xs
xsm
sm
md
lg

เด็กสุราษฎร์ไอเดียแจ๋ว แก้ปัญหายางขึ้นราด้วย “นาโนซิงค์ออกไซด์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์กนกพร เพิ่มทรัพย์สินกับตัวอย่างแผ่นยางผสมนาโนซิงค์ออกไซด์
นักเรียนสุราษฎร์หยิบปัญหาใกล้ตัวตั้งโจทย์สร้างนวัตกรรมจากอนุภาค "นาโนซิงค์ออกไซด์" แก้ไขปัญหายางพาราขึ้นราที่ทำแผ่นยางดิบราคาตก ได้แผ่นยาง ขาวใส ไร้เชื้อรา คว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์จากวิทยาลัยนาโน ลาดกระบัง

น.ส.อรอนงค์ แซ่ฮั่น นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าทางบ้านมีอาชีพกรีดยางและได้เห็นปัญหาแผ่นยางดิบที่ได้จากการตากน้ำยาง นั้นขึ้นรา ซึ่งทำให้ยางแผ่นราคาตก และชาวสวนยางจะแก้ปัญหาโดยกรีดแผ่นยางส่วนที่ขึ้นราทิ้ง หากแผ่นยางขึ้นราเกินครึ่งแผ่นก็จะขายไม่ได้

จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ให้เธอและเพื่อนๆ ร่วมห้องอีก 3 คน ในการประดิษฐ์นวัตกรรมจากอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ ที่จัดขึ้นโดยวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งนี้คณะกรรมการกำหนดให้ผู้เข้าประกวดประดิษฐ์นวัตกรรมใช้อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อรา ทนความร้อนและป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตหรือยูวี

นักเรียนทั้ง 4 คนได้ร่วมกันผลิตน้ำยางที่ผสมอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ หลังจากได้รับการถ่ายถอดความรู้จากวิทยาลัยนาโนเกี่ยวกับคุณสมบัติของอนุภาคดังกล่าว และเลือกคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อรามาใช้ในการแก้โจทย์ปัญหาแผ่นยางดิบขึ้นรา

วิธีการคือผสมอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ลงในน้ำยางและใช้เครื่องจักรคนให้เข้า กัน และทดลองในสัดส่วน 2 กรัม 3 กรัม และ 4 กรัม ผสมเข้ากับน้ำยาง 150 มิลลิลิตร และน้ำกลั่น 100 มิลลิลิตร ซึ่งได้แผ่นยางตัวอย่างขนาด 20x20 เซนติเมตร ผลจากการผสมนาโนซิงค์ออกไซด์ลงในน้ำยาง ทำให้ได้น้ำยางสีขาว ใสแบบที่ชาวสวนยางเรียกว่า "เป็นแก้ว" และที่สำคัญไม่มีเชื้อรา

นอกจากผสมผงซิงค์ออกไซด์ในน้ำยางแล้วนักเรียนสุราษฎร์ทั้งสี่คนยังทดลองผสมน้ำผักบุ้งลงน้ำยาง ซึ่งตามภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นน้ำผักบุ้งมีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อราในแผ่นยางได้ อย่างไรก็ดี น.ส.กนกพร เพิ่มทรัพย์สิน อาจารย์ที่ปรึกษาของนักเรียนกลุ่มนี้บอกถึงปัญหาในการถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนว่า ชาวสวนยังไม่กล้าทดลองใช้นาโนซิงค์ออกไซด์เทาไหร่นัก เนื่องจากกลัวการใช้สารเคมี

ผลการตัดสินรางวัลรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันที่ 4 ก.ย.52 ที่ผ่านมา แผ่นยางที่ผสมนาโนซิงค์ออกไซด์ของทีมนักเรียนโรงเรียนกาญจนดิษฐ์นี้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวัตกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ ซึ่งนอกจากผลงานนี้แล้วยังมีนวัตกรรมอื่นๆ ที่ประยุกต์ใช้นาโนซิงค์ออกไซด์ตามข้อกำหนดของกรรมการ

อาทิ หน้ากากอนามัยเคลือบอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศนวัตกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์และรองชนะเลิศ นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ น้ำยาเช็ดกระจกจากน้ำยาปรับผ้านุ่มผสมนาโนซิงค์ออกไซด์ที่ได้รับรางวัลรอง ชนะเลิศนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และอิฐผสมอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศนวัตกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น

นายอรรถวุฒิ บริบูรณ์ ครูผู้ช่วย โรงเรียนศรีรัตนวิทยา จ.ศรีสะเกษ ผู้ประดิษฐ์นวัตกรรมหน้ากากอนามัยเคลือบอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ กล่าวกับทีมข่าว ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า แม้หน้ากากอนามัยแบบผ้าที่ทำขึ้นมานั้นจะไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้ แต่การเคลือบสารนาโนซิงค์ออกไซด์ ช่วยป้องกันเชื้อราและแบคทีเรียได้ที่หมักหมมจากความชื้นและสารคัดหลั่งของ ผู้ใช้ได้

ด้าน นางเสวย ศรีตะเขต อาจารย์โรงเรียนเกษมสีมาวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี ผู้ผลิตน้ำยาเช็ดกระจกจากน้ำยาปรับผ้านุ่มผสมอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ กล่าวว่าเคยอ่านหนังสือพบว่าเราใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มทำความสะอาดกระจกได้ จึงคิดประยุกต์ผสมอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ลงไป ซึ่งได้น้ำยาทำความสะอาดกระจกที่ช่วยกำจัดคราบได้นาน 1 สัปดาห์และมีฝุ่นเกาะน้อย

ส่วนอิฐผสมนาโนซิงค์ออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่เข้าร่วมประกวดและได้ รับรางวัลในเวทีนี้ด้วยนั้น นายศุภชาติ ศรีตะเขต อาจารย์โรงเรียนสะพือวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ได้เลือกคุณสมบัติทนความร้อนของซิงค์ออกไซด์มาใช้ปรับปรุงคุณสมบัติของอิฐ ซึ่งในท้องถิ่นมีโรงงานผลิตอิฐตามภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่ โดยเขาได้ผสมอนุภาคซิงค์ออกไซด์กับดินหมักที่ใช้ผลิตอิฐก่อนขึ้นรูปแล้วนำไป เผา พบว่าจากปกติที่ใช้เผาอิฐนาน 7 วัน ลดลงเหลือ 2 วัน ช่วยให้ประหยัดแกลบสำหรับเผาอิฐและลดต้นทุนการผลิตได้

สำหรับการประกวดนวัตกรรมจากอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์นี้ รศ.ดร.จิติ หนูแก้ว คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง กล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีลงสู่ชุมชนผ่าน ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ 4 แห่ง ใน จ.นครสวรรค์ จ.อุบลราชธานี จ.กาญจนบุรี และ จ.สุราษฎร์ธานี โดยนักวิจัยจากวิทยาลัยออกไปถ่ายทอดความรู้ให้กับคณะครูผ่านความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎ แล้วจัดให้มีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นผลงานของครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษา

ทั้งนี้เหตุผลที่กำหนดให้ผู้เข้าประกวดสร้างนวัตกรรมจากนาโนซิงค์ออกไซด์ นั้น รศ.ดร.จิติกล่าวว่า เนื่องจากมีบริษัทเอกชนในไทยที่สามารถผลิตซิงค์ออกไซด์ได้ปริมาณมากในรูปผลิตภัณฑ์พลอยได้จากอุตสาหกรรมหลักที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นการพัฒนานาโนเทคโนโลยีโดยใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ อีกทั้งยังมีต้นทุนถูก และซิงค์ออกไซด์ยังไม่เป็นอันตรายต่อคน โดยซิงค์ออกไซด์ในรูปที่คนทั่วไปรู้จักคือ "คาลามายด์"
อาจารย์กนกพร เพิ่มทรัพย์สิน และลูกศิษฐ์ผู้ประดิษฐ์แผ่นยาง (ซ้ายไปขวา) น.ส.อรอนงค์ แซ่ฮั่น และ น.ส.กรกาญจน์ ชูมี
ตัวอย่างแผ่นยางผสมนาโนซิงค์ออกไซด์ในสัดส่วน 3 กรัม ซึ่งได้แผ่นยางขาว ไม่ขึ้นราและมีลักษณะใสเป็นแก้ว
นายอรรถวุฒิ บริบูรณ์กับหน้ากากอนามัยเคลือบอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์
นางเสวย ศรีตะเขตกับน้ำยาเช็ดกรภาคนาโนะจกผสมอนุ
นายศุภชาติ ศรีตะเขตกับตัวอย่างอิฐที่ผสมนาโนซิงค์ออกไซด์ (ซ้าย) ซึ่งมีสีดำกว่า อิฐที่มีส่วนผสมปกติ (ขวา) แต่ใช้เวลาในการเผาน้อยกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น