xs
xsm
sm
md
lg

วิป 3 ฝ่ายโยน “มาร์ค” ชี้ทำประชามติก่อน-หลังแก้ รธน.6 ประเด็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายโยนให้เป็นอำนาจนายกฯ พิจารณาทำประชามติก่อน-หลัง แก้รัฐธรรมนูญ ระบุนายกฯ ให้เวลาทำประชามติ 90 วัน รอ 1 เดือนศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา “กฎหมายประชามติ” เชื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันให้ปชช.มีส่วนร่วม



วันนี้ (2 ต.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการการหารือประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลว่า ทุกฝ่ายเห็นด้วยในข้อเสนอที่วิปทั้ง 3 ฝ่ายหารือไว้เบื้องต้น คือ ยอมรับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ทั้ง 6 ประเด็น และเสนอต่อประธานสภา เพื่อให้ 2 สภาร่วมกันยกร่างประเด็นดังกล่าว และจะให้ ส.ส. และส.ว.ร่วมลงชื่อในการยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น ทุกฝ่ายเห็นด้วยให้มีการทำประชามติ ซึ่งจะทำก่อนหรือหลังนั้นจะให้นายกฯ เป็นผู้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เมื่อถามว่าจะตกลงทำความเข้าใจอย่างไรให้ทำประชามติก่อนหรือหลังการแก้รัฐธรรมนูญ นายชินวรณ์กล่าวว่า มีการกำหนดการดำเนินการอยู่แล้ว รัฐบาลต้องมีข้อมูลให้ประชาชนอย่างเพียงพอ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้มอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการในการออกเสียงประชามติ

เมื่อถามว่า ฝ่ายกฎหมายในการยกร่างพิจารณาอย่างไร นายชินวรณ์กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าเมื่อวิปทั้ง 3 ฝ่ายได้ข้อยุติแล้ว นายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ต้องมอบหมายให้นักกฎหมายทั้ง 2 ฝ่ายยกร่าง และนำมาหารือในที่ประชุม 3 ฝ่ายอีกครั้งหนึ่ง เป็นช่วงที่ต้องรอกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายประชามติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นของการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน

เมื่อถามว่า กำหนดกรอบให้ฝ่ายกฎหมายของ 2 สภายกร่างฯ กี่วัน นายชินวรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทางประธานสภาต้องดำเนินการต่อไป เข้าใจว่ายังพอมีเวลาอยู่ เพราะต้องรอให้มีกฎหมายการลงประชามติ ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนนั้น คาดว่าภายในระยะเวลา 1 เดือนกฎหมายการลงประชามติจะบังคับใช้ได้

เมื่อถามว่า ในกรณีที่กลุ่ม 40 ส.ว.ไม่ยอมรับร่างฯจะต้องทำความเข้าใจเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า เท่าที่ฟังดูเขาก็ยอมรับในกระบวนการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกเสียงประชามติ ส่วนความคิดเห็นในประเด็นรายละเอียดแต่ละฝ่าย คิดว่าจะต้องเป็นการแสวงหาความร่วมมือต่อไป เมื่อถามว่าทั้ง 6 ประเด็นจะต้องทำความเข้าใจอย่างไรที่ถูกมองว่าเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง นายชินวรณ์กล่าวว่า ต้องแสวงหาความเห็นพ้องต้องกัน ทั้งนี้ไม่ควรเกินกรอบเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 120 วัน

เมื่อถามว่า การที่นายกฯ ออกมาระบุว่าไม่ควรจะเกิน 9 เดือน วันนี้ที่ประชุมหาข้อสรุปหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า วันนี้นายกฯพูดถึงการทำประชามติว่า ควรจะดำเนินให้เสร็จภายใน 90 วันด้วยซ้ำไป ขณะนี้ยังกำหนดเวลาไม่ได้ เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตจากประธานวุฒิสภาให้ทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าทำประชามติภายหลัง แก้ตามมาตรา 291 จะทำให้ไม่มีความหมาย นายชินวรณ์กล่าวว่า ก็ต้องดูให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามที่ได้ข้อสรุปไว้แล้ว ซึ่งนายกฯผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ โดยตรงจะต้องทำให้เป็นไปตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า ส่วนตัวมองว่าความเหมาะสมควรจะทำก่อนหรือหลัง นายชินวรณ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับนายกฯ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องเริ่มจากการประชุมวิป 3 ฝ่ายยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณาเห็นประเด็นชัดเจน ถ้ามีการจัดทำประชามติ ก็ให้ฝ่ายที่ดำเนินการนำประเด็นที่จะแก้ไขไปสร้างความชัดเจนได้ ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดได้ เพราะว่าต้องให้ผ่านการยกร่างมาก่อน แม้ว่าจะมีทั้งหมด 6 ประเด็นจริง แต่ก็ยังมีมาตราที่เกี่ยวข้องถึง 23 มาตรา ต้องรอในขั้นตอนนั้น

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวลือว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จจะมีการยุบสภา ได้ยินกระแสข่าวดังกล่าวหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ไม่มีการหารือกัน วันนี้ทุกฝ่ายเห็นด้วยทั้ง 6 ข้อ ทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าจะต้องทำประชามติ ส่วนจะทำก่อนหลังอย่างไรให้นายกฯเป็นผู้พิจารณาตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เป็นการของรัฐสภามีหน้าที่เสนอกฎหมายโดยตรงรับฟังความเห็นของประชาชน ฉะนั้น ตรงนี้ ครม.ที่ต้องให้ความเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาด้วย และนายกฯ จะต้องหารือกับประธานทั้ง 2 ฝ่ายจึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ


กำลังโหลดความคิดเห็น