ร.บ.สัตว์ทดลองจะทำให้ผลงานวิจัยที่ออกมามีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ทำให้เสียงบประมาณการวิจัยไปโดยสูญเปล่า อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคและสารพิษจากสัตว์ทดลอง

"การใช้สัตว์ทดลองในงานทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญมาก หากไม่มีกฎระเบียบจัดการเรื่องนี้ จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนและประเทศชาติ ต่างชาติอาจใช้เป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันทางการค้ากับประเทศไทยได้ หรือกรณีที่มีข่าวว่านักวิจัยเกาหลีที่ทำผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีและหนีเข้ามาทำวิจัยในประเทศไทยเพราะไม่มีกฎหมายควบคุม จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมาก" ดร.ประดน กล่าว ซึ่งขณะนี้หลายประเทศในเอเชียมีกฎหมายเกี่ยวกับการใช้สัตว์ทดลองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเลเซีย

ดร.ประดน ยังกล่าวอีกว่า หากประเทศไทยมีกฎหมายการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองฯ จะก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากร งานวิจัย ประเทศมีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ เป็นแหล่งผลิตและให้บริการสัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐานสากล ผู้ใช้สัตว์ปฏิบัติงานได้เต็มความสามารถภายใต้กฎหมายและจรรยาบรรณการใช้สัตว์ ประชาชนได้ใช้ยาและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง ประเทศไทยจะมีความพร้อมต่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและสามารถจัดการกับปัญหาได้รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์

"เราผ่านเหตุการณ์โรคซาร์สและไข้หวัดนกมาแล้ว ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ขณะนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะผลิตวัคซีนใช้เองด้วย แต่ขณะนี้ก็ยังไม่สำเร็จ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากสัตว์ทดลอง อีกทั้งในอนาคตประเทศไทยจะหันมาเป็นผู้ผลิตยาทั้งดำเนินการเองและบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่หากผลิตแล้วไม่มีใครใช้ เพราะไทยไม่มีกฎหมายและมาตรฐานของสัตว์ทดลอง ประเทศไทยก็หมดอนาคตที่จะก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตยา" ดร.ประดน กล่าว

พร้อมกันนี้ยังได้เชิญชวนให้ประชาชนและผู้สนใจทุกสาขาอาชีพ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองโดยตรง เข้าร่วมการสัมมนาประชาพิจารณ์และร่วมร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 52 ตั้งแต่เวลา 8.00-16.30 น. ณ หอประชุมสหประชาชาติ อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบตอบรับเข้าร่วมการสัมมนาฯ ได้ที่ www.labanimals.net และแจ้งตอบรับเข้าร่วมการสัมมนาฯ ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ต.ค. 52 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-579-8751.
ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก
สื่อมวลชนเข้าร่วมการแถลงข่าวการจัดสัมมนาประชาพิจารณ์และร่วมร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น