xs
xsm
sm
md
lg

"เซติ" ระบุพบกลุ่มดาวเคราะห์ใกล้โลก คล้ายระบบสุริยะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากยูเอสเอทูเดย์จำลองระบบสุริยะอื่น วาดโดย ทิม ไพล์ (Tim Pyle)
นักดาราศาสตร์เชื่อว่าพวกเขาได้พบหลักฐานของระบบสุริยะอื่นรอบๆ ดาวฤกษ์ ซึ่งอยู่ไกลจากโลกเพียง 10.5 ปีแสงหรือแค่ 100 ล้านล้านกิโลเมตรเท่านั้น และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และยังบอกด้วยว่าน่าจะมีดาวเคราะห์อย่างน้อย 3 ดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์ที่ต้องสงสัย

ทีมนักดาราศาสตร์ที่นำโดยนักดาราศาสตร์จากสถาบันเซติ (SETI) ในเมาน์เทนวิว มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมิรกา เชื่อว่า เอพซิลอน เอริดานิ (Epsilon Eridani) ดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลจากโลก 10.5 ปีแสง หรือประมาณ 100 ล้านล้านกิโลเมตร คือระบบสุริยะอื่นที่อยู่ใกล้โลกจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และมีดาวเคราะห์อย่างน้อย 3 ดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงนี้

ดาวฤกษ์ต้องสงสัยมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ของเราและเย็นกว่า หากมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ดาวดวงนี้จะอยู่ในกลุ่มดาวแม่น้ำ ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษตรงกับชื่อแม่น้ำในตำนาน "อิริดานุส" (Eridanus) ที่อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ทางซีกฟ้าเหนือ และหนังสือพิมพ์แมคแคลทชี (McClatchy) ซึ่งรายงานนี้ยังระบุด้วยว่า เอพซิลอน เอรดานิ นี้อายุน้อยกว่าดวงอาทิตย์ซึ่งมีอายุถึง 4.5 พันล้านปี ขณะที่ดาวฤกษ์ที่เยาว์กว่าอายุเพียง 850 ล้านปี

"ระบบนี้เหมือนระบบสุริยะของเราเมื่อเยาว์วัยกว่านี้ 5 เท่า มันเหมือนเครื่องย้อนเวลาสำหรับระบบสุริยะของเรา" แมสซิโม มาเรนโก (Massimo Marengo) หนึ่งในทีมผู้ค้นพบดาวฤกษ์ดวงนี้กล่าว โดยเขาเป็นนักดาราศาสตร์ประจำที่ศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาวาร์ด-สมิทโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐฯ

"ระบบสุริยะนี้อาจจะดูคล้ายเมื่อครั้งที่สิ่งมีชีวิตแรกหยั่งรากลงบนโลก" ดานา แบคแมน (Dana Backman) จากสถาบันเซติกล่าว ทั้งนี้เขาเป็นผู้นำทีมศึกษาเรื่องนี้ และได้รายงานสิ่งที่ค้นพบลงในวารสารแอสโทรฟิสิคัล (Astrophysical)

ทั้งนี้เซติเลือกดาวเอพซิลอน เอริดานิเป็นหนึ่งในเป้าหมายแรกที่จะค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงปัญญานอกโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เดินทางมายาวนาน แต่กัลบดูไร้ประโยชน์จนถึงเดี๋ยวนี้ นับแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2503

อย่างไรก็ดีดาวเคราะห์ที่คาดว่าโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงนี้ ก็อยู่ไกลเกินกว่าจะตรวจพบได้โดยตรง และดาวเคราะห์ในระบบก็อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์มาก ดังนั้นจึงต้องอาศัยวิธีวัดโดยอ้อม อย่างไรก็ดีนักดาราสาสตร์บางคนคิดว่า พวกเขาอาจจะมองเห็นดาวเคราะห์เหล่านั้นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีคุณสมบัติดีขึ้นในทศวรรษหน้า

หนึ่งในกลุ่มดาวเคราะห์นี้คือดาวเคราะห์ก๊าซ "ไจแอนท์ 1" (giant 1) ซึ่งหนักกว่าดาวพฤหัสบดีของเราหลายเท่า โดยดาวเคราะห์ดวงนี้ได้รับการค้นพบเมื่อปี 2543 โดย บาร์บารา แมคอาร์เทอร์ (Barbara McArthur) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) ในออสติน สหรัฐฯ โดยเธอได้วัดการส่ายของตำแหน่งดวงดาวแทนการแกว่งของดาวเคราะห์ที่อยู่รอบๆ และก็มีสังเกตการณ์ทางท้องฟ้าที่สนับสนุนการค้นพบของเธอเมื่อปี 2549 โดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope)

ตอนนี้ทีมของแบคแมนได้ข้อสรุปว่า มีดาวเคราะห์อยู่มากกว่า โดยมีหลักฐานสนับสนุนจากกล้องโทรทรรศน์ทั้งที่อยู่บนโลกและที่อยู่ในอวกาศซึ่งทำงานแยกกัน และเผยให้เห็นแถบดาวเคราะห์น้อยและวงแหวนน้ำแข็งที่หมุนรอบดาวเอพซิลอน เอริดานิ ซึ่งแถบดาวเคราะห์น้อยอยู่ห่างจากดาวฤกษ์นี้ประมาณ 450 ล้านกิโลเมตร และเป็นระยะทางเดียวกับแถบดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะของเราที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี และมีแถบวงแหวนที่ 2 ซึ่งมีระยะห่างพอๆ กับดาวยูเรนัส

อีกแถบวงแหวนซึ่งเป็นแถบที่ 3 ของระบบนี้ มีความกว้างและอยู่ไกลออกไปหลายพันล้านกิโลเมตรจากดาวเอพซิลอน เอริดานิ ซึ่งคล้ายคลึงกับแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ของกลุ่มดาวเคราะห์แคระที่อยู่ถัดออกไปจากดาวพลูโต

เมื่อปี 2547 อลิซ คิลเลน (Alice Quillen) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ (University of Rochester) ในนิวยอร์กสเตท สหรัฐฯ ได้เสนอรายงานว่า กลุ่มก้อนของวัตถุในวงแหวนรอบนอกอาจเป็นตัวชี้ว่ามีดาวเคราะห์ขนาดเท่าดาวเสาร์ในวงโคจรที่คล้ายของดาวพลูโต แต่การค้นพบของเธอก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน หากแต่เธอได้ระบุไว้ในอี-เมลว่า "ฉันยังเชื่อว่ามีดาวเคราะห์ขนาดเท่า(ดาวเสาร์) นี้อยู่ที่ (วงแหวน) นั่น"

จากการค้นพบของมาเรนโก ช่องว่างระหว่างแถบวงแหวนถูกสร้างขึ้นเมื่อกลุ่มฝุ่นและก้อนหินรวมกันกลายดาวเคราะห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆ กับระบบสรุยะของเรา โดยเขาได้เชื่อมโยงกระบวนการก่อตัวของวงแหวนดาวเสาร์ ซึ่งแยกตัวออกโดยดวงจันทร์บริวารเล็กๆ

"หนทางง่ายที่สุดในการอธิบายเรื่องช่องว่างก็คือ มีดาวเคราะห์อยู่ที่นั่น ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับวงแหวนของดาวเสาร์คงความเสถียรไว้โดยดวงจันทร์ของดาวเสาร์เอง ผมคิดว่าวงแหวนเหล่านี้อาจกำลังบอกเราว่า ระบบเคลียร์พื้นที่อย่างไรหลังจากดาวเคราะห์ก่อตัวแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างน่าตื่นเต้นที่จับภาพระบบซึ่งอยู่ใกล้ๆ ในระยะนี้ได้" คิลเลนกล่าว

ด้านมาเรนโกเพิ่มความน่าจะเป็นว่า ดาวเคระาห์ซึ่งดูคล้ายโลกนี้อาจมีอยู่ระหว่างช่องว่างของดาวเอพซิลอน เอริดานิ และวงแหวนด้านใน และบอกด้วยว่า วงแหวนด้านในนั้นชัดเจนเหมือนในระบบสุริยะของเรา และอาจมีดาวเคราะห์คล้ายโลกอยู่ในนั้น แต่เรายังไม่สามารถตรวจจับได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น