xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิเพื่อนช้างฯ เดินหน้าทำขาเทียมให้ “โม่ตาลา” พร้อมเปลี่ยนขาใหม่ “พังโม่ชะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - มูลนิธิเพื่อนช้างร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ เปลี่ยนขาเทียมให้พังโม่ชะ และเดินหน้าทำขาเทียมให้โม่ตาลาหลังพบว่าบาดแผลที่เหยียบกับระเบิดหายสนิทแล้ว

รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งว่า รศ.เทอดชัย ชีวะเกตุ เลขาธิการมูลนิธิขาเทียม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนคริรนทราบรมราชชนนี และคณะทำงานกว่า 10 คน ได้เดินทางมาร่วมทำการแก้ไขขาเทียมให้กับช้างน้อย พังโม่ชะ วัย 3ปี2 เดือน ซึ่งเท้าหน้าขวาเหยียบกับระเบิด ในเขตประเทศพม่า ขณะเดินอยู่กับแม่ เมื่อปี 2549 ที่มูลนิธิเพื่อนช้าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
โดยการแก้ไขในครั้งนี้ได้มีการเพิ่มขนาดของขาเทียมขึ้นจากเดิมเนื่องจากพังโม่ชะ เจริญเติบโตเร็ว ทำให้ขาใหญ่ขึ้นจากเดิม ขนาดของขาเทียมที่โม่ชะ สวมใส่มีความสูง 27.5 นิ้ว เพิ่มเป็น 31 นิ้ว ส่วนความกว้างจากเดิม 31 นิ้ว เพิ่มเป็น 33 นิ้ว โดยมีนายบุญอยู่ ทิพยะ ผู้อำนวยการฝ่ายค้นคว้าวิจัยประดิษฐ์และผลิตฯเป็นผู้ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

ในส่วนของพังโม่ตาลา ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 48 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลช้างของมูลนิธิเพื่อนช้าง เมื่อปี 2542 เนื่องจากเหยียบกับระเบิดในฝั่งประเทศพม่าจนขาหน้าด้านซ้าย กระดูกเท้าแตกละเอียดและเนื้อฉีกขาด อาการสาหัส นอกจากนั้นขาขวา ลำตัว ก็ถูกสะเก็ดระเบิดเป็นแผลด้วย สัตว์แพทย์ใช้วิธีการรักษาแบบแผลเปิด ตัดชิ้นเนื้อที่เน่าทิ้ง ซึ่งใช้เวลารักษายาวนานจนถึงปัจจุบันรวม 10 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2548 ทางมูลนิธิขาเทียมฯได้เข้ามาเตรียมความพร้อมเพื่อใส่ขาเทียมให้กับโม่ตาลา โดยการให้โม่ตาลาสวมถุงผ้าซึ่งทำด้วยผ้าใบ ภายในบรรจุขี้เลื่อย เพื่อให้โม่ตาลามีความคุ้นเคย ก่อนที่จะใส่ขาเทียมหลังจากแผลหายสนิทแล้ว
ล่าสุดในช่วงบ่ายของวันที่ 15 ส.ค.52 ที่ผ่านมา จากการตรวจบาดแผลซึ่งเป็นแผลผ่าตัด พบว่าลักษณะของแผลเท้าหน้าซ้ายมีขนาดแผลกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 3.5 เซนติเมตร มีหนองเล็กน้อย การเจริญขอองเนื้อเยื้อและผิวหนังดี ทางมูลนิธิขาเทียมฯจึงได้เริ่มต้นทำขาเทียมให้โม่ตาลา โดยเริ่มต้นจากการทำ Model ด้วยการหล่อขาข้างซ้าย ก่อน หลังจากนั้นจะใช้พลาสติกแข็งชนิดเดียวกับที่ทำกะบะรถปิกอัพ เป็นวัสดุในการทำขาเทียม ส่วนลักษณะการสวมจะใช้วิธีประกบกับท่อนขาจริงแล้วใช้เข็มขัดล็อกกับขาให้แน่น โดยมีวัสดุนิ่มรองระหว่างผิวหนังที่สร้างใหม่กับขาเทียม โดยใช้ท่อนขาตั้งแต่ข้อลงมาเป็นตัวช่วยรับน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ต้องทดลองให้โม่ตาลาลองสวมใส่และเดินดูว่าจะยอมรับหรือไม่ หากโม่ตาลายอมรับก็จะถือว่าประสบผลสำเร็จ

กำลังโหลดความคิดเห็น