xs
xsm
sm
md
lg

ประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สัตว์ทดลองให้เพิ่มโทษคุก 3 ปี หากดัดแปลงสัตว์โดยไม่ขอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก
ประชาพิจารณ์ร่วมร่างกฎหมายสัตว์ทดลองเข้มข้น ตลอด 3 วัน มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน จากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ประธานคณะทำงานเผยประสบความสำเร็จตามคาดหมาย ทุกคนร่วมแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติให้ชัดเจนและรัดกุมขึ้น มีมติเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "พ.ร.บ.สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์" พร้อมเพิ่มโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี หากดัดแปลงพันธุกรรมสัตว์โดยไม่ขออนุญาต เตรียมเสนอ ครม. ภายใน 3 เดือน หวังอีก 2 ปี ไทยมีกฎหมายสัตว์ทดลองใช้

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะทำงานร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมมนาประชาพิจารณ์และร่วมร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ... ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย.52 ว่าการสัมมนาประชาพิจารณ์ดังกล่าวประสบความสำเร็จตามคาดหมาย

"ที่จริงเราตั้งใจให้เป็นการสัมมนา เพื่อร่วมร่างกฎหมายมากกว่าที่จะเป็นการประชาพิจารณ์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จตามความคาดหมาย เพราะทุกคนที่เข้าร่วมมีส่วนช่วยกันปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ให้มีความชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้น และมีการเปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ. ด้วย จากเดิมใช้ชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนเป็น ร่าง พ.ร.บ.สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีความกระชับมากขึ้น เพราะในร่าง พ.ร.บ. ได้กล่าวถึงการเลี้ยงและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว" ดร.เจษฎ์ กล่าว

ดร.เจษฎ์ ยกตัวอย่างการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เช่น ปรับปรุงนิยามคำว่าสัตว์ทดลองให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลัง (ยกเว้นมนุษย์) , ตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลัง (ยกเว้นมนุษย์) ที่เกิดจากไข่ผสมกับอสุจิที่มีอายุเกินครึ่งหนึ่งของระยะฟักตัวหรือระยะตั้งครรภ์ และสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการโคลนนิง รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางเพื่อกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ยังได้มีการเพิ่มโทษของผู้กระทำผิด พ.ร.บ.สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ให้หนักขึ้น เช่น ผู้ที่ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี และผู้ที่ทำการดัดแปลงพันธุกรรมสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี ซึ่งคณะทำงานและผู้เข้าร่วมร่าง พ.ร.บ. เห็นว่าการดัดแปลงพันธุกรรมสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงได้ หากสัตว์เหล่านั้นหลุดรอดออกไปสู่ธรรมชาติ ส่วนความผิดนอกเหนือจากนั้นก็จะมีโทษลดลงมาตามความเหมาะสม ซึ่งมีทั้งโทษจำคุกและเสียค่าปรับ ซึ่งโทษขั้นต่ำคือปรับเป็นเงิน 50,000 บาท

ประธานคณะทำงานร่างกฎหมายสัตว์ทดลอง เผยอีกว่า หลังจากนี้จะทำการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ตามข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาประชาพิจารณ์และร่วมร่างกฎหมายฯ และจะนำเสนอต่อ ครม. ให้ได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบของ ครม. และเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมาย คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยประมาณ 2 ปี จึงจะบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ และหลังจากนั้นจะต้องมีการออกกฎหรือหลักเกณฑ์การเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องงานทางวิทยาศาสตร์ และการออกใบอนุญาตแก่ผู้เลี้ยงและผู้ใช้สัตว์ โดยคณะกรรมการกลางเพื่อกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้ที่ไม่ปฎิบัติตามก็จะมีโทษตามกฎหมาย

"เราดำเนินการเรื่องนี้มาประมาณ 4 ปีแล้ว ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็เคยเข้าสู่กฤษฎีกาและถูกตีกลับมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่จากกระบวนการที่เราทำมาก็เชื่อว่าครั้งนี้น่าจะผ่านกฤษฎีกาได้ เพราะถ้าหากไม่ผ่าน ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อไปแล้ว ซึ่งไม่ว่าในอังกฤษหรือสหรัฐฯ เขาก็มีกฎหมายแบบนี้ใช้กันมาเป็นร้อยปีแล้ว ถ้าหากไทยเราไม่ทำ ก็จะมีปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ ผลงานวิจัยของเราก็ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ เช่น การวิจัยเรื่องยา ถ้าหากไม่มีมาตรฐานสัตว์ทดลอง ผลการทดลองที่ได้ก็ไม่มีความแม่นยำ นำไปใช้จริงไม่ได้ และก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองและสูญเสียชีวิตสัตว์ทดลองไปโดยเปล่าประโยชน์" ดร.เจษฎ์ กล่าว

ทั้งนี้ การสัมมนาประชาพิจารณ์และร่วมร่างพระราชบัญญัติการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ... จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 52 ณ อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ, เอกชน, สถาบันวิจัย, สถาบันการศึกษา, องค์กร และสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมพิทักษ์สัตว์, มูลนิธิเพื่อนช้าง รวมทั้งประชาชนที่สนใจเรื่องดังกล่าว รวมแล้วตลอด 3 วันของการสัมมนามีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน
บรรยากาศสัมมนาประชาพิจารณ์และร่วมร่างพระราชบัญญัติการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ... ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย.52
ตลอด 3 วัน มีผู้สนใจเข้าร่วมร่างกฎหมายสัตว์ทดลองกว่า 500 คน ทั้งจากองค์กรภาครัฐ, เอกชน และภาคประชาสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น