เพื่อรองรับการเติบโตของนาโนเทคโนโลยี สถาบันผลิตนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง "ลาดกระบัง" จึงได้เปิด "วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง" ขึ้นมา โดยมองว่ากระแสนาโนจะยังเติบโตต่อไป และการศึกษาของสถาบันแห่งนี้จะเน้นการวิจัยที่อาศัยทรัพยากร ซึ่งผลิตได้ภายในประเทศ
ความเป็นมาของวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระ บังแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังนั้น รศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ อธิบการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ทางสถาบันมีความร่วมมือกับศูนย์นาโนโเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ในการสร้างผลงานวิจัย และมีอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
อีกทั้งผลงานของสถาบันบางผลงานอย่าง "แว่นตานาโน" ได้นำไปต่อยอดงานด้านนิติวิทยาศาสตร์และใช้งานอย่างจริงจัง แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไปอย่างรวดเร็ว จึงเห็นว่าการทำวิจัยร่วมอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอ
"นอกจากวิจัยร่วมแล้วคงไม่พอ โลกเปลี่ยนไปค่อนข้างเร็ว และในเมืองไทยก็มีทั้ง "นาโนแท้" และ "นาโนเทียม" จึงปรึกษาหารือกันในการสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับ โดยมีความร่วมมือกับนาโนเทคซึ่งให้การสนับสนุนในการจัดตั้งวิทยาลัยปีละ 5 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี กอปรกับทางสถาบันมีสำนักวิชานาโนเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากเปลี่ยนสถานะเป็นสถาบันในกำกับของรัฐ จึงได้โอนย้ายบุคลากร เครื่องมือ และหลักการทำงานของสำนักมาเป็นของวิทยาลัย และทางสถาบันได้ใช้งบ 20 ล้านบาทในการปรับปรุงอาคารเก่าเพื่อเป็นที่ทำการของมหาวิทยาลัย" รศ.ดร.กิตติกล่าว
ทั้งนี้วิทยาลัยนาโนฯ ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2551 โดยเปิดสอนนักศึกษาในระดับปริญญาโท-เอก เพื่อเน้นการวิจัย แต่คาดว่าปีการศึกษาหน้าจะได้เพิ่มหลักสูตรปริญญาตรีเพื่อสร้างบุคลากร รองรับการทำงานวิจัย โดยในเมืองไทยมีสถาบันเพียง 2 แห่งที่สอนนาโนเทคโนโลยีระดับปริญญาตรี คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ซึ่งกำลังจะเปิดรับนักศึกษา รศ.ดร.กิตติบอกด้วยว่าในหลักสูตรปริญญาตรีของวิทยาลัยนั้น ยังมีหลักสูตรปริญญาตรี-โท ซึ่งใช้เวลาเรียนทั้งหมด 5 ปี
ในความเห็นของอธิการบดีสถาบันพระเจ้าจอมเกล้าลาดกระบังนั้นแนวโน้มของนาโน เทคโนโลยีจะยังคงเติบโตไปได้ไกล เนื่องจากนาโนเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันและทุกวงการ แต่การศึกษาทางด้านนาโนเทคโนโลยียังน้อยอยู่ ซึ่งสิ่งที่ทางวิทยาลัยนาโนฯ พยายามทำคือเข้าไปเผยแพร่ความรู้ด้านนี้ลงสู่ครู-นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ผ่านวิทยาลัยราชภัฎ 4 แห่งใน จ.นครสวรรค์ จ.อุบลราชธานี จ.กาญจนบุรีและ จ.สุราษฎร์ธานี และได้จัดกิจกรรมประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีจากอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับผลงานเด่นๆ ของทางวิทยาลัยนาโนฯ ได้แก่ ต้นแบบอุปกรณ์ตรวจวัดสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์วัดการไหลของโปรตีนโดยใช้ไมโครชิป อุปกรณ์วัดการปนเปื้อนโลหะหนัก เซนเซอร์วัดรังสียูวี เซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางที่ร่วมพัฒนากับนาโนเทคโดยใช้วัสดุชีวภาพ พื้นบ้านอย่างหมากเม่าและกระเจี๊ยบ เป็นต้น และผลงานบางอย่างยังอยู่ในขั้นตอนขอจดสิทธิบัตรจึงไม่อาจเปิดเผยได้
เมื่อถามถึงการกระแสของนาโนเทคโนโลยีในเมืองไทยจะไปทางด้านไหนนั้น รศ.ดร.จิติ หนูแก้ว คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระะบัง ให้ความเห็นว่า สำหรับเมืองไทยแล้วนาโนอิเล็กทรอนิกส์เกิดได้ยากในเมืองไทย เนื่องจากในระดับไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในเมืองไทยนั้นมีแค่โรงงานประกอบ แต่ไม่มีการประดิษฐ์คิดค้น จึงต้องข้ามส่วนนี้ไป แต่ในส่วนที่จะเติบโตได้ในเมืองไทยคือเรื่องวัสดุนาโนซึ่งเข้าไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรม
นาโนซิงค์ออกไซด์คือตัวอย่างวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมด้านนาโนวัสดุที่ รศ.ดร.จิติชี้ให้เห็นว่าเป็นโอกาสของเมืองไทยเนื่องจากปัจจุบันมีโรงงานเอกชนที่ผลิตออกมาเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ และมีราคาถูก ซึ่งหากนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถึงกรัมละ 20,000 บาท ขณะที่ผลิตในเมืองไทยมีราคาเพียงกรัมละ 1-2 บาท
คุณสมบัติของนาโนซิงค์ออกไซด์คือป้องกันรังสียูวี ทนความร้อน ยับยั้งการเติบโตของเชื้อและมีขนาดอนุภาคเพียง 20-30 นาโนเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับนาโนซิลเวอร์แล้ว นาโนซิงค์ออกไซด์มีภาษีดีกว่าตรงที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ส่วนนาโนไททาเนียมไดออกไซ์ซึ่งใช้กันมากในวงการนาโนเทคโนโลยีนั้นยังไม่สามารถผลิตได้ในเมืองไทย
"เราเลือกที่จะยืนบนลำแข้งของคนไทยก่อน ไม่เอาของนอก" รศ.ดร.จิติกล่าวถึงจุดยืนของวิทยาลัยนาโนฯ สถาบันน้องใหม่ที่รองรับการพัฒนาบุคลากรทางด้านนาโนโลยีจากลาดกระบัง