xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ยอมแก้ รธน.6 ประเด็น แต่ยันทำประชามติให้สิทธิ ปชช.ตัดสินด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นายกฯอภิสิทธิ์ เผยผลหารือวิป 3 ฝ่าย ยอมอ่อนข้อให้สภายกร่างเเก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น แต่ต้องทำประชามติให้สิทธิประชาชนลงความเห็นเอาด้วยหรือไม่ ส่วนทำประชามติก่อนหรือหลังแก้ไข ต้องหารืออีกครั้ง ลั่นยุบสภาจะทำเมื่อพร้อม



วันนี้ (2 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.45 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือร่วมกับวิป 3 ฝ่าย เพื่อหาความชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ขั้นตอนต่อไป คือ ทางฝ่ายสภาจะเป็นผู้ไปยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยจะยึด 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ควรจะให้ประชาชน เป็นผู้บอกว่าควรจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขอย่างไร เพราะฉะนั้นแม้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นสมาชิกรัฐสภาตามมาตรา 291 แต่ก็จะมีการจัดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนสามารถลงความเห็นว่าสมควรหรือไม่ในการแก้ไข 6 ประเด็น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนขั้นตอนการจัดทำประชามติจะทำช่วงไหนก็จะให้วิป 3 ฝ่าย ไปพิจารณาอีกครั้ง โดยให้คำนึงถึงความสอดคล้องขั้นตอนต่างๆในกฎหมาย เพราะในแต่ละขั้นตอนจะมีประเด็นข้อกฎหมายแตกต่างกัน นอกจากนี้ ตัวประชามติยังต้องชัดเจนในสิ่งที่อยากเสนอต่อประชาชน ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาภายหลัง ว่า สิ่งที่ไปลงประชามติกับสิ่งที่จะแก้ไขตรงกันหรือไม่ ที่สำคัญ ยังต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้นำเสนอ ข้อมูลทั้งสองด้านอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมายประชามติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์บอกช่วงเวลาทำประชามติให้นายกฯตัดสินใจว่าจะทำก่อนหรือหลัง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆ ก็ต้องช่วยกันดู แต่ตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่ารัฐบาลต้องเป็นผู้จัดทำประชามติ ซึ่งตนก็บอกว่า เนื่องจากความเห็นยังหลากหลายอยู่ เพราะการทำแต่ละขั้นตอนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เช่น 1.ถ้าทำก่อนรับหลักการ ก็มีบางฝ่ายกังวลว่าเมื่อเสร็จแล้วแม้จะได้ความชัดแจนแต่อาจมีการแปรญัตติภายหลังจะเป็นปัญหาหรือไม่ 2.ถ้าทำหลังรับหลักการ ก็จะไม่สอดคล้องกับขั้นตอนม.291ที่บอกว่าสภาต้องเป็นผู้ทำประชาพิจารณ์ ต่างกับประชามติที่รัฐบาลเป็นผู้จัดทำ ก็มีข้อสงสัยว่าอาจมีปัญหาหรือไม่ 3.ถ้าทำหลังยกร่างเสร็จแล้วในทางเทคนิคก็อาจทำได้ แต่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกันอาจมีประเด็นโต้แย้งทางกฎหมาย

“ส่วนตัวเห็นว่า ทำช่วงไหนก็ไม่ ไม่มีปัญหา แค่ให้สอดคล้องกับกฎหมายและเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นใช้ได้ และผมยังมั่นใจว่าผู้แทนปวงชนชาวไทยก็น่าจะปฏิบัติตามเจตนารมณ์ที่สะท้อนออก มาผ่านทางการทำประชามติ โดยกรอบเวลาที่วิปประเมินมาน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 9 เดือน แบ่งเป็นประชามติ 3 เดือน ขั้นตอนในสภา 3 เดือน และกฎหมายลูก 3 เดือน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จต้องยุบสภาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันไม่มีคำว่าต้องทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ต้องดูผลของการประชามติและการแก้รัฐธรรมนูญก่อน ไปพูดอะไรล่วงหน้าคงไม่ได้ แต่อะไรเหมาะสมตนก็ทำอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา ส่วนจะตั้งเป็นคำถามสำหรับการประชามติด้วยหรือไม่ ว่า หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ ควรจะยุบสภาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่ตัวร่าง ตนไม่ใช่คนร่างเพราะสภาเป็นฝ่ายร่าง พอร่างออกมาแล้วประชาชนจะเห็นร่าง ระหว่างการทำประชามติก็จะมีคนอธิบายอยู่แล้วว่า เมื่อแก้อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร

เมื่อถามถึงเงื่อนไข 3 ข้อ ที่เคยพูดไว้ว่าหากทำสำเร็จจะยุบสภา ทั้งแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ บรรยากาศทางการเมืองดี และรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ผมก็มั่นใจว่าเวลา 9 เดือนจากนี้ในช่วงกลางปี 2553 เศรษฐกิจ น่าจะเข้มแข็งพอสมควร มีรากฐานที่ดีแล้ว รัฐธรรมนูญถ้าแก้เสร็จแล้วก็เป็นเงื่อนไขที่ยอมรับ ก็อยู่ที่บรรยากาศทางการเมืองอย่างเดียว ซึ่งบรรยากาศจะเหมาะสมก็อยู่ที่ผู้เคลื่อนไหว ว่า ยังเคลื่อนไหวหวังให้เกิดความรุนแรงอยู่หรือไม่”

เมื่อถามว่า มีการวิเคราะห์กันว่าการแก้ไขจะเป็นการเพิ่มปมความขัดแย้งแล้วกลุ่มคนเสื้อ เหลืองจะอ้างเป็นเหตุมาชุมนุมอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า การที่เราได้ตกลงกันในหมู่นักการเมืองว่าจะกลับไปถามประชาชน น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ เพราะหากประชาชนไม่เห็นด้วยก็จะลงประชามติว่าไม่ควรแก้ไข ดังนั้น น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย ตนเชื่อว่าหากเดินตามแนวทางนี้ได้ปัญหาก็จะคลี่คลาย ที่สำคัญ จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ที่เจอกับปัญหาในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ที่ชาวต่างประเทศมองเข้ามาแล้วเห็นว่าระบบของเราจัดการกันเองไม่ได้ มีการุชุมนุมประท้วง ความรุนแรง การรัฐประหารมากมาย แต่วันนี้เรากำลังให้ประชาชนลงประชามติซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญของประชาชน มาหาคำตอบ มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่า คนเสื้อแดงเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้ได้ใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติและมีสภาที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งมีผู้แทนปวงชนชาวไทยที่เห็นพ้องในบางประเด็นก็เดินหน้าอยู่ รัฐธรรมนูญ 2540 มี อะไรดีๆ เยอะแต่ก็มีช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาและทุกพรรคยอมรับแล้วว่ามี ปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการแก้เรื่องอื่นๆ อีก ในอนาคตหากคิดว่าเหมาะสม รายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ระบุถึงเรื่องในอนาคตว่าวันข้างหน้าควรจะมี การทำงานขององค์กรที่พัฒนาทางการเมือง อาจมีเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาดูในภาพรวมทั้งหมด แต่ต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ตนคิดว่า ใครที่คิดว่ารัฐธรรมนูญ2540 หรือรัฐธรรมนูญ 2550 ดี ทั้งหมดคงไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง ของที่คิดว่าดีที่สุดก็น่าจะผสมผสานกันอยู่แล้วและยังมีข้อถกเถียงแต่หก ประเด็นที่ตกลงกันแล้วนั้นต้องเดินก่อน หากไปตั้งเรื่องอื่นขึ้นมาจะยืดเยื้อและไม่จบ

เมื่อถามว่า คนเสื้อแดงประกาศชุมนุมนั้น สะท้อนว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่อาจแก้ปัญหาและหยุดการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ได้ นายกฯกล่าวว่า ตนคิดว่า ฝ่ายต่างๆ ต้องชัดเจนว่าตอนนี้ฝ่ายการเมืองได้มีข้อตกลงแบบนี้และต้องไปสอบถามประชาชนด้วย มันเป็นเรื่องที่น่าจะยอมรับกันได้ของ ทุกฝ่ายแต่การที่ใครจะเสนออะไรเพิ่มเติมก็ทำได้และน่าจะทำงานในระบบกันได้

นายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ภายหลังถึงเงื่อนไขการยุบสภา ว่า หากทุกอย่างเรียบร้อย เศรษฐกิจดี รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ จะให้ยุบสภาก็เอา แต่ถ้าคนเสื้อแดงยังชุมนุมอยู่จะไปยุบสภาได้อย่างไร เมื่อถามว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ผมมีสิทธิอยู่จนถึง 3 ปี ถ้าจะซื้อเวลาจะไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญทำไม” เมื่อถามย้ำว่าเป็นเพราะกลัวแพ้การเลือกตั้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่กลัว คนที่กลัวคือคนที่ขัดขวางการหาเสียงต่างหาก

ขณะที่ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีการที่รัฐบาลอาจจะจัดทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะเสนอแยกเป็น 6ประเด็น 6ร่าง หรือแก้ไข 6 ประเด็น รวมเป็นร่างเดียว ว่า การจะใช้แบบใดขึ้นอยู่ที่ผู้ที่มีอำนาจจะพิจารณา ซึ่งการสอบถามประชาชนสามารถทำได้หลายรูปแบบ และเชื่อว่าประชาชนไม่น่าจะสับสนในเนื้อหาและวิธีการที่จะทำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ อย่างไรก็ตามในการดำเนินการคงต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณในการจัดทำด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ต่างก็ใช้งบประมาณสูงทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามการเลือกทำประชามติถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน ซึ่งถ้าทำไปแล้วมีผลออกมาอย่างไรทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น