“โฆษกมาร์ค” ย้ำเจตนารมณ์นายกฯ มีสิทธิเสนอทำประชามติก่อนแก้ รธน. และถือเป็นทางออกที่สดีที่สุด สอนมวยเพื่อไทย รธน.ไม่เปิดช่องให้ถอดถอนเพราะไม่ขัดแย้งกับ รธน. ชี้กำหนดกรอบแก้ รธน.ไม่ตายตัว ไม่เห็นด้วยประชาพิจารณ์ อาจมีข้อโต้แย้งไม่มีบทสรุป
วันนี้ (29 ก.ย.) นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า ควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และสามารถอธิบายต่อทุกฝ่ายได้ คือ การทำประชามติ แต่การที่นายวิทยา บุรณะศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะพาดพิงนายกฯ ว่า การออกมาแสดงความเห็นให้มีการทำประชามติเป็นการชี้นำทางการเมืองนั้น ตนขอเรียนว่านายกฯ ไม่ได้ชี้นำทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ต้องการแสดงจุดยืนให้สังคมเห็นว่า ความเห็นของนายกฯ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ดังนั้น ถ้าคนส่วนใหญ่จะเห็นแตกต่างจากนายกฯ ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ท่าทีในฐานะผู้นำประเทศต้องชัดเจน มีจุดยืน ซึ่งนายกฯ ก็ไม่ได้ผูกขาดหรือปิดกั้นไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ คนที่เห็นแตกต่างกันนายกฯ อย่างไรก็ตาม
“ผมเห็นว่าการทำประชามติน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนยอมรับได้ วันนี้ถ้าใครขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ และหากจะรวบรัดการแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน หรือไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็เป็นความคิดที่สุดขั้วเกินไป”
นายเทพไทกล่าวว่า ส่วนกรณีที่ประธานวิปฝ่ายค้าน เรื่องเงื่อนเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมองว่าเมื่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ระบุว่าจะใช้เวลา 6 เดือน แต่นายกฯ บอกว่าจะใช้เวลาภายใน 9 เดือนนั้น เงื่อนเวลาไม่ใช่เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญที่ตายตัว แต่น่าจะเป็นระยะเวลาคร่าวๆ เพื่อที่จะทำให้ทุกคนในสังคมคาดคะเนได้ว่าระยะเวลาการแก้รัฐธรรมนูญจะอยู่ในช่วงเวลาใด ซึ่งอาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่า 9 เดือน ก็สามารถยืดหยุ่นได้ หากการแก้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับและสัมฤทธิ์ผลตามที่สังคมต้องการ
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกมาระบุในลักษณะที่ว่า การทำประชามติอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจะมีการถอดถอนนายกฯ นั้น นายเทพไทกล่าวว่า ความจริงแล้วยังไม่มีกฎหมายมาตราใดที่จะถอดถอนนายกฯ ได้ เพราะเรื่องการทำประชามติเป็นเรื่องที่อยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่าเรื่องใดที่อาจจะกระทบต่อผลประโยชน์ได้เสียของประเทศและประชาชน นายกฯ โดยความเห็นชอบของ ครม. ก็อาจจะปรึกษาสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการออกเสียงประชามติได้ แต่เข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยคงจะไปดูในวรรค 3 ที่บอกว่า การทำประชามติออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการที่จัดให้ออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคลจะกระทำไม่ได้ แต่ตนขอเรียนว่าเรื่องการออกเสียงประชามติ ไม่ใช่เป็นเรื่องความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือต่อบุคคล แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องการฟังความเห็นของประชาชนว่า เป็นไปในแนวทางใด
ส่วนการที่จะแสดงความคิดเห็นว่า การทำประชามติจะทำให้สิ้นเปลือง น่าจะมีช่องทางอื่น โดยพรรคเพื่อไทยได้เสนอ ให้มีการโหวตความคิดเห็นผ่านทางโทรทัศน์ หรือการแสดงความเห็นผ่านสมัชชาประชาชนนั้น โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นแนวทางรับฟังความคิดเห็นแบบคร่าวๆ ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติและข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่าประชาชนต้องการอะไร และวิธีการรับฟังความเห็นในลักษณะดังกล่าว เป็นการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งอาจมีข้อโต้แย้งจากบางฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่า คำตอบที่ดีที่สุดและตรงที่สุดคือ การทำประชามติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่ม 40 ส.ว.เป็นห่วงว่าการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจทำให้สังคมแตกแยกอีกครั้งหนึ่ง นายเทพไท กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังความเห็นของประชาชนก็อาจจะเป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้งได้ แต่วันนี้หากมีการทำประชามติและยึดผลจากการทำประชามติมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าคนในสังคมยอมรับได้ ดังนั้น จึงไม่น่าจะเกิดความแตกแยก เพราะการทำประชามติสามารถป้องกันความแตกแยก ที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้ เมื่อถามว่า มีการมองว่า 6 ประเด็นที่กำลังจะแก้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง เช่น มาตรา 237 นายเทพไทกล่าวว่า หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า 6 ประเด็นที่เสนอแก้เป็นประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง ประชาชนก็มีสิทธิลงประชามติไม่เห็นด้วย เมื่อเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น เรื่องดังกล่าวก็ตกไป และหากเห็นด้วยในประเด็นใด ก็แก้ไขในประเด็นนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่จะรับฟังความเห็นจากประชาชนโดยตรง