การรักษาทางการแพทย์หลายอย่าง ไม่สามารถกินยาเข้าไปได้ตรง อย่างโรคเบาหวาน มะเร็ง อาการเจ็บเรื้อรัง แต่จำเป็นต้องได้รับยาเป็นช่วงๆ ต่อเนื่องยาวนาน ล่าสุดมีงานวิจัยที่ฝังแหล่งให้ความร้อนลงชิปอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถ "เปิด-ปิด" การปล่อยยาสู่ร่างกายได้ด้วยการกระตุ้นจากอำนาจแม่เหล็ก
งานวิจัยดังกล่าวนำโดย แดเนียล โคเฮน (Daniel Kohane) จากแผนกเยาวชนของโรงพยาบาลบอสตัน (Hospital Boston) สหรัฐฯ ซึ่งไซน์เดลีระบุว่า เขาได้ผสานองค์ความรู้ทางด้านแม่เหล็กเข้ากับนาโนเทคโนโลยี โดยทีมวิจัยได้ผลิตวัสดุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 0.5 นิ้ว ที่มียาบรรจุอย่างมิดชิดในเยื่อเมมเบรน ซึ่งผ่านการจัดโครงสร้างพิเศษ และฝังอนุภาคนาโนซึ่งเป็นสารแม่เหล็กลงไป โดยสารแม่เหล็กดังกล่าวเป็นแร่ธาตุที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็กโดยธรรมชาติ
เมื่อเปิดอำนาจแม่เหล็กนอกร่างกายทำงานใกล้ๆ กับอุปกรณ์ดังกล่าวที่ออกแบบมาพิเศษ อนุภาคนาโนจะร้อนขึ้น ทำให้เจลในเยื่อเมมเบรนที่ห่อหุ้มยาร้อนขึ้นและยุบตัวชั่วคราว ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้เกิดรูที่ปลดปล่อยยาเข้าสู่ร่างกาย เมื่ออำนาจแม่เหล็กถูกปิด เยื่อเมมเบรนจะเย็นลง และเจลจะขยายตัวกลับสู่สภาพเดิม และปิดรูชั่วคราวลง ยุติการนำส่งยา โดยเราไม่จำเป็นต้องฝังอิเล็กทรอนิกส์ในร่างกาย
ทั้งนี้ ทีมโคเฮนกำลังพัฒนาอุปกรณ์นี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในระดับคลีนิค และตีพิมพ์ผลงานลงวารสาร "นาโนเลตเตอร์ส" (Nano Letters)
"อุปกรณ์นี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยหรือแพทย์ของพวกเขา ประเมินได้อย่างแม่นยำว่าเมื่อไหร่ที่ยาจะถูกนำส่ง และนำส่งในปริมาณเท่าไหร่" โคเฮน ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวัสดุชีวภาพและการนำส่งยาในแผนกวิสัญญีวิทยา ของแผนกเยาวชนของโรงพยาบาลบอสตันกล่าว
จากการทดลองในสัตว์พบว่า แผ่นเยื่อเมมเบรนยังคงทำงานแม้จะถูกใช้งานซ้ำๆ หลายรอบ ขนาดการปลดปล่อยยาระหว่างทำให้เกิดอำนาจแม่เหล็กยังคงควบคุมได้ และอัตราการปลดปล่อยยายังสม่ำเสมอ แม้จะผ่านงานการฝังอุปกรณ์นาน 45 วันแล้ว และการทดสอบชี้ว่าใช้เวลาเปิดระบบนำส่งยาเพียง 1-2 นาทีก่อนที่ตัวยาจะถูกปล่อยออกมา และใช้เวลาปิดระบบนำส่งยาประมาณ 5-10 นาที
ทั้งนี้ กลไกของเยื่อเมมเบรนยังคงเสถียรภายใต้การทดสอบแรงดึงและการบีบอัด ซึ่งบ่งชี้ถึงความแข็งแรงของเยื่อเมมเบรนนี้ และยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นพิษต่อเซลล์ และไม่ถูกขับออกจากร่างกายโดยระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ โดยเยื่อเมมเบรนนี้จะทำงานที่ระบบอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิปกติของร่างกาย ดังนั้นจึงไม่เกิดกระทบจากความร้อนในร่างกายของผู้ป่วยหรือเกิดการติดไฟ
อย่างไรก็ดี เรายังตั้งความหวังกับระบบนำส่งยาตัวใหม่นี้ได้ไม่มาก เนื่องจากยังมีข้อจำกัดระบบยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ครอบคลุม อาทิ การเปิด-ปิดเพื่อปลดปล่อยตัวยาซ้ำๆ การนำส่งยาในปริมาณคงที่ และปรับระดับปริมาณยาตามความต้องการของผู้ป่วย.