รัฐบาลสหรัฐฯ เมินเพิ่มงบปีละ 3 พันล้านดอลลาร์ให้นาซากลับไปดวงจันทร์ทันปี 2563 หลังคณะกรรมการอวกาศแห่งทำเนียบขาวชี้งบที่เสนอไว้ไม่พอแน่ แนะนาซาให้เปลี่ยนแผนไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยแทน แล้วค่อยไปดวงจันทร์หลังจากนั้นก็ยังไม่สาย
คณะกรรมการด้านการสำรวจอวกาศแห่งทำเนียบขาว เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ก.ย.52 เกี่ยวกับรายงานการพิจารณาโครงการส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) โดยระบุว่าอาจไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือภายในปี 2563 เนื่องด้วยปัญหาทางด้านการเงิน
"ภายใต้งบประมาณที่เคยถูกเสนอไปนั้น ไม่อาจทำให้การสำรวจที่ไกลออกไปจากโลกดำเนินการได้ลุล่วง" เอ็ดวาร์ด ครอว์ลีย์ (Edward Crawley) ศาสตราจาย์ด้านวิทยาศาสตร์การบิน จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) หนึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าว กล่าวกับสำนักข่าวเอพี ซึ่งขณะนี้นาซาได้รับงบประมาณปีละ 18,000 ล้านดอลลาร์ แต่คณะกรรมการประเมินแล้วพบว่ายังขาดงบอีกราว 3,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะสามารถทำให้โครงการดังกล่าวบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประมาณไว้ว่าจะต้องใช้งบราว 100,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการนี้
ทั้งนี้ โครงการส่งนักบินอวกาศสหรัฐฯ กลับไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปี 2563 เป็นนโยบายตั้งแต่ปี 2548 สมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) เป็นประธานาธิบดี เพื่อสำรวจดวงจันทร์เพิ่มเติม และเพื่อเป็นการปูทางสู่การส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารต่อไปด้วย จนถึงกับวางแผนที่จะปลดระหว่างกระสวยอวกาศ 3 ลำ ในปีหน้า และเตรียมปลดระวางสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ในปี 2558 เพื่อที่จะทุ่มงบประมาณให้กลับโครงการส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์
ทว่าเมื่อประสบปัญหาทางด้านการเงิน ทำให้นาซาจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนการที่วางไว้ทั้งหมด โดยในรายงานได้เสนอทางเลือกให้กับประธานาธิบดีบารัค โอบามา (President Barack Obama) พิจารณาทางเลือกสำหรับนาซาด้วย
คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยนักบริหาร นักวิทยาศาสตร์ และอดีตนักบินอวกาศ ที่มีนอร์แมน ออกัสติน (Norman Augustine) ผู้บริหาร บริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin Corporation) เป็นประธานคณะกรรมการ พิจารณาและเห็นว่า การส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารคือเป้าหมายสูงสุดก็จริง แต่การเลือกไปสำรวจดวงจันทร์ก่อนไปดาวอังคารเป็นแค่เพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น และไม่ได้ดีไปกว่าทางเลือกอื่นมากนัก พร้อมทั้งได้เสนอทางเลือก โดยคณะกรรมการระบุว่าเป็น "แนวทางที่ยืดหยุด" (flexible path)
แทนที่จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ ก็เปลี่ยนมาเป็นสนับสนุนโครงการสำรวจวัตถุใกล้โลก เช่น ดาวเคราะห์น้อย หรือสำรวจดวงจันทร์บริวารของดาวอังคาร เป็นต้น แล้วจากนั้นจึงค่อยไปสำรวจดวงจันทร์ต่อไปหลังจากโครงการสำรวจอื่นๆ เสร็จสิ้นแล้วก็ได้
"ยังมีวัตถุที่อยู่ใกล้โลกอีกมากมายที่รอให้มนุษย์ไปสำรวจ และความจริงแล้วการไปสำรวจดวงจันทร์เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากกว่าการไปสำรวจวัตถุใกล้โลกอื่นๆ" ครอว์ลีย์ เผย
คณะกรรมการยังระบุอีกว่า เป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลยที่บุชวางแผนจะปลดระวางสถานีอวกาศในปี 2558 หลังจากที่ใช้เวลาก่อสร้างร่วม 25 ปี และใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพเพียงแค่ 5 ปี ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าควรจะขยายเวลาสถานีอวกาศออกไปให้มากกว่านี้อีก และหากปลดระวางกระสวยอวกาศ 3 ลำ ในปีหน้า ก็ต้องใช้เวลาอีก 6-7 ปี กว่าที่สหรัฐฯ จะมียานอวกาศลำใหม่เป็นของตัวเอง โดยช่วงระหว่างนั้นก็จะต้องพึ่งพายานโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซียไปก่อน
ทั้งนี้ คณะกรรมการเสนอให้นาซาสนับสนุนบริษัทเอกชนในการพัฒนายานอวกาศสำหรับขนส่งลูกเรือของนาซา ซึ่งแม้อาจจะดูเสี่ยงกว่าก็จริง แต่ก็ช่วยให้นาซาทำงานสำรวจอวกาศได้อย่างเสรี รวมถึงแนะให้นาซาสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมกับสหรัฐฯ ในโครงการสำรวจอวกาศต่างๆ ด้วย และยังสรุปความเห็นคร่าวๆ ของประธานาธิบดีโอบามาว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยังไม่สนับสนุนเงินเพิ่มให้กับโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ เพราะฉะนั้นนาซาจะไม่ได้ไปดวงจันทร์ในทศวรรศหน้าแน่ และอาจให้งบกับโครงการอื่นๆมากกว่า
นอกจากนี้คณะกรรมการยังชี้ด้วยว่า หากนาซายังต้องการที่จะผลักดันโครงการนี้ต่อไป เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ อาจต้องล้มแผนสร้างจรวดแอเรส วัน (Ares I) ที่ใช้สำหรับนักบินอวกาศ และต้องไปพึ่งพาจรวดแอเรส ไฟว์ (Ares V) ที่ไว้สำหรับขนส่งอุปกรณ์และมีขนาดใหญ่กว่าแทน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นาซาใช้จ่ายเงินในโครงการสำรวจดวงจันทร์ไปแล้วประมาณ 7,700 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างจรวด แอเรส วัน โดยมีกำหนดทดสอบจรวดท่อนแรกต้นเดือน ก.ย. และจะทดสอบยิงจรวดทั้งระบบปลายเดือน ต.ค. นี้