xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-อังกฤษร่วมมือวิจัยระดับชาติ พัฒนาวิทยาศาสตร์แก้วิกฤตโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) ฯพณฯ นายควินตัน เควลย์ (H.E. Mr.Quinton Quayle) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย, ศ.จอห์น เบดดิงตัน (Prof.John Beddington), รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน และดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท. ร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ที่โรงแรมโฟร์ซีซันส์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 52
ที่ปรึกษาวิทย์ของรัฐบาลอังกฤษบินมาไทย จรดปากกาลงนามสร้างความร่วมมือกับไทย วิจัยเทคโนโลยีใหม่ แก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต เล็งวิจัย 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ นาโน, ไบโอเซ็นเซอร์, โรคอุบัติใหม่ และภาวะโลกร้อน เตรียมจัดประชุมเวิร์กช็อปครั้งแรกเดือน พ.ย. นี้ ระดมสมองนักวิจัยสองประเทศกำหนดโครงการวิจัยระยะแรก

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช., ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท., ฯพณฯ นายควินตัน เควลย์ (H.E. Mr.Quinton Quayle) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และ ศ.จอห์น เบดดิงตัน (Prof. John Beddington) ประธานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ ร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 29 ก.ย.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโฟร์ซีซันส์ ซึ่งมีสื่อมวลชน และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ร่วมงาน

ศ.เบดดิงตัน กล่าวถึงแนวทางในการร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศว่า เป็นการร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยครอบคลุม 4 เรื่องหลัก ได้แก่ โรคอุบัติใหม่, ไบโออิเล็กทรอนิกส์, นาโนเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก โดยอาจเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยของไทยและอังกฤษ และผลที่ได้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งไทยและอังกฤษ

ตัวอย่างโครงการวิจัยที่จะร่วมมือกัน เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวล เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน, เทคโนโลยีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ, การคาดการณ์การกระจายของโรคอุบัติใหม่ เพื่อหาแนวทางการป้องกันและรับมือ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเริ่มต้นทำโครงการใดก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะต้องหารือกันก่อน โดยจะจัดการประชุมเพื่อให้นักวิจัยของทั้งสองประเทศได้มาพบปะและหารือกันครั้งแรกในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อกำหนดโครงการวิจัยร่วมกัน และเป็นไปได้ว่าโครงการวิจัยแรกๆ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่, อาหาร และด้านการเกษตร เพราะทั้งสองประเทศมีความพร้อมอยู่แล้ว

เช่น แบบจำลองทำนายการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่ ซึ่งอังกฤษมีเทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว สามารถนำมาใช้เพื่อคาดการณ์ผลกระทบจากโรคอุบัติใหม่ และวางแนวทางป้องกันสำหรับประเทศไทยได้, การพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดทางชีวภาพสำหรับงานด้านการแพทย์และการเกษตร และนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร เป็นต้น

ผู้อำนวยการ สวทช. บอกอีกว่าไทยและอังกฤษมีลักษณะปัญหาที่คล้ายกัน ซึ่งอังกฤษเล็งเห็นว่านักวิจัยไทยก็มีศักยภาพ น่าจะสร้างความร่วมมือกันทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ และจากการที่รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้งสำนักงานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษในประเทศสิงคโปร์ น่าจะทำให้นักวิจัยไทยสามารถเรียนรู้และขอคำแนะนำจากนักวิจัยอังกฤษได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นครั้งแรก แม้ที่ผ่านมาจะ สวทช. เคยร่วมมือทางด้านงานวิจัยกับต่างประเทศมาแล้ว แต่เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันวิจัยเท่านั้น

สำหรับทุนสนับสนุนการวิจัยในโครงการวิจัยร่วมจะมาจากทั้งสองประเทศ ส่วนผลสำเร็จที่เกิดขึ้นก็จะเป็นเจ้าของสิทธิ์ร่วมกัน และแบ่งปันผลประโยชน์ตามความเหมาะสม โดยขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาความร่วมมือที่ชัดเจน แต่หวังให้เป็นความร่วมมือระยะยาว ซึ่งแผนงานเบื้องต้นจะมีการประชุมเพื่อประเมินผลโครงการวิจัยร่วมในทุกๆ 3 ปี เพื่อกำหนดแนวทางการวิจัยในระยะต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น