นักดาราศาสตร์สหรัฐฯ เผยกาแลกซีเรา อาจเต็มไปด้วยดาวเคราะห์คล้ายโลก โคจรอยู่รอบๆ ดาวฤกษ์ ในทางช้างเผือกในระยะ 10-30 ปีแสงจากดวงอาทิตย์ และคาดจะได้พบดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลก หลังนาซาส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจรต้น มี.ค.นี้
"มีดาวที่คล้ายดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเราอยู่ 20-30 ดวง ในระยะ 30 ปีแสงจากดวงอาทิตย์ของเรา ผมคิดว่าเป็นจำนวนที่ใช้ได้ เป็นไปได้ว่าครึ่งหนึ่งของดาวเหล่านั้น จะมีดาวเคราะห์คล้ายโลกอยู่ ดังนั้นผมคิดว่ามีโอกาสดีมากๆ ที่เราจะค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลก ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ออกไป 10 20 หรือ 30 ปีแสง"
เอเอฟพีระบุคำพูดของ อลัน บอสส์ (Alan Boss) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกี (Carnegie Institution for Science) สหรัฐฯ ซึ่งเปิดเผยเรื่องดังกล่าว ระหว่างการประชุมประจำปีเมื่อสัปดาห์ก่อน ของสมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์ (American Association for the Advancement of Science: AASS)
ทั้งนี้ 1 ปีแสง เท่ากับระยะทางที่แสงเดินทางใน 1 ปี ด้วยความเร็ววินาทีละ 300,000 กิโลเมตร โดยบอสส์ยังมั่นใจด้วยว่า ดาวเคราะห์ที่มีขนาดพอๆ กับโลกนั้น จะได้รับการค้นพบ โดยกล้องโทรทัศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler space telescope) ซึ่งองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) มีแผนที่จะส่งขึ้นไปในวันที่ 5 มี.ค.นี้ หรือกล้องโทรทัศน์ที่ติดตั้งบนดาวเทียมโครอท (COROT) ของฝรั่งเศสและยุโรป ซึ่งส่งขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่ปี 2549 อาจค้นพบดาวเคราะห์ดังกล่าว
"ผมจะแปลกใจมาก ถ้าเคปเลอร์หรือโครอทไม่พบดาวเคราะห์คล้ายโลกเลย เพราะเบื้องต้นเราได้พบดาวเหล่านั้นแล้ว" บอสส์ตอบภายในงานแถลงข่าว หลังถูกตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงมีความเชื่อมั่นอย่างมาก
อีกทั้ง เอเอฟพีระบุด้วยว่า ดาวเทียมโครอทได้ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่อยู่ไกลโพ้น ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้รายงานเรื่องดังกล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ และด้วยขนาดที่เล็กกว่าโลกเกิน 2 เท่า ดาวเคราะห์ดังกล่าวจึงอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ในระบบมาก อีกทั้งยังร้อนอย่างมากด้วย
บอสส์กล่าวอีกว่า กล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ และดาวเทียมโครอทจะค้นพบดาวคล้ายโลกจำนวนมาก ซึ่งเป็นการบอกเราว่า จะเดินหน้าและสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศอันใหม่ต่อไปอย่างไร เพื่อที่จะได้ไปและสำรวจดาวเคราะห์เหล่านั้น หลังจากที่เรารู้ว่า ดาวเคราะห์เหล่านั้นอยู่ที่นั่น
นอกจากนี้ภาพถ่ายของดาว จะช่วยจำแนกลักษณะชั้นบรรยากาศและบอกเราได้ว่าชั้นบรรยากาศของดาวมีก๊าซมีเทนและออกซิเจนหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นว่าดาวเหล่านั้นไม่เพียงแค่เอื้อต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตอาศัยด้วย
"ผมกำลังพูดถึงดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาอยู่ ผมกล่าวทั่วๆ ไปว่า หากคุณมีโลกที่ดำรงชีวิตอยู่ได้...อยู่ที่นั่น ด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม ด้วยน้ำที่เพียงพอมาเป็นพันล้านปี ต้องมีบางอย่างออกมาจากสภาพแวดล้อมอย่างนั้นบ้าง อย่างน้อยเราก็จะได้พบจุลินทรีย์บ้างแหละ" บอสส์ให้ความเห็น
ส่วนบีบีซีนิวส์รายงานว่า จนถึงทุกวันนี้กล้องโทรทรรศน์ได้ตรวจพบดาวเคราะห์กว่า 300 ดวงนอกระบบสุริยะของเรา แต่มีไม่กี่ดวงที่จะเอื้อต่อการการดำรงชีวิตได้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นดาวก๊าซขนาดใหญ่เช่นเดียวกับดาวพฤหัส และอีกจำนวนมากที่โคจรเข้าใกล้ดาวฤกษ์ของตัวเองมากเกิดซึ่งจุลินทรีย์บนดาวดวงนั้นต้องดำรงชีวิตอยู่บนอุณหภูมิที่ย่างให้สุกนี้ได้
อย่างไรก็ดี บนพื้นฐานของดาวเคราะห์ที่พบจนถึงทุกวันนี้ บอสส์ประมาณว่าดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ทุกๆ 1 ดวงจะมีดาวเคราะห์คล้ายโลกโดยเฉลี่ยระบบละ 1 ดวง ซึ่งการคำนวณแบบคร่าวๆ นี้ทำให้เราได้จำนวนดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตจำนวนมาก.