นักดาราศาสตร์มีวิธีใหม่ ใช้วัดขนาดอุกกาบาตได้แม่นยำขึ้น ด้วยกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกแค่ 2 ตัว โดยเพิ่มความคมชัดให้กล้องโทรทรรศน์เหมือนมีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับระยะห่างของกล้อง 2 ตัว ระบุวัดขนาดอุกกาบาตขนาด 15 ก.ม. ในระยะ 200 ล้าน ก.ม.ได้ เริ่มต้นศึกษา "บาร์บารา" ดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อย เพื่อดูว่าเป็นวัตถุรูปถั่ว หรือวัตถุ 2 อันโคจรรอบกัน
การบันทึกภาพโดยตรงด้วยเทคนิคอะแดปทีฟออพติกส์ (adaptive optics) ผ่านอุปกรณ์ที่ปรับปรุงให้มองเห็นด้วยตา จากกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สุดบนภาคพื้นดิน อย่างกล้องโทรทรรศน์เวรีลาร์จเทเลสโคปหรือวีแอลที (Very Large Telescope: VLT) ซึ่งตั้งอยู่ในหอดูดาวที่ประเทศชิลี และกล้องโทรทรรศน์อวกาศหรือการวัดด้วยเรดาร์นั้น เป็นวิธีที่นิยมมากในการวัดขนาดของอุกกาบาต
อย่างไรก็ตาม การบันทึกภาพโดยตรง หรือแม้แต่การปรับความคมชัดของภาพด้วยระบบอะแดปทีฟออพติกส์ ก็ยังมีข้อจำกัดต่อการวัดอุกกาบาตขนาด 1 ใน 100 ของอุกกาบาตขนาดใหญ่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อย ขณะที่การวัดด้วยระบบเรดาร์นั้น จำกัดวงอยู่ที่การสำรวจอุกกาบาตที่เข้ามาใกล้โลกแล้วเท่านั้น
ล่าสุดไซน์เดลีรายงานว่า มาร์โค เดลโบ (Marco Delbo) จากหอดูดาวในแคว้นโกต์ ดาซูร์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส พร้อมด้วยคณะได้เสนอวิธีใหม่ ซึ่งสามารถวัดขนาดของอุกกาบาตในแถบวงแหวนดาวเคราะห์น้อย ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กประมาณ 15 กิโลเมตรและอยู่ห่างออกไปในระยะ 200 ล้านกิโลเมตรได้ ซึ่งเทียบเท่ากับการวัดขนาดลูกเทนนิสในระยะ 1,000 กิโลเมตร
วิธีใหม่นี้ ไม่ได้ช่วยเพิ่มการตรวจหาวัตถุแปลกปลอมในอวกาศได้มากขึ้น แต่มีความสำคัญในแง่ที่ว่า อุกกาบาตขนาดเล็กมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างไปจากอุกกาบาตขนาดเล็กมาก
"ความรู้เกี่ยวกับขนาดและรูปร่างของอุกกาบาต มีความสำคัญยิ่ง ต่อการทำความเข้าใจว่าในช่วงต้นๆ ของระบบสุริยะเรานั้น ฝุ่นและก้อนหินรวมตัวกันแล้ว กลายเป็นวัตถุขนาดใหญ่ได้อย่างไร และการชนกันกับการรวมกันใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร" เดลโบผู้นำการศึกษาครั้งนี้กล่าว
เทคนิคของเดลโบได้รวมแสงจากกล้องโทรทรรศน์ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป และนักดาราศาสตร์หลายคนก็ได้พิสูจน์วิธีของเขา โดยใช้กล้องดูดาววีแอลที 1 (VLTI) ของหอดูดาวซีกฟ้าใต้แห่งยุโรป (European Southern Observatory: ESO) โดยรวมแสงจากกล้องดูดาวขนาด 8.2 เมตร 2 ตัว ซึ่งเซบาสเตียโน ลิโกริ (Sebastiano Ligori) ผู้ร่วมวิจัยจากสถาบันอินาฟ-โตริโน (INAF-Torino) อิตาลี อธิบายว่า วิธีดังกล่าวช่วยให้ได้ภาพที่คมชัด เหมือนกล้องโทรทรรศน์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับระยะห่างของกล้อง 2 ตัว ซึ่งในกรณีมีความห่าง 47 เมตร
ทีมวิจัยได้ประยุกต์ใช้วิธีนี้ สังเกตดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่บาร์บารา (Barbara) ซึ่งพบได้ง่ายกว่าการใช้วิธีตามปกติ แม้ว่าจะอยู่ไกลมากแต่การสังเกตด้วยกล้องวีแอลที 1 ก็เผยให้เห็นว่าวัตถุดังกล่าวมีรูปร่างที่แปลกเฉพาะตัว ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ทดลองแบบจำลองวิธีดังกล่าวด้วยวัตถุที่มีขนาดพอๆ กับเมืองใหญ่ 2 เมือง ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 37 และ 21 กิโลเมตร และอยู่ห่างกัน 24 กิโลเมตร ซึ่งให้ผลว่าวัตถุทั้งสองอยู่เลื่อมกัน
จากผลการทดลองดังกล่าวเดลโบคาดว่า อุกกาบาตบาร์บาราอาจมีรูปร่างคล้ายถั่วลิสงขนาดยักษ์ หรือเป็นไปได้ว่าอาจเป็นวัตถุ 2 อันโคจรรอบกันอยู่ หากบาร์บาราเป็นอุกกาบาต 2 ลูกที่โคจรรอบกันก็จะมีนัยสำคัญยิ่ง โดยรวมการวัดเส้นผ่านศูนย์กลางกับตัวแปรของวงโคจร นักดาราศาสตร์จะสามารถคำนวณความหนาแน่นของเทหวัตถุเหล่านั้นได้ เมื่อทดสอบความเที่ยงตรงของเทคนิคใหม่ใหม่แล้ว ตอนนี้ทีมวิจัยก็สามารถเริ่มงานใหญ่ในการศึกษาอุกกาบาตขนาดเล็กได้.