นายกฯ อัดกลับ “เพื่อไทย” ไม่จริงใจแก้ไขร่าง รธน. เป็นต้นเหตุทำให้เสียโอกาสในการสมานฉันท์ ยอมรับการแก้ไขร่าง รธน.เป็นเรื่องยาก แต่วิปทั้ง 3 ฝ่ายต้องยอมเสียสละหากมีความจริงใจตามข้อเรียกร้อง ชักฉุนหากแก้ รธน.แล้วจะเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งก็ไม่แก้ให้เสียเวลา
วันนี้ (8 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยประกาศถอนตัวไม่ขอร่วมในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คณะกรรมการประสานงานทั้งในส่วนของวิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภาจะได้คุยกัน ตนถือว่าความจริงได้ตกลงกันหมดแล้ว ที่จริงตั้งแต่ต้น เราก็รู้ว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทางฝ่ายรัฐบาลเอง โดยเฉพาะถ้าในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น จริงๆ แล้วเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเราก็ไม่ได้สนับสนุน แต่เราเห็นว่าเมื่อเป็นประเด็นขึ้นมาก็ได้ให้คณะกรรมการประสานงานที่มีจากทุกฝ่ายมาหาข้อสรุป ก็มีการสรุปมา 6 ประเด็น แม้เราจะไม่เห็นด้วยแต่เราก็คิดว่าต้องเดินเพื่อสมานฉันท์ เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนยึดแต่เพียงว่าตัวเองต้องการอะไรมันก็เดินหน้าไม่ได้ วันนี้ในส่วนตนและพรรคประชาธิปัตย์ก็ถือว่าถอยมาแล้วและก็มีกรอบชัดเจน ตกลงกันชัดเจนก็อยากให้เดินต่อ ดังนั้นจึงอยากให้เขาไปทบทวนและวิปก็ต้องมาประชุมกันและคงจะรายงานให้ตนทราบ ในวันนี้อีกทีหนึ่งว่าจะเดินต่ออย่างไร เพราะในวันนั้นก็ตกลงกันทุกอย่างเป็นอย่างดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านบอกเหตุผลที่ถอนตัวเพราะเห็นว่ารัฐบาลเล่นเกมและเสียดายงบประมาณ 2 พันล้านบาท ในการทำประชามติ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า น่าจะเสียดายโอกาสของประเทศมากกว่า ถ้าหากไม่หาทางออกร่วมกัน ซึ่งจะแพงกว่า 2 พันล้านบาทแน่นอน เพราะความจริงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราทำมาถึงขั้นนี้ได้ก็อาศัยจากทุกฝ่ายจริงๆ กรรมการสมานฉันท์ก็มีฝ่ายค้านร่วมอยู่และก็มีข้อสรุปออกมา เราก็พยายามมาดูแลบริหารจัดการว่า ทำอย่างไรให้เกิดความขัดแย้งข้างนอก ก็มาได้ข้อสรุปในการทำประชามติทุกอย่างตนเห็นว่า เป็นรูปแบบที่ดีที่สุด
“ต้องตั้งคำถามว่าถ้าบอกว่าสิ่งที่เห็นตรงนี้ไม่จริงใจ แล้ววิธีไหนที่ได้แสดงออกถึงความจริงใจในการที่จะสมานฉันท์และเดินหน้าไปด้วยกัน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่าเหตุผลในการแก้รัฐธรรมนูญ ก็เพื่อความสมานฉันท์แต่ตอนนี้มันจะกลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ที่จะเดินหน้าต่อไป นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “ถ้าเป็นชนวนความขัดแย้งก็ไม่แก้ครับ” เมื่อถามว่า กกต.บอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ได้ส่งตัวแทนไปหาข้อสรุปมาเอง ถามว่าพรรครัฐบาลเห็นด้วยกับข้อสรุปทั้งหมดหรือไม่คำตอบก็คือไม่ ซึ่งก็เช่นเดียวกับฝ่ายค้านและฝ่ายวุฒิสภา ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อสรุปทั้งหมด มันเป็นข้อตกลงร่วมกัน การที่จะสมานฉันท์ได้ทุกฝ่ายก็ต้องยอมในบางประเด็นบ้าง แต่ถ้าทุกคนยืนอยู่ที่เดิมทั้งหมด มันก็เดินไม่ได้ ดังนั้นถ้าบอกว่าแก้แล้วจะเกิดความขัดแย้งก็ไม่ต้องแก้
“แต่ผมยังยืนยันว่าโอกาสในการที่จะแก้ตรงนี้ทำมาได้ดีที่สุดแล้ว ก็อยู่ที่ว่าพรรคเพื่อไทยต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญจริงหรือเปล่า หรือเพียงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วก็เป็นปมความขัดแย้งไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง” นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ก็คัดค้านไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯนั้นตนเห็นว่า ถ้าในที่สุดมีการทำประชามติทุกคนก็ต้องเคารพ เมื่อถามว่าการทำประชามติ ในข้อกฎหมายก็ยังมีปัญหา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ตนเป็นคนถามทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเอง เมื่อถามย้ำว่าเรื่องการทำประชามติกฤษฎีกาเสนอความเห็นมาแล้วว่า ทำหลังรับหลักการแล้วไม่ได้ จะเป็นการขัดรัฐธรรรมนูญ นายกฯ กล่าวว่า ความเห็นไม่ได้ชัดขนาดนั้น เพียงแต่บอกว่าบังเอิญในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ถ้ารับหลักการไปแล้วต้องถือว่า ร่างอยู่ในการพิจารณาของสภา และในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ว่าให้สภา ไปทำในลักษณะการประชาพิจารณ์ เพราะฉะนั้นมันก็จะมีปัญหานิดหน่อยว่าจะโยนกลับมาให้ฝ่ายบริหารทำประชามติจะเป็นปัญหาหรือไม่ แต่สิ่งที่พูดคุยกันไว้ คือ ถ้าจะทำก่อนยกร่างก็ทำ เพียงแต่ต้องยกร่างให้เสร็จเรียบร้อยเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่ายังมีข้อถกเถียงกันในเรื่องการทำประชามติว่าควรต้องก่อนหรือหลังยกร่างเพราะ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มันทำได้หลายช่วง แต่วิธีคือต้องเลือกทำตามช่องทางของกฎหมายที่ไม่ให้มีปัญหา ไปขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายซึ่งก็ทำได้อยู่แล้ว และแม้เราจะไม่สามารถทำการประชามติ ให้มีผลผูกมัดทางกฎหมายได้ เราก็ต้องให้นักการเมืองฟังประชาชนและอย่าฝืนประชาชน อีกทั้งประชาชนก็ต้องจับตาดูว่านักการเมืองจะไปฝืนมติประชาชนหรือไม่
ถามว่าอาจกลายเป็นว่าเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยากให้ทำประชามติก่อนแก้รัฐ ธรรมนูญหรือไม่ นายกฯ หัวเราะพร้อมกล่าวว่า มันไม่ได้เข้าทางใคร เพียงแต่เราพยายามหาคำตอบให้ได้ว่าทำอย่างไร การแก้ไขรัฐธรรมนูญตอบโจทก์ใน เรื่องของความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นหลักที่ตั้งไว้คือทุกพรรคทำด้วยกัน ประชาชนเห็นชอบเท่านั้น
เมื่อถามว่าหากการแก้รัฐธรรมนูญสะดุดจะเกิดอะไรตามมา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มันก็เป็นการเสียโอกาสในการที่จะหาทางออกทางหนึ่ง ซึ่งตนคิดว่าถ้าเป็นทางออกตามที่ได้ตกลงกันในวันศุกร์ที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นทางออกที่ต่างประเทศมองเข้ามา ก็จะเห็นว่าประเทศไทยมีกระบวนการ ประชาธิปไตยที่แก้ไขปัญหาได้ ก็เสียโอกาสตรงนี้ไป ก็ต้องไปทำงานในเรื่องอื่นซึ่งก็ต้องมาตั้งต้นกันใหม่
“ก็ต้องตั้งคำถามว่าในเมื่อมาพูดคุยกันอย่างเรียบร้อยแล้ว เหตุใดจึงจะไม่มีการดำเนินการตามที่ได้พูดคุยกันไว้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่าเป็นเพราะมีสัญญาณที่ส่งมาจากต่างประเทศหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “อ๋อ...สัญญาณนั้นมันมีข่าวมาตลอดเวลาอยู่แล้ว อาจจะเป็นเพราะว่าการแก้ตรงนี้ไม่ได้ไปตอบโจทก์ตัวบุคคลที่อยู่ต่างประเทศก็เลยล้มไป ซึ่งวันนี้ก็เป็นหน้าที่ของวิปที่จะต้องคุยกัน เพราะข้อสรุปที่ทำกันมารวมทั้งที่จะมีการยกร่างต่างๆ เราใช้กลไกของวิปซึ่งมีทุกฝ่ายร่วมกัน เพราะฉะนั้นวิปก็ต้องไปคุยกันอีกทีว่าทางพรรคเพื่อไทยในวิปยังยืนยันในสิ่ง ที่มาตกลงกันไว้ก็ต้องกลับไปทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรค ถ้าวันนี้วิปฝ่ายค้านมาบอกว่าไม่เอาแล้ว เขาก็จะรายงานมาที่ผมๆ ก็จะคุยกับประธานสภาอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร”
ถามว่าทางออกที่จะไปคุยกับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา เพื่อเดินหน้าต่อไปจะทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนก็จะไปปรึกษากันอีกครั้ง อย่างไรก็ตามวันนี้มันก็เดินไม่ได้หรอก เพราะตนบอกมาตั้งแต่ต้นว่า ถ้าจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยทุกพรรคไม่เห็นพ้องต้องกัน และโดยไม่มีฉันทามติ หรือได้รับความเห็นชอบจากประชาชนก็ไม่ควรทำ เมื่อถามว่าแสดงว่าทุกอย่างย้อนกลับมาเป็นศูนย์อีกครั้ง นายกฯ กล่าวว่า ก็อยู่ที่วิปจะหารือกันในวันเดียวกันนี้ เพราะตัวแทนของฝ่ายค้าน ที่อยู่ในวิปก็ต้องมาอธิบายว่า จากวันที่ 2 ต.ค.จนถึงวันนี้มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เมื่อถามย้ำว่าถ้าเป็นเช่นนี้บ้านเมือง ก็ยังคงจะวุ่นวายต่อไปใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทางพรรคเพื่อไทย ต้องตอบว่าทำไมเมื่อได้แนวทางซึ่งน่าจะเดินได้แล้วไม่ทำ แต่รัฐบาลก็มีหน้าที่หาคำตอบให้กับสังคม ไม่ได้หาคำตอบให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ถามว่าปัญหาวันนี้คือพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย พรรคร่วมรัฐบาลตกลงกันไม่ได้และกลุ่มพันธมิตรฯออกมาต่อต้าน ปัจจัยเหล่านี้ถือว่าเป็นอุปสรรคในการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ความจริงแล้วในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะมันสำคัญที่หลักว่า ใช้กรอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ บวกกับประชามติ ซึ่งเห็นตรงกันแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องเทคนิคซึ่งแก้ได้อยู่แล้ว ในส่วนของพันธมิตรฯ นั้นตนก็ยังมั่นใจว่าเขาอาจจะแสดงออกในการคัดค้าน เราก็เปิดโอกาสให้เขาไปคัดค้านได้ในช่วงประชามติ แต่เมื่อประชาชนลงคะแนนแล้ว ตนก็เชื่อว่าเขาก็เคารพ ก็เหลือเรื่องพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว